อีกหนึ่งหุ้นน้องใหม่ขนาดเล็กที่กำลังจะเข้าตลาด เป็นร้านค้าปลีกภูธรจากจังหวัดสงขลา ภาคใต้ ดูแล้วคล้ายคลึงกับ TNP (ธนพิริยะ) ที่อยู่เชียงราย ภาคเหนือ เรื่องราวของ KK จะน่าสนใจแค่ไหน วิตามินหุ้นจะพาไปรู้จักกันครับ
1. สงขลา ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ เติบโตไม่มาก
GDP ของประเทศไทยมูลค่าประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท มาจากจังหวังสงขลา 1.5% หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท ขนาดของเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 27 ของประเทศ ลำดับที่ 3 ของภาคใต้
การเติบโตทางเศรษฐกิจปีที่แล้ว 2% ปีก่อนหน้า 3.4% และปีนี้จากผลกระทบของ COVID คาดว่า -10.4%
ตัวเลขเหล่านี้บอกเราว่า เศรษฐกิจสงขลาโตช้ากว่าภาพรวมของทั้งประเทศ แต่หากเมื่อใดที่ราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือการท่องเที่ยว มีแนวโน้มดีขึ้น ก็อาจช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้
2. จากพ่อค้าเร่ ตลาดนัด สู่ K&K Superstore
จุดเริ่มต้นจากรุ่นคุณพ่อ “เว้ง แซ่โกว่” และคุณแม่ “เฮียง แซ่ซึ้ง” มีลูก 12 คน ชาย 7 หญิง 5 เป็นพ่อค้าขายของในตลาดนัด เก็บหอมรอมริบก่อนขยับขยายมาเปิดร้าน 1 ห้องแถว พัฒนามาเป็นค้าส่ง ในเขต 3 จังหวัด สงขลา สตูล พัทลุง มีรัศมีโดยรอบ 100 กิโลเมตร
พอเข้าสู่รุ่นลูก มองว่าค้าส่งโตช้า เลยปรับมาเป็นร้านค้าปลีกแบบ supermarket แต่ขายสินค้าในราคาที่ถูก และชื่อ K&K ก็มาจากชื่อของรุ่นลูก คือ คุณกิตติพล และคุณกวิศพงษ์
3. ซื้อของครบ พบของถูก ถูกทุกวัน ที่ K&K
ร้านค้าขนาดประมาณ 420 ตารางเมตร เป็นล้กษณะเหมือน supermarket เน้นของใช้ประจำบ้านทั่วไป มีสินค้า 8,000 รายการ ขายราคาถูก และมีสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่น หรือสินค้าหายากขายประมาณ 10% เพื่อสร้างความแตกต่าง เช่น ครีมกวนอิม แป้งน้ำ ครีมแต่งผม
สโลแกนประจำร้าน คือ ซื้อของครบ พบของถูก ถูกทุกวัน ที่ K&K
ถ้าให้เห็นภาพร้านค้าก็จะคล้ายๆ TNP หรือ Tesco Lotus Express ที่ลูกค้ามองว่าเป็นเหมือน Supermarket ใกล้บ้าน มาซื้อของครั้งนึงหลายอย่าง ยอดต่อบิลเลยสูงประมาณ 220 บาท ต่างจาก 7-11 ที่เข้าไปซื้อของกิน เข้าบ่อยหน่อย ไม่ได้ห่วงเรื่องราคามากนัก (ยอดต่อบิลของ 7-11 ประมาณ 70 บาท)
4. 28 สาขา ครอบคลุม 3 จังหวัด
K&K มี 25 สาขาที่สงขลา (17 แห่ง อยู่ที่หาดใหญ่) 2 สาขาที่พัทลุง และ 1 สาขาที่สตูล (มีแผนจะไปตรังในอนาคต)
โดย 83% เป็นค้าปลีก และ 17% เป็นค้าส่ง
ต้นทุนการสร้างต่อสาขาอยู่ที่ 8-10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่า ใช้เงินตัวเอง 80% กู้ธนาคาร 20%
ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4 ปี คิดง่ายๆ ว่าถ้าทำยอดขายได้ 3 ล้านบาท คือ จุดคุ้มทุน มากกว่านี้เป็นกำไร
5. รายได้ไม่ค่อยโต กำไรลดลง
>> ปี 2560 รายได้ 929 ล้านบาท กำไรสุทธิ 17.9 ล้านบาท
>> ปี 2561 รายได้ 939 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.3 ล้านบาท
>> ปี 2562 รายได้ 929 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11.5 ล้านบาท
>> ครึ่งปีแรก 2562 รายได้ 452 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8.2 ล้านบาท
>> ครึ่งปีแรก 2563 รายได้ 482 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.8 ล้านบาท
รายได้ 3 ปีย้อนหลังดูแทบไม่โตเลย ราคายางพารากับน้ำมันปาล์มมีผลต่อกำลังซื้อ ปี 2562 ร้านค้าปลีกอื่นไปติดเครื่องรับบัตรสวัสดิการกันเยอะ ดึงลูกค้าไปด้วย ส่วนปี 2563 กลับมาโตดี เพราะ COVID คนตุนสินค้ากันเยอะ
6. SSSG บวกปี ลบปี สลับกันไป
>> ปี 2560 -10.5% >> ราคายางและปาล์มตก
>> ปี 2561 +4.6% >> รัฐแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการ
>> ปี 2562 -5.9% >> ร้านค้าปลีกร้านอื่นติดเครื่องรับบัตรสวัสดิการเพิ่ม
>> 1H ปี 2563 +4% >> โตเพราะ COVID
7. ได้ประโยชน์มาตรการภาครัฐ แต่ไม่ทั้งหมด
ถ้าดูจากในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า การที่รัฐแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการเป็นรายเดือน 200-300 บาท KK ได้ประโยชน์จริง แต่พอร้านอื่นๆ ติดเครื่องรูดบัตรบ้างก็มีการดึงลูกค้าไปเช่นกัน แต่รอบล่าสุดที่กำลังจะมีการให้เงินเพิ่มในบัตร 500 บาท 3 เดือนก็น่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ก็คงต้องมีการทำโปรโมชั่นเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามา KK มากกว่าร้านโชว์ห่วยใกล้บ้าน
8. อัตราการทำกำไรไม่สูง
GPM ปี 2562 เท่ากับ 12.2% และ NPM 1.2%
ต่ำกว่า TNP ที่ GPM 15% และ NPM 4.5%
คือ ด้วยการที่ business model ของ ร้านค้าปลีกจะเน้นโวลุ่ม และจับมาร์จิ้นที่ไม่สูง แต่ด้วยความที่ KK ยังสเกลเล็ก ยอดขายไม่ถึงพันล้านบาท บวกกับมีส่วนลด และมีภาระดอกเบี้ยทำให้ กำไรสุทธิค่อนข้างต่ำ แปลว่า ถ้าอยากโตมากกว่านี้ก็ต้องขยายสาขาให้ได้มากขึ้น หาสินค้ามาร์จิ้นสูงกว่านี้ และเอาเงินไปคืนหนี้ลดภาระดอกเบี้ย
9. เข้าตลาดได้เงินไม่มาก ประมาณ 60 ล้านบาท ขยายกิจการและคืนหนี้
>> 34 ล้านบาท คืนหนี้เงินกู้ ถ้าเราดู D/E ประมาณ 2.6 เท่า เป็นหนี้เงินกู้เยอะ ต่างจาก TNP ที่มี D/E 0.23 เท่า และเป็นเจ้าหนี้การค้ามากกว่า
>> 24 ล้านบาท ขยายสาขา วางแผนไว้ 3 แห่ง ที่สงขลา 2 แห่ง และไปตรังอีก 1 แห่ง
10. IPO 0.88 บาท 69 ล้านหุ้น
จำนวนหุ้นค่อนข้างน้อย 69 ล้านหุ้น เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะเป็น 230 ล้านหุ้น และราคาขายแค่ 0.88 บาท ถ้าคิด P/E จาก EPS 4 ไตรมาสย้อนหลังจะได้ 20 เท่า เทียบกับ TNP ที่ 22.1 เท่า
และนี่ก็คือ เรื่องราวของ KK จากตลาดนัดสู่ร้านค้าปลีก 28 สาขา ใครสนใจลองทำการบ้านเพิ่มเติมกันดูครับ วิตามินหุ้นเพียงให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนลงทุนทุกครั้ง