กลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้งสำหรับ COVID-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้งโดยมีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อในย่านนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 600 รายแล้ว และยังพบการแพร่กระจายเชื้อไปยังจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัดด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลใจ เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การติดเชื้อในวงกว้าง ส่งผลให้ภาครัฐต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่อีกรอบ ซึ่งประเด็นนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน (Double-dip recession) หากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามผลกระทบเบื้องต้นประเมินว่า จะส่งผลใน 2 ด้านหลัก คือ
1. การเดินทางภายในประเทศและความเชื่อมั่น ซึ่งถือเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจช่วงปลายปี
และ 2. กำลังซื้อในประเทศที่แผ่วลง เพราะนอกจากคนจะระมัดระวังเรื่องการเดินทางแล้ว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงกลุ่มธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก อาจได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตามในภาพรวมประเมินว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงแค่ระยะสั้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นกับความสามารถของภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคด้วย
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นรอบใหม่ถือว่าน่ากังวล เพราะเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุด อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งได้เช่นกัน
"ปกติแล้วช่วงไตรมาสแรกของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้มีสัดส่วนต่อจีดีพีทั้งปีสูงถึง 27% ถือเป็นไซด์ที่ใหญ่กว่าไตรมาสอื่นๆ หากต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะหายไปมาก ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้าอย่างแน่นอน ตอนนี้วิจัยกรุงศรีประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าไว้ที่ 3.3% เรายังไม่ขอปรับ อยากรอดูสถานการณ์ก่อน"
สมประวิณ กล่าวด้วยว่า ถ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ในส่วนของภาคต่างประเทศเราพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ในประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนไทย
ดังนั้นถ้าต้องล็อกดาวน์และทำให้การท่องเที่ยวของคนไทยหายไปอีก อาจกระทบต่อจีดีพีที่หายไปด้วยราวๆ 0.5% และถ้าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก กระทบต่อการทำงาน หรือมีการเลิกจ้างงานเพิ่ม จีดีพีก็อาจจะหายไปได้อีกราว 1.5% ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกลับไปล็อกดาวน์ใหม่หรือไม่
"เรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดูแล้วน่ากังวลใจ เราเห็นตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ที่เริ่มแพร่กระจาย และหลังจากนี้ตัวเลขคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจอาจจะเผชิญกับภาวะถดถอยใหม่ ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาว ดังนั้นสิ่งสำคัญสุดในเวลานี้ คือนโยบายด้านสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจ ต้องจัดการกับปัญหานี้ให้เร็ว"
กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย นักวิเคราะห์จะมีมุมมองอย่างไรบ้าง ... ?
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยเช้านี้น่าจะเปิดปรับตัวลดลงตามแรงขายแบบตื่นตระหนก (panic) และมีโอกาสที่ดัชนีจะร่วงลงราว 1-2% หลังพบการระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ โดยวานนี้พบผู้ติดเชื้อวันเดียวมากกว่า 500 ราย ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับจากการระบาดครั้งแรก โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ซึ่งอาจจะกระทบต่อหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และกระทบต่อมายังเศรษฐกิจของประเทศลำดับต่อไป
สำหรับหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ได้แก่ ท่องเที่ยว, สายการบิน, ศูนย์การค้า, ค้าปลีก, กลุ่มบริการอย่างโรงภาพยนตร์, ขนส่งอย่างรถไฟฟ้า, สื่อโฆษณา, อสังหาริมทรัพย์, นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนอุตสาหกรรมหลักที่อยู่ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร อย่าง CPF , TU ,ASIAN เป็นต้น รวมถึงกลุ่มแบงก์ที่จะได้รับผลกระทบต่อจากภาคธุรกิจด้วย
นอกจากนี้การที่ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นราว 300 จุด ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ก็อาจทำให้เผชิญแรงขายทำกำไรออกมา หลังเมื่อวันศุกร์ก็มีแรงขายของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติออกมาค่อนข้างมาก ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า และเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจจะยังขายได้ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันบรรยากาศการลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่เผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากสภาคองเกรสสหรัฐบรรลุข้อตกลงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลล์ตามที่คาดแล้ว โดยตลาดหุ้นเอเชีย ส่วนใหญ่ปรับลดลง และดาวโจนส์ฟิวเจอร์สที่ดีดตัวขึ้นได้ก่อนหน้านี้ก็เริ่มอ่อนแรงลง
นายกิติชาญ มองว่าตลาดหุ้นไทยคงจะปรับตัวลดลงรับ Sentiment เชิงลบดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากประเทศที่เคยกลับมาระบาดรอบใหม่ อย่างเวียดนาม ออสเตรเลีย เกาหลี ดัชนีหุ้นก็ปรับลดลงเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะกลับมายืนได้ ขณะที่อาจจะยังมีแรงซื้อของกลุ่มกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เข้ามาในช่วงปลายปีด้วย ตลอดจนยังมีหุ้นที่น่าจะยังได้ประโยชน์จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ อย่าง MEGA , STGT , กลุ่มประกัน เป็นต้น
-----------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
สำนักข่าวอินโฟเควสท์