#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

”หุ้นสนามบิน AOT” ถึงงบขาดทุน แต่ยังมีอนาคต

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
103 views

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้นสนามบิน AOT นี่คือหุ้นดี 1 ประเภท 1 ที่โดนวิกฤตโควิดเล่นงานอย่างหนัก สนามบินที่เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ถึงกับโล่งวังเวงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผลประกอบการไตรมาสล่าสุด(เมษายน-มิถุนายน 2563) ที่เพิ่งรายงานผลออกมาปรากฏว่าขาดทุนนะครับ 

 

ฟังครั้งแรกนักลงทุนอาจจะตกใจว่าหุ้นชั้นดีผูกขาดตลอดกาลแบบนี้ สะกดคำว่าขาดทุนเป็นได้อย่างไร แต่ถ้าวิเคราะห์ดูจะพบว่าการขาดทุนไตรมาสล่าสุดนั้นไม่แปลก  เรามาลองไล่เรียงความเป็น AOT จากพื้นฐาน ถึงงบไตรมาสขาดทุนกันครับ 

 

  • AOT จัดเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ ที่มีรัฐเป็นเจ้าของในระดับสูงมาก คือ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 70% (สูงกว่าปตท. ที่กระทรวงการคลัง ถือ 51.11%) บริหารสนามบิน 6 แห่งคือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต และหาดใหญ่ นี่คือสนามบินที่ดีทั้งในเชิงการค้าพาณิชย์ และการท่องเที่ยวเดินทาง

 

  • แม้ประเทศไทยจะยังมีสนามบินของกรมท่าอากาศยานอีกหลายแห่ง (ขอนแก่น อุดร พิษณุโลก ฯลฯ), และของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (สมุย สุโขทัย ตราด) แต่ความจริงของไทย คือ สนามบินสุวรรณภูมิกับดอนเมืองนี่แหละที่เป็นประตูบ้านประตูเมือง เชื่อมการเดินทางทั้งใน และต่างประเทศ เป็นหัวใจหลักสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ AOT 

  • AOT ทำธุรกิจที่จัดว่าผูกขาด มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างสูงสุด เพราะปัจจุบันไม่มีคู่แข่ง สนามบินไม่มีทับซ้อนกับกรมท่าอากาศยาน แถมยังอิงภาคธุรกิจที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมากมายมหาศาล อย่าง ภาคท่องเที่ยว ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนไทย ทำได้ดีที่สุดอย่างนึง เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั่วโลก

  • ก่อนโควิด...อุปสรรคของ AOT ก็คือ ตัวเอง เพราะสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ขึ้นชื่อเลื่องลือด้านความแออัด ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอตามอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวนักเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติ กระทั่งเป็นที่มาของโครงการขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารของทั้งสองสนามบิน 

  • หลังโควิด...อันนี้กลายเป็นหนังคนละม้วน ด้วยการแพร่ระบาดของโรค การปิดการเดินทางทางอากาศ การปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไตรมาส 1 กิจการโดนกระทบในเดือนมีนาคม และ ไตรมาส 2 โดนกระทบเกือบเต็มไตรมาส สนามบินทั่วโลกแทบร้างไปทุกแห่ง รวมทั้ง 6 สนามบินของ AOT ด้วย

  • แรงกดดันยังมีเรื่องลูกหนี้และผู้เช่าที่ธุรกิจกำลังเข้าเนื้ออีก นี่ จากความกังวลสองเรื่อง
    • อาจมีความเสี่ยงต้องตั้งสำรอง กรณีการบินไทย ขอเจรจายกเลิกหนี้หรือลดหนี้ อย่าลืมว่า การบินไทยเป็นลูกหนี้การค้าของ AOT ด้วย กิจการของการบินไทย Cargo และ Ground Service ทำในพื้นที่บริหารของ AOT
    • อาจมีความเสี่ยงต้องเยียวยาผู้รับสัมปทานในพื้นที่สนามบิน ทั้ง Duty Free, แบงค์ ร้านอาหาร Shop และอีกสารพัดธุรกิจในสนามบิน ข่าวการยกหนี้ /ลดหนี้/ เยียวยาผู้เช่า .... อาจจะถูกต้องดูดี มีมนุษยธรรมกับคู่ค้า ... แต่ไม่ถูกใจผู้ถือหุ้นแน่นอน นี่จะเป็น Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในครึ่งปีหลัง

  • ในเชิงงบการเงิน กิจการแบบAOT เป็นกิจการที่ใช้สินทรัพย์ในการหารายได้ สินทรัพย์มีขนาดใหญ่มาก มีค่าใช้จ่ายประจำหลายรายการ ประกาศผลประกอบการขาดทุนไปเกือบ 3,000 ล้านบาทในไตรมาสล่าสุด สาเหตุมาจากการปิดสนามบินและการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าในสนามบิน 

1) รายได้จากการบิน 212 ล้านบาท (ลดลง -98% YoY) ลดลงจากสายการบิน -89% และลดลงจากจำนวนผู้โดยสาร -96% YoY 

 

2) รายได้กิจกรรมเชิงพาณิชย์ 1,100 ล้านบาท ลดลง -84% YoY หลักๆมาจากรายได้สัมปทานที่ลดลงตามปริมาณทราฟฟิกเข้าออกที่ลดลง  

 

3) ค่าใช้จ่ายหลักที่ลดลง ได้แก่ ค่าเช่าที่ราชพัสดุ ค่าผลประโยชน์พนักงาน และค่าจ้างพนักงาน outsourcing ซึ่ง AOT จ้างมาเป็นจำนวนมาก ถ้าเราเดินเข้าไปใช้บริการสนามบิน จะเห็นว่ามีพนักงานเอาท์ซอสอยู่ในเส้นทางบริการอยู่ตลอดทาง ในขณะที่ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายยังคงเดิม

 

  • แม้จำนวนผู้โดยสารในประเทศจะทยอยเพิ่มขึ้นรายเดือน แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนแหล่งรายได้หลักจากผู้โดยสารต่างประเทศที่ลดลงกว่า 99% จากนโยบายการปิดประเทศ การคาดการณ์เชิงบวกของนักลงทุนในครึ่งปีหลัง คือ การเดินทางในประเทศที่จะฟื้นกลับมา และพัฒนาการวัคซีนที่ชัดเจนขึ้นในปลายปี 2563 นี้  

 

สุดท้าย ผลประกอบการของ AOT คงต้องรอให้โลกก้าวข้ามผ่านวิกฤติโควิด-19 อย่างเดียว จึงจะกลับมาทำกำไรดูดีได้อีกครั้ง ปัญหาคือมันจะยังอีกนานไหม??? และ นักลงทุนจะทนพิษบาดแผลไหวไหม ???

 

เราไม่รู้หรอกว่า AOT จะลงต่อหรือพอแค่นี้ แต่หุ้นชื่อชั้นดี 1 ประเภท 1 แบบนี้เหมาะแก่การติดตามดู และอยู่ใน watch list ของนักลงทุนอย่างแน่นอน


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง