#แนวคิดด้านการลงทุน

เปิดตำราเจ้ามือหุ้น (ตอนที่ 2)

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
268 views

ซื้อหุ้นคืน ใครได้..ใครเสีย?

 

ต้องบอกก่อนเลยนะครับว่า ไม่ใช่ทุกกรณีของการซื้อหุ้นคืนเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย ในหลายๆกรณีการซื้อหุ้นคืนเพราะราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่าราคาพื้นฐานที่มันควรจะเป็น ถือเป็นการซื้อหุ้นคืนที่ดี (ตามที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดไว้เสมอๆ) 

 

แต่ในบทความนี้เราจะพูดถึงเฉพาะกรณีของการซื้อหุ้นคืนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการ “พยุงราคาหุ้น” โดยที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ประโยชน์ แต่ความเสียหายเกิดขึ้นกับบริษัท ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้รับความเดือดร้อนก็หนีไม่พ้นผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้นเอง

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เรามาดูตัวอย่างสมมุติกันดีกว่า

 

  • บริษัท XYZ ทำธุรกิจผลิตและติดตั้งโครงเหล็กให้กับโรงงานอุตสาหกรรม แต่เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงงานต่างก็ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ลูกค้าหดหายไปเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดเริ่มมีบริษัทคู่แข่งรายใหม่ที่มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจถูกกว่ามาก ทำให้บริษัท XYZ สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง และเริ่มประสบกับภาวะขาดทุนเรื้อรัง

 

  • หลังจากที่กลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่แอบนั่งโต๊ะกลมคุยกันแล้ว มีข้อมูลที่ค่อนข้างชี้ชัดเจนว่า อนาคตดูมืดมนเหลือเกิน คงยากที่บริษัทจะกลับมามีผลประกอบการทำกำไร และช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมาได้

 

  • กลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงประกาศ “ซื้อหุ้นคืน” โดยสร้างสตอรี่ว่าบริษัทกำลังจะมีพาร์ทเนอร์จากต่างชาติเข้ามาร่วมทุน แล้วจะสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ได้อีก 

 

  • นักลงทุนรายย่อย เมื่อได้ยินข่าวนี้ต่างก็ดีใจ เริ่มไล่ราคาหุ้น เพราะเชื่อว่าบริษัทจะสามารถพลิกฟื้นผลประกอบการได้ แถมบริษัทยังดูมั่นใจประกาศ “ซื้อหุ้นคืน” อีก ราคาจึงน่าจะพุ่งแน่ๆ เลยซื้อหุ้นดักเอาไว้ซะเลย

 

  • บริษัทประกาศจะซื้อหุ้นคืนทั้งหมด 10,000,000 หุ้น ที่ราคาซื้อคืนเฉลี่ยที่ประมาณ 10 บาท รวมมูลค่า 100 ล้านบาท  จากมูลค่าตลาดปัจจุบันของบริษัท (market cap) ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท  

 

 

สมมุติว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และกลุ่มผู้บริหาร รู้ดีอยู่แก่ใจว่าราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็นอยู่ที่ประมาณ 5 บาทเท่านั้น  ดังนั้นการที่บริษัทจะซื้อคืนหุ้นคืน 100 ล้านบาท ตัวบริษัทจะขาดทุนจากการซื้อหุ้นคืนทั้งนี้ถึงประมาณ 50 ล้านบาท!

 

ถึงตอนนี้ บางคนอาจจะแย้งว่า ..อ้าว.. ในเมื่อบริษัทโดยรวมขาดทุน ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ต้องโดนเหมือนกันซิ จะมาทุบหม้อข้าวตัวเองเพื่ออะไร?

 

แต่มาดูกันลึกๆครับ ว่าใครได้ ใครเสีย?

 

 

ก่อนที่บริษัทจะประกาศซื้อหุ้นคืน กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่มีหุ้นรวมอยู่ประมาณ 14 % แต่ปรากฏว่าหลังจากที่บริษัทซื้อหุ้นคืนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เปิดสมุดผู้ถือหุ้นออกมา กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เหลือหุ้นอยู่เพียงแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นหมายความว่าขณะที่บริษัท “ซื้อ” หุ้นคืน กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลับทยอย “ขาย” สวนเนียนๆออกมา

 

เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ รู้ว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมันเพียงแค่ 5 บาทเท่านั้น!

 

ดังนั้น ส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดนผลกระทบ (net worth) จากการที่บริษัทขาดทุนเพราะซื้อหุ้นคืน คือ -50,000,000 (บริษัทขาดทุนจากการซื้อหุ้นคืนในราคาแพง)  x  10% (ส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เหลือ) = -5,000,000 บาท

 

แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เงินสดจากการ “ขายหุ้น” สวนออกมาที่ 10 บาท = 4% (ที่ขายสวนออกมา) x 1,000,000,000 บาท (market cap) = 40,000,000 บาท!

 

จะเห็นว่าการซื้อหุ้นคืนเพื่อพยุงราคาหุ้นในครั้งนี้ สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วสุดแสนจะคุ้ม  ในขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือต้องรับเคราะห์ เพราะบริษัทโดยรวมต้องอุ้มรับซื้อหุ้นที่ราคาสูงเกินพื้นฐาน

 

 

สรุป

 

แล้วรายย่อยอย่างพวกเรา จะเอาตัวรอดจากบริษัทแบบนี้ได้อย่างไร?

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงไม่ง่ายต่อการตรวจสอบ หรือกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป แต่ก็พอมีวิธีสังเกต

 

1. ดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น:

หากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นกันคนละนิดคนละหน่อย  ไม่มีใครถือก้อนใหญ่ๆเกิน 15-20% เมื่อใดก็ตามที่มีการประกาศซื้อหุ้นคืนเป็นจำนวนมาก ขอให้ใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษ เพราะหากราคาซื้อหุ้นคืนสูงเกินพื้นฐาน อาจเป็นโอกาสให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือโอกาสโยนภาระขาดทุนจากการพยุงราคาหุ้นให้กับรายย่อยได้

 

 

2. ต้องศึกษาให้ดีว่าราคาที่บริษัทซื้อหุ้นคืน เป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่: 

ข้อนี้แม้จะประเมินเองยากอยู่ แต่รายย่อยสามารถที่จะค้นคว้าหาข้อมูลจากบทวิเคราะห์ที่ผ่านๆมาได้  รวมถึงประเมินด้วยว่าผู้บริหารจะสามารถทำได้จริงที่ออกมาโฆษณาหรือไม่  การประเมินราคาให้เป็นจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

 

ย้ำอีกครั้งว่า การซื้อหุ้นคืนไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่การซื้อเพื่อ "พยุงราคาหุ้น" เป็นสิ่งที่พวกเรารายย่อยต้องหลบให้พ้นครับ

 

ติดตาม “เปิดตำราเจ้ามือหุ้น” ตอนต่อไป "ปล่อยยาพิษหนีโดนเทค เม่าหรือจะรอด?"

(ทาง LINE@stock2morrow จะได้อ่านก่อนใน Facebook  ครับ)

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง