เราเคยสงสัยมากว่า
... หุ้นตัวหนึ่งราคาแพงมาก ถึงแม้บริษัทจะยังไม่เคยทำกำไร ยังไม่เคยจ่ายปันผล พึ่งเข้าตลาดได้ไม่นาน แต่ทำไมนักลงทุนถึงให้มูลค่าสูงมาก
... ทำไมแชร์ลูกโซ่ แบบเดิมๆแค่เปลี่ยนชื่อใหม่ ยังมีคนหลงกล ยังมีคนถูกหลอก
ถามว่าคนที่ถูกหลอก หรือซื้ออะไรก็ตามที่แพงๆ พวกเขารู้ตัวหรือไม่ ว่าถูกหลอก ว่ากำลังซื้อของแพง
คำตอบ คือ "รู้" แต่ก็อยากเสี่ยงที่จะทำ
จากหนังสือ A Random Walk Down Wall Street หรือ "เดินสุ่มในวอลสตรีท" กล่าวไว้ว่า มนุษย์เราชอบที่จะสร้างวิมานในอากาศ คือฝันเฟื่อง หรือจินตนาการให้ดีเกินจริง ชอบอะไรง่ายๆแต่คาดหวังผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่
สอดคล้องกับระบบคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่อธิบายไว้ว่า นักลงทุนมืออาชีพไม่ชอบประเมินมูลค่าของสินทรัพย์เพราะมันยากและซับซ้อน แต่ชอบที่จะมองอารมณ์ของตลาดมากกว่า และถ้าเราคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น มีวิธีเดียวคือ
"ชิงลงมือก่อน" หรือเห็นก่อน ซื้อก่อน นั้นเอง ...
การซื้ออะไรก็ตามในราคา 1 เหรียญ โดยตลาดตีมูลค่า ณ ขณะนั้น คือ 1 เหรียญ ถ้าสักวันหนึ่ง มีใครเดินมาบอกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน คือ 5 เหรียญ มวลชนจะแห่กันเข้าซื้อทันที เมื่อมันถึง 5 เหรียญจริงๆ คนก็จะบอกอีกว่า มันอาจจะไป 7 เหรียญ หรือ 10 เหรียญ ได้ไม่ช้าก็เร็ว เพราะราคามันขึ้น ทุกๆคนก็พร้อมจะเชื่อกันหมด
ในตลาดหุ้นเช่นเดียวกัน ทุกคนเชื่อว่าพวกเขามีความสามารถพิเศษที่จะซื้อของสิ่งนี้ เพื่อไปขายที่ราคาแพงกว่า
... และคนที่ยอมซื้อราคาแพงๆ ก็เข้าตามระบบทฤษฏีที่เรียกว่า "ทฤษฏีที่มีคนโง่มากกว่า"
หมายความว่า ถ้าเราซื้ออะไรสักอย่างหนึ่ง และคาดหวังว่าจะมีคน(โง่) ซักคน มาซื้อสิ่งนั้นต่อจากเราด้วยราคาที่สูงกว่า
ระบบของแชร์ลูกโซ่ก็เป็นแบบนี้ ...
เมื่อมีคนหนึ่งลงทุนแล้วได้เงินเร็วและเยอะ ก็จะทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อ และพร้อมจะใส่เงินลงไป โดยคาดหวังว่า
"ฉันจะออก และเก็บกำไรกลับบ้าน ก่อนที่แชร์จะล้ม"
แต่สุดท้ายโต๊ะแชร์ก็ปิด และเก็บกำไรชิงหนีไปซะก่อนที่คนจะได้เงินคืน
นี้ก็ถือว่าเข้าระบบความคิด "ทฤษฏีที่มีคนโง่มากกว่า"
ช่วงระหว่างจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ "ทะเลใต้" หรือ South Sea Bubble ที่มักจะอ้างชื่อของเซอร์ไอแซค นิวตัน ที่พลาดพลั้งจากวิกฤตครั้งนี้
... ถามว่าคนที่เข้าไปซื้อใบหุ้น เขารู้หรือไม่ว่าราคาที่พวกเขาซื้อนั้นมันไม่สมเหตุสมผล
คำตอบ คือ รู้
... แต่ก็คาดหวังว่าจะมีใครสักคนยอมซื้อต่อจากเขาในราคาที่แพงกว่า
นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ A Random Walk Down Wall Street แชร์สาระสำคัญจากสิ่งที่ได้อ่านครับ