ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการติดตามราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก ที่มีการซื้อขายกันในแต่ละวัน พบว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทย มักมีการเคลื่อนไหวจากปัจจัยหลัก 2 ประการ
1. Fundamental ปัจจัยพื้นฐาน
-> งบการเงินรายไตรมาส.. ถ้างบการเงินเติบโต รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม งบดุลแข็งแกร่ง นั่นคือการยืนยันการเติบโตของราคาหุ้นได้แบบมีข้อมูลเชิงปริมาณสนับสนุน
-> ข่าวสารการเติบโตของกิจการ ..ข่าวการได้โครงการใหม่ ข่าวการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ข่าวการควบรวมกิจการ ข่าวขยายสาขา ข่าวชนะประมูล ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการประชุมนักวิคราะห์ ที่ผู้บริหารจะมีการให้ Guidance ประเมินภาพเป้าหมายอนาคต เช่น จะมีลูกค้าเติบโต double digit, มีเป้าหมาย EBITDA เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันราคาหุ้นได้ทั้งสิ้น
-> ความนิยม ของหุ้นใน sector ...ในบางรอบการลงทุน ความนิยมของนักลงทุนกองทุน หรือต่างชาติ ในหุ้นบาง sector สามารถผลักดันราคาหุ้นทั้งกลุ่มได้อย่างไม่น่าเชื่อ นักลงทุนรุ่นเก๋าอาจจะจำได้ว่า “หุ้นโรงไฟฟ้า” ในอดีตคือหุ้น Defensive กินปันผล ราคาไม่หวือหวา แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าถูกนำมาเทรดอย่างร้อนแรง และขึ้นเกือบทั้งกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหน้าใหม่อย่าง GULF, BGRIM, GPSC หรือ หุ้นหน้าเก่าอย่าง EGCO RATCH กระทั่งหลายตัวมี PE Ratio ที่สูงลิบ หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่เวลาขึ้นก็ขึ้นทั้งกลุ่ม สลับตัวเล่นกันในกลุ่ม กระทั่งกลายสภาพเป็นหุ้นเติบโตที่เพิ่งลดความร้อนแรงลงหลังจากเกิดโควิดนี่เอง
2. Fund Flow
จากแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ (กองทุน) โดยเฉพาะการปรับพอร์ตของดัชนีหลักอย่าง MSCI AC Asia Pacific Index หรือแนวโน้มการเข้าเก็บหุ้น หรือลดพอร์ต ของกองทุนในประเทศ เป็นปัจจัยที่กระทบต่อราคาหุ้นใหญ่ใน SET50 มาก
ด้วยสองปัจจัยหลักดังกล่าว ถ้าใครประเมินข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกทาง หรือมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลได้ก่อน ก็สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบกับราคาหุ้นได้ในทิศทางไหน ก็อาจจะสามารถเทรดหุ้นทำกำไรได้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งรูปแบบการลงทุนนี้ไม่ใช่การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment แต่เรียกได้ว่าเป็นการเก็งกำไรด้วยปัจจัยพื้นฐานระยะสั้น
ช่วงปีนี้ เรายังอยู่ในวิกฤตโควิด19 ซึ่งความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจมหภาค (Macro-Economic) มีความเสี่ยงสูง ทั้งการค้าขายระหว่างประเทศที่ลดลง การปิดเมือง ปิดการบินระหว่างประเทศทำให้การบริโภคในประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งปัญหาการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับไม่ได้ลงรุนแรงในระดับติดลบ 30-50% แต่ได้ฟื้นกลับขึ้นมามากพอควร ตลาดหุ้นจีนและอเมริกา สามารถปรับตัวขึ้นเหนือกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้วด้วยซ้ำ
หันกลับมามองที่ตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นลดลงต่ำสุดในช่วงโควิดเดือนมีนาคมที่ 979 จุด ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 13XX จุด ผมคิดว่านับจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้นไทยได้มากในระยะสั้น-กลาง นอกจากปัจจัยเรื่อง Fundamental และ Fundflow แล้ว ยังมีเพิ่มขึ้นมาอีกหลายตัว เช่น
-> การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ต่ำอยู่แล้ว ให้ต่ำลงไปอีก
-> นโยบาย QE ผ่อนคลายเชิงปริมาณ ที่มีผลโดยตรงต่อสภาพคล่องในระบบ
-> อัตราผู้ติดเชื้อที่จะถึงจุด Peak
-> ความเป็นไปได้ในการ lockdown เมือง รอบสอง
-> ความคืบหน้าวัคซีนโควิด
การประเมินราคาหุ้นในระยะสั้นน้อยกว่า 6 เดือน กำลังยากขึ้นๆ เหมือนการถอดสมการหลายตัวแปร โดยเฉพาะเรื่อง ผู้ติดเชื้อโควิด การปิดเมือง และความคืบหน้าวัคซีน ปัจจัยเหล่านี้คาดการณ์แทบไม่ได้
ถ้าแย่ลง ... ก็อาจจะแย่ลงได้มากกว่าคาด
ถ้าดีขึ้น... ก็อาจดีขึ้นมากกว่าคิด