หลังจากที่ตลาดหุ้นไทย ผ่านความผันผวนสุดโต่งมาช่วงไตรมาส 1-2 ปี 2563 เปิดปีที่เกือบ 1600 จุด ... ปรับตัวลงต่ำสุด 969 จุด ที่ปลายเดือนมีนาคม ... เด้งคืนฟื้นแรงมา 1450 จุด ที่ต้นเดือนมิถุนายน... และซึมลงต่อเนื่องไปอีก 5 เดือน เหลือ 1190 จุด ที่สิ้นเดือนตุลาคม
แล้วจากต้นเดือนพฤศจิกายน จนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นแรง มาทดสอบที่บริเวณ 1480-1500 จุด เป็นการบวกเพิ่มรวดเดียว 300 จุด คิดเป็น +25% ในเวลาเพียงเดือนกว่า
ถึงแม้กำหนดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดยังไม่ชัดเจน การเปลี่ยนผ่านปธน.อเมริกาและการอัดฉีดสภาพคล่องรอบใหม่ยังไม่ชัดเจน แต่หลังจากนี้ถ้าทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ก็ "อาจจะ" ทำให้ตลาดหุ้นเป็นช่วงขาขึ้นได้อีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ปีนี้ Laggard (ตามหลัง) ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ค่อนข้างมาก
คำถามใหญ่ คือเราจะมีกลยุทธ์หรือวิธีเลือกหุ้นในช่วงตลาดขาขึ้นอย่างไร? ลอง 4 วิธีนี้ดูครับ
1. การเติบโตหรือการฟื้นตัว ต้องสมเหตุสมผล
เนื่องจากหุ้นใหญ่หลายตัว ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้านี้ หุ้นหลายตัวเคยมีความคุ้มค่าในการลงทุนมาก ที่เรียกว่า Undervalued (ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง) ซึ่งดูจากการวัดหลายๆแบบเช่น P/E หรือ P/BV เป็นต้น แต่เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง และเร็วมาก ตามธีมฟื้นตัวแล้ว แต่ราคาจะไปต่ออีกได้หรือไม่ อยู่ที่ความสามารถในการทำกำไร และแผนการเติบโตในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยธีมการเติบโต ถ้าหุ้นเป้าหมายที่เราลงทุนมีธีมการเติบโตอยู่ด้วย นั่นคือสุดยอด ลงทุนต่อเนื่องข้ามปีได้
2. ประเมินความเหมาะสมของค่า P/E เทียบกับ การเติบโตของกำไร (Earning Growth)
หุ้นที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาเร็ว ค่า P/E ที่บ่งบอกว่าหุ้นถูกหรือแพงจึงถูกปรับขึ้นมาในระดับสูงไปด้วย ทำให้ความสามารถในการปรับเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตมีอยู่จำกัด ราคาของหุ้นที่เพิ่งปรับขึ้นเร็วและแรง กระทั่ง P/E สูงเกินความสามารถในการทำกำไรในอนาคต มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดลง(Correction) ในอนาคต ดังนั้น การเลือกหุ้นที่มีค่า P/E เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับ โอกาสการเติบโตของกำไร จึงมีความสำคัญ เราอาจจะตรวจสอบโดยคำนวณค่าอัตราส่วน PEG โดยนำค่า P/E ของกิจการ มาหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรในอนาคตที่ประเมินไว้ ค่า PEG ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 0.5 เท่า -1.5เท่า เช่น หุ้น A ค่า P/E 20 เท่า หากเราต้องการลงทุนเป้าหมาย 1 ปี โดยมีความเชื่อว่ากำไรจะเติบโตจากฐานต่ำของปีนี้ที่ 25% ดังนั้น PEG = 20/25 = 0.8 แสดงว่าหุ้น A ลงทุนได้ เป็นต้น
3. ลงทุนตาม Theme
ผมคิดว่า ธีมการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับตลาดหุ้นไทยในปลายปี 2563 คือ Recovery Theme หรือธีมการฟื้นตัว ยังคงมีหุ้นอีกจำนวนมากที่ราคายังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID อย่างมีนัยสำคัญ หุ้นเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะกลับมาได้หลังจากที่ COVID ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต้อไปแล้ว
4. ลงทุนหุ้น Laggard ตามหลังตลาด
นักลงทุนบางท่านอาจจะมองว่าตลาดหุ้นไทย เหลือ อัพไซด์ จำกัดแล้ว เศรษฐกิจดูไม่ดี คนแก่ตัว ไร้เทคโนโลยี ฯลฯ อาจหลีกเลี่ยงหุ้นที่ขึ้นมากกว่าตลาดในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยสวิทช์มาสลับสู่หุ้น(หรือกลุ่มหุ้น)ที่ยัง Laggard ตลาด เป็นหุ้นในกลุ่มที่ตอบสนองต่อการปรับตัวขึ้นของ SET ช้ากว่า เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น มีประเด็นค้างคา (overhang) ไม่ใช่กลุ่มหลักที่แรงซื้อต่างชาติเข้าในไม้แรก เป็นต้น ทำให้หุ้น Laggard ราคายังถูก เมื่อเทียบกับดัชนีหรือหุ้นในกลุ่มอื่น และมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะสะสมพลังเพื่อวิ่งตามดัชนีหรือกลุ่มได้ในอนาคต เมื่อมีการย้ายกลุ่มเล่น (sector rotation)
ทั้งนี้ นักลงทุนต้องมั่นใจว่าหุ้น Laggard ที่เราเลือก มีพื้นฐานดีพอ มีสภาพคล่อง และยังมีเรื่องราวการฟื้นตัว/เรื่องราวการเติบโด ที่ดีพอ
ไม่ใช่หุ้นพื้นฐานแย่ ไร้สภาพคล่อง ราคาลดลง แถมเคลื่อนไหวช้า เพราะกิจการพื้นฐานไม่ดี ถ้าเป็นแบบนี้เราไม่ควรเข้าไปยุ่ง ไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นขาลง หรือขาขึ้นครับ