#วางแผนการเงิน

ขายพอร์ตหุ้นเพื่อเกษียณ เอาไปกู้วิกฤตร้าน

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
97 views

มีคุณพี่เจ้าของธุรกิจ มาปรึกษา

ว่าอยากจะ "ขายพอร์ตหุ้น" ที่ลงทุนมาเพื่อเตรียมการเกษียณ

เพื่อเอาไปกู้วิกฤตร้านอาหาร ที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ มาปิดสนิทช่วงปลายเดือน มีนาคม ต่อเมษายนและเพิ่งจะกลับมาเปิดได้กลางเดือนพฤษภาคม

ธุรกิจคุณพี่เขามีพนักงานจำนวนมากเกือบ 20 กว่าชีวิต ยังพยายามเลี้ยงดูลูกจ้างโดยไม่ลดคน ไม่ลดเงินเดือน เพราะอยู่กันมานาน แม้อยู่ในช่วงที่ร้านแทบไม่มีรายได้เข้าเลย

ด้วยความหวังว่า "เดี๋ยวเปิดร้าน ก็น่าจะกลับมาค้าขายได้เหมือนเดิม"
.
.
พอเปิดร้านจริงๆไม่กี่วัน ก็เริ่มเห็นถึงหายนะที่จะมาเยือน

-> ไหนจะเรื่องกำลังซื้อที่หดหาย

-> ไหนจะเรื่อง social distancing ที่จัดโต๊ะนั่งได้แค่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด

บรรยากาศนี้ ลำพังจะทำรายได้ให้คุ้มค่าใช้จ่ายก็ว่ายากแล้ว นี่จะมีเก้าอี้เหลือ 1 ใน 3 แถมยังไม่เคยมีลูกค้าเต็มอีก

ดูยังไงก็ไม่น่าจะรอด

ร้านกลับมาเปิดได้สัปดาห์กว่า แต่เลือดไหลออกทุกวัน ตอนนี้คุณพี่เจ้าของเริ่มเครียด

เกิดความคิดว่าจะกอบกู้ร้านของตัวเองไว้ ด้วยการขุดสมบัติชิ้นสุดท้ายคือ “พอร์ตหุ้นเพื่อการเกษียณ” เอามาดูแลค่าใช้จ่ายร้านต่อ
.
.
ก่อนอื่นผมต้องขอชื่นชมและเป็นกำลังใจอย่างสูงสุดกับเจ้าของร้านที่มีใจเมตตา ดูแลพนักงานร้านของตัวเอง แม้ว่าจะต้องเผาผลาญเงินสดส่วนตัวไปแล้วแทบทั้งหมด ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

ผมเองไม่ใช่คนที่มีความรู้เรื่องร้านอาหารนะ แต่ก่อนจะไปขายทรัพย์สินอะไรมาเติมร้าน ผมเสนอแบบนี้ครับ

1. ลองวางแผนไปข้างหน้า 3 เดือน กะๆดูว่า รายรับเดือนละเท่าไหร่ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เลือดไหลออกอยู่ทุกวันนี้เท่าไหร่ เขียนลงตารางหรือลง Excel ง่ายๆก็ได้

2. เอามากางดู เห็นค่าเช่าร้านเท่าไหร่...ค่าคนเท่าไหร่...ค่าดอกเบี้ยเท่าไหร่...ค่าวัตถุดิบเท่าไหร่ เขียนออกมาให้เห็น ยอมรับความจริงกับตารางตรงหน้าของเรา ตั้งคำถามง่ายๆเบื้องต้นว่า ค่าใช้จ่ายตรงไหนมันมากเกินไป ในภาวะนี้

3. รายได้ ลบ ค่าใช้จ่าย คือ กำไร แต่ถ้ามันเป็นกรณีติดลบทุกเดือน คือ “ขาดทุน” และนี่คือธุรกิจเงินสด ก็คือ เลือดไหลออกทุกเดือน

4. คราวนี้กลับมาดู “ค่าใช้จ่ายทีละบรรทัด” รอบนี้พี่ต้องจริงใจกับความจริงครับ ถ้าค่าเช่าเราไม่ไหว...ไปขอลดค่าเช่า , ถ้าค่าแรงพนักงานเราไม่ไหว...ไปขอลดค่าแรง, ถ้าจำนวนพนักงาน ไม่แมทช์ กับรายได้ที่มี ...ก็ต้องพิณาเรื่องจำนวนแรงงานบางส่วน

ประเด็นคือ “เราต้องเขียนมันออกมาครับ” เอาความจริงมาปรากฏตรงหน้าให้ได้ อย่าใช้ความรู้สึกขับเคลื่อนในภาวะนี้ครับ
.
.
เมื่อเขียนเสร็จแล้วลองดูว่า ถ้าคุณพี่ลดค่าใช้จ่ายแล้ว จ่ายแบบนี้ อีก 3 เดือนร้านยังรอดไหม

-> ถ้าตอบว่า “ไม่รอด” ก็ไม่ควรไปขายพอร์ตเกษียณออกมาเติมเงินลงร้าน เหมือนส่งทหารเข้าสมรภูมิที่เราไม่มีทางชนะ

-> ถ้าตอบว่า “รอด” ก็อาจพิจารณาขายพอร์ตเกษียณ “บางส่วน” ออกมา

ผมไม่แนะนำให้ขายทั้งหมด พอร์ตเกษียณเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่คือปราการด่านสุดท้ายที่จะดูแลเราตอนที่ไม่มีแรงทำงาน

ถ้าเราเลือกขายพอร์ตเกษียณทั้งหมดมาถมร้าน เมื่อเวลาผ่านไป เกมนี้เราแพ้... สุดท้ายเราจะไม่เหลืออะไรเลย

ช่วงเวลานี้ รายการค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องลดลง
-ค่าเช่าต้องไปขอเขาลด
-ค่าดอกเบี้ยธนาคารต้องไปต่อรอง
-ค่าใช้จ่ายพนักงานตอนนี้เรายังจำเป็นต้องใช้อยู่กี่คน

ถ้าเราดึงดันลากยาว โดยไม่ยอมตัดอะไรต่อไป สุดท้ายถ้าร้านต้องปิด ทุกคนก็จะไม่มีงานทำพร้อมๆกันอยู่ดี

สุดท้าย ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าของธุรกิจทุกท่านแบบสุดหัวใจครับ สู้ๆ


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง