วิกฤต COVID ที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายได้และกำไรหายไปค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยรายได้ลดลงอยู่ที่ 14% และกำไรสุทธิหายไปมากถึง 54% ยิ่งโรงพยาบาลไหนพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือเป็น Medical Tourism ในสัดส่วนที่สูงก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก
ทำให้ทั้งปี 2563 ทั้งปี กลุ่มโรงพยาบาลต้องพึ่งพาคนในประเทศ การรับตรวจ COVID หรือเปลี่ยนมาเป็นศูนย์กักตัว เพื่อพยายามหารายได้พิเศษ รวมถึงเจาะกลุ่มคนไข้เน้นเงินสด ประกันสังคม ข้าราชการเพื่อประคับประคองรายได้กันต่อไป
แล้วปี 2564 เป็นอย่างไรบ้าง เราลองมาดูกันสักหน่อยครับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกันว่า ในปี 2564 วิกฤต COVID อยู่ในระดับที่คุมได้และไม่รุนแรงเท่าปี 2563 ถ้าเป็นไปตามนั้นจริงจะทำให้กลุ่มโรงพยาบาลฟื้นตัวและเติบโตได้มากถึง 15-20%
... แต่เน้นย้ำว่าภายใต้สมมุติฐาน 3 ข้อคือ
1. โรค COVID ไม่ระบาดซ้ำ 3
2. ภาครัฐสามารถทยอยผ่อนปรนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น
3. เหตุการณ์ทางการเมืองไม่รุนแรง
ถึงแม้จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี แต่บทวิจัยมองว่า นักลงทุนควรระมัดระวังต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้กำไรสะดุดรออยู่ข้างหน้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ
1. โรงพยาบาลระดับบน เน้นต่างชาติ และ Medical Tourism อาจจะยังฟื้นตัวได้ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับกลุ่มระดับกลาง-ล่าง นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อย และการแข่งขันกันที่รุนแรงระหว่างโรงพยาบาลกันเอง
2. โรงพยาบาลที่พึ่งพาคนไทยเป็นหลัก กลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้ดี จะเติบโตในแง่ของรายได้และกำไร แต่ปัจจัยที่น่ากังวล คือ โรงพยาบาลที่เน้นต่างชาติจะหันมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดคนไข้ในประเทศมากขึ้น การแข่งขันทางด้านราคา และการบริการ
อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ คือ กำลังซื้อของคนในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนัก จำนวนคนตกงานยังสูง ทำให้การเจาะตลาดคนไทยด้วยกันมีความลำบากด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันคนไทยมีตัวเลือกค่อนข้างมาก เช่น โรงพยาบาลของภาครัฐ สิทธิ์บัตรทอง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คลีนิคแถวบ้าน หรือแม้แต่การหาซื้อยามารับประทานเอง ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้นในปี 2564
ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าประกันสังคม จะได้ผลประโยชน์จากจุดนี้ ....
ศูนย์วิจัยกสิกรมองว่าผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่มีการปรับกลยุทธ์ทางธูรกิจ หาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ ผลิตน้ำยาหรือชุดตรวจโรค ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุ เครื่องมือทางการแพทย์ หรือแม้แต่ผลิตอาหารสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องดูแลโภชนาการ จะเป็นปัจจัยบวกมากยิ่งขึ้นต่อผลประกอบการ
นี้ก็เป็นมุมมองสำหรับนักลงทุนที่จะมองข้ามไม่ได้เลย ใครที่สนใจกลุ่มโรงพยาบาลต้องกลับไปทำการบ้านเพิ่มเติมซะแล้วครับ
-----------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย