1. ท่องเที่ยว คือ ธุรกิจที่ยังเติบโต
หนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ มีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต ผมเชื่อว่าคือ “ธุรกิจท่องเที่ยว” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผู้คนต้องการจะทำในทุกช่วงวันหยุด จำนวนทริปต่อปีจะมีมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้นในระยะยาว ธุรกิจที่ได้ประโยชน์และนักลงทุนสนใจกันมาก เช่น สนามบิน ห้าง โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น
2. ฐานธุรกิจมั่นคงและมีเป้าหมายเติบโตชัดเจน
หนึ่งในหุ้นท่องเที่ยว ที่นักลงทุนไทยรู้จักกันดี คือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(MINT) ความน่าสนใจคือ เป็นบริษัทที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคง กระจายไปทั่วโลก ผ่านร้อนผ่านหนาวและสารพัดวิกฤต พิสูจน์ตนเองมาอย่างยาวนาน มีเป้าหมายในการเติบโตระดับสูงให้ได้ทุกปี และยังมีกลยุทธ์การเติบโตที่เป็นไปได้และเคยทำได้จริง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ไม่ง่ายเลยในตลาดหุ้นไทย
3. อาณาจักรธุรกิจ
ธุรกิจที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคย และเป็นผู้นำในตลาดหลากหลายแบรนด์ มี 3 กิจการหลัก คือ
-> ธุรกิจโรงแรม อย่าง อนันตรา, อวานี,โอ๊คส์, เอ็นเอชโฮเทล
-> ธุรกิจร้านอาหาร เช่น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ไอศกรีมสเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, ไก่บอนชอน, ไอศกรีมแดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, ไทยเอกซ์เพรส, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, เบรดทอล์ค ฯลฯ
-> ธุรกิจไลฟ์สไตล์แฟชั่น เช่น กระเป๋า อเนลโล่, บอสสินี่, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เป็นต้น
4. ขยายสู่ต่างประเทศ
มีการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ทั้งโรงแรมและร้านอาหาร เช่น การลงทุน เอ็นเอชโฮเทลกรุ๊ป ในทวีปยุโรป การลงทุนโรงแรมภายใต้แบรนด์โอ๊คส์และร้านอาหารเดอะคอฟฟีคลับในประเทศออสเตรเลียและประเทศจีน และการลงทุนอื่นๆที่หลากหลาย เช่น ร้านบอนชอนในไทย เบรดทอล์ค เบเกอรี่ ซึ่งมีธุรกิจศูนย์อาหาร Food Republic, ร้าน Toast Box และ Song Fa Bak Kut Teh บักกุ๊ดเต๋ระดับมิชลินไกด์ชื่อดังจากสิงคโปร์
5. สร้างงานสร้างอาชีพ
ผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานกรรมการของ MINT คือ คุณวิลเลียม ไฮเน็ค เป็นคนที่มีประวัติน่าสนใจมาก เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปี ฟังและพูดภาษาไทยได้ดี และถือสัญชาติไทย ก่อตั้ง MINT มาร่วม 53 ปี สร้างงานสร้างอาชีพรวมกว่า 8 หมื่นคน จาก 3 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโรงแรม 530 แห่ง ร้านอาหาร 2,362 ร้าน และร้านค้า 473 แห่ง ซึ่งให้บริการลูกค้ากว่า 230 ล้านคน ใน 63 ประเทศ สร้างแบรนด์โรงแรมไทยให้เป็นที่รู้จักระดับโลก ขยายธุรกิจร้านอาหารไทยไปต่างแดน ปักธงธุรกิจไทยไปหลายทวีป
6. ปรับตัวฝ่าวิกฤต
ในเชิงการเงิน ผลประกอบการย้อนหลังกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีผลประกอบการปีใดเลยที่ขาดทุน และสามารถฝ่าวิกฤตน้อยใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 / วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 / วิกฤตการเมืองไทยหลายครั้ง / วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งผลประกอบการอาจจะชะลอตัวลง 1-2 ไตรมาส แต่ก็จะกลับมาฟื้นและสร้างการเติบโตใหม่ได้ทุกรอบ
ในครั้งนี้ก็เช่นกัน MINT มั่นใจว่า จะสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับแทบทุกอุตสาหกรรมและกระจายไปทั่วโลก แม้จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงแรมและร้านอาหาร แต่ MINT ได้ปรับตัวอย่างมาก ทั้ง การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสั่งอาหาร 1112 Delivery เพื่อให้ลูกค้าสั่งอาหารจากทุกแบรนด์ในเครือไมเนอร์ และเป็นพาร์ทเนอร์กับทุกแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ เพื่อกระตุ้นยอดขายและตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่
7. บริหารต้นทุน
มีการบริหารต้นทุนรายการหลัก 4 ส่วน ทั้ง ต้นทุนค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในเรื่องของพนักงาน ต้นทุนซัพพลายเออร์ และต้นทุนอื่นๆ ซึ่งการเจรจาและบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายรวมลง 25-30%(YoY) และยังคงหาทางลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายจะช่วยให้บริษัทกลับมาสู่จุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น ด้วยสมมติฐานการฟื้นตัวทางธุรกิจของบริษัทในช่วงต่อจากนี้ โดยหากเป็นภาวะปกติก่อนโควิด-19 น่าจะกลับมาถึงจุดคุ้มทุนในไตรมาส 4 แต่ด้วยการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท การคุ้มทุนก็จะเกิดเร็วขึ้นในปลายไตรมาส 3
8. สุขอนามัยและความปลอดภัย คือ หัวใจฝ่าโควิด
ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร เรื่องสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด19 นี้ MINT ยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัย เช่น โปรแกรม “Stay with Peace of Mind” ของโรงแรมอนันตรา โปรแกรม “AvaniSHIELD” ของอวานี โปรแกรม “SureStay” ของโอ๊คส์และ โปรแกรม “Feel Safe at NH” ของเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมแห่งแรกในไทย ที่ได้รับประกาศนียบัตรและตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยหรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในส่วนของร้านอาหาร ได้มีการนำ โปรแกรม “Zero Touch Delivery” มาใช้เช่นกัน
9. แผนเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง MINT มีมาตรการเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน โดย
-> ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบ RO (Right Offering) จำนวน 563 ล้านหุ้น ในอัตรา 8.2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ ที่ราคาเสนอขาย 18.90 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่าจะได้รับเงิน 1 หมื่นล้านบาท
-> ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ Perpetual Bond เสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.5 พันล้านบาท
รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้MINT สามารถลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงมาอยู่ที่ระดับ 1.3 เท่าภายในปีนี้
-> จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอแรนต์) หรือ MINT-W7 ซึ่งมีอายุ 3 ปี ในอัตราส่วน 17 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ เป็นของแถมให้กับผู้ถือหุ้น โดยจะจัดสรรหลังการเพิ่มทุน คือผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ก็จะได้ MINT-W7 มากขึ้น และผู้ถือหุ้นเดิมก็จะได้ด้วย ในราคาใช้สิทธิที่น่าสนใจ โดยคาดว่าจะได้รับเงินอีก 5 พันล้านบาท ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566
ซึ่งตามแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินในครั้งนี้ จะสามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ได้อย่างมั่นใจ
10. กำหนดวันจองซื้อและชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ตั้งแต่เวลา 9.00 น. –16.00 น. วันที่ 17 - 23 กรกฎาคม 2563 (รวมทั้งสิ้น 5 วันทำการ) ตัวแทนในการรับจองซื้อ บล.บัวหลวง เลขที่ 191 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 29 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทรศัพท์ 0-2231-3777 หรือ 0-2618-1000 ต่อ 1133, 1141, 1143 หรือ 1147 หรือ ติดต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ โดยทางบริษัทหลักทรัพย์ของท่าน จะรวบรวมเอกสารการจองซื้อให้กับตัวแทนในการรับจองซื้อหุ้นสามัญที่ออกใหม่ต่อไป
11. พิจารณาประเด็นต่างๆประกอบการตัดสินใจ
นักลงทุนที่ติดตามข่าวสาร จะทราบดีว่า ในช่วงปกติ ราคาหุ้นท่องเที่ยวมักไม่ถูก จะเทรดที่พีอีค่อนข้างสูง ตามโอกาสที่ดีในการเติบโต ... ช่วงเวลาการลงทุนที่ดี คือช่วงไม่ปกติ หรือมีวิกฤตบางอย่าง ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจ สามารถพิจารณาประเด็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยมองการลงทุนเป็นระยะยาว มองเห็นความเป็นจริงที่ว่าวันหนึ่งโรคระบาดจะหายไป การท่องเที่ยวจะต้องฟื้นกลับมา ผู้ถือหุ้นเดิมที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะได้ทั้งหุ้นเพิ่มทุนและรับวอแรนต์ MINT-W7อีกด้วย
สถานการณ์โควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นไป และทั่วโลกกำลังส่งสัญญาณที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโดยตรง อาจจะผันผวนต่อไปอีกในระยะสั้น แต่ว่าไม่ตลอดไป และที่สุดควรจะต้องฟื้นตัวได้ ตามธุรกิจที่เปิดใหม่อีกครั้ง (Reopening Economy)
ซึ่งนี่อาจจะเป็นเวลาที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการบริโภค จะทยอยกลับมาฟื้นตัว และเติบโตต่อไปในอนาคต