#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

ความมั่นใจนักลงทุนไทยในครึ่งปีหลัง 63

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
94 views

นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตอนนี้มีความคาดหวังกับข่าวสารที่มีผลต่อตลาดหุ้น อยู่ 3 ประการ คือ

  1. การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศหลังการเปิดเมือง (Reopening Economy) 
  2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ (Stimulus Package)
  3. การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow)

 

แต่ว่าช่วงนี้ หันไปทางไหน ก็เจอนักลงทุนที่กำลังหวั่นใจ กับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ในไตรมาส 2 ที่จะออกมาดูมีรสชาติ (ไม่จืด) และการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ที่ยังไม่มีแววจะไหลกลับมาตลาดหุ้นไทย และไหนจะเรื่อง

 

นโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) 

ความกังวลกับการระบาดรอบสองของโควิด 19 

ข่าวทางการแพทย์ที่ชี้ว่าวัคซีนโควิด อาจต้องใช้เวลานาน และไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต

 

สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนในหุ้นลงในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยว และภาคส่งออกอย่างมาก ตอนนี้สองเครื่องยนต์นี้ทำงานได้ไม่เต็มที่เลย

 

ส่วนตัวผมเอง ที่เป็นนักลงทุนระยะยาว เลือกที่จะผ่านช่วงเวลาที่ความมั่นใจในการลงทุนตกต่ำ ด้วยการ ปรับพอร์ตให้มีความ Defensive มากยิ่งขึ้น เน้นหุ้นประเภท ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ทางด่วนรถไฟฟ้า และ อาหารให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่ากลุ่มนี้มีความ Defensive ทนทานต่อภาวะวิกฤต แม้ว่าจะลง แต่ฟื้นได้เร็ว อีกทั้งผลประกอบการมีความชัวร์กว่า และสามารถจ่ายปันผลได้ดีกว่าการฝากแบงค์มาก 

 

สำหรับนักลงทุนที่ยังมีความไม่มั่นใจในการลงทุนระยะยาว ผมคิดว่าลองตามข่าวการเซ็นสัญญาเมกะโปรเจ็คต์เมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง BA BTS และ STEC) เสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้บริหารสนามบิน มีบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วน 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 35% และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 20% เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระยะเวลา 50 ปี โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสูงถึง 305,555 ล้านบาท 

 

โดยแบ่งโครงการเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี แล้วเสร็จประมาณปี .. 2567 ระยะที่ 2 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 30 ล้านคนต่อปี ในปี .. 2573 ระยะที่ 3 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี ในปี .. 2585 และระยะที่รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี ในปี .. 2598 

 

ทางกลุ่มเมืองการบินอู่ตะเภามั่นใจว่า แม้มีการมองว่าเป็นการลงทุนเม็ดเงินมหาศาล แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการให้เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบ อีกทั้งโครงการนี้ไม่ใช่แค่สนามบินเท่านั้น แต่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น เมืองการบินและ Free Trade Zone เป็นโครงการขนาดใหญ่ สร้างมูลค่าให้โครงการได้มาก

 

ผมมีความเห็นว่า ความมั่นใจในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาวของกลุ่มธุรกิจเมืองการบินอู่ตะเภานี้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไทยในระยะยาวได้ เพราะโครงการระดับนี้ต้องมาจากสมมติฐานว่า วิกฤตโควิตจะหายไป การท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศจะต้องกลับมา และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องสำเร็จ หาไม่แล้ว โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาคงไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้คุ้มทุนได้

 

และแน่นอนว่า มุมมองระยะยาวของหุ้นสนามบิน หุ้นท่องเที่ยว และหุ้นที่อิงการเติบโตของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังคงมีมุมมองที่ดีในระยะยาว

 

หลังโควิดหุ้นเหล่านี้ควรจะต้องฟื้นตัวได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ นั่นคือคำถามใหญ่ของนักลงทุน


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง