#วางแผนการเงิน

ปรับแผนการเงิน รับมือวิกฤต COVID

โดย มงคล ลุสัมฤทธิ์
เผยแพร่:
84 views

สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกเจอกันในตอนนี้ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรวดเร็วมากครับ

เราอยู่กับโควิดเต็มๆ มาเกือบ2เดือน คิดว่าพวกเรา บางส่วนจะเริ่มไม่ไหวกันแล้ว และยังมืดมนกับอนาคตที่หาจุดสิ้นสุดไม่ได้


บางคนกระทบช้ายังพอมีเวลาทางออก แต่ก็ไม่รู้จะอยู่รอดได้อีกนานแค่ไหน ในขณะที่บางคน กระทบทันที เพราะเงินสำรองไม่มี รายได้แค่ทางเดียว แต่หนี้สินหลายทาง


อย่าว่าแต่คนที่ไม่มีแผนการเงินเลยครับ ต่อให้เราวางแผนมาอย่างดี แต่มาเจอเหตุการณ์แบบที่ ไม่มีใครคาดคิด แผนที่มี #เราอาจจะต้องรื้อใหม่ทั้งหมด


วันนี้ผมมีคำแนะนำในการ "ปรับแผนการเงิน" เพื่อรับมือกับวิกฤติแบบที่ยังไม่มีกำหนดสิ้นสุดมาแนะนำครับ


1. สำรวจเงินกินของตัวเอง และตั้งงบประมาณล่วงหน้าครับ ที่ผมเริ่มจากเงินกินก่อน เพราะอย่างน้อยการที่เราต้องมีเงินเพื่อซื้อข้าวกิน ถือเป็นปัจจัยแรกที่เราต้องเอาให้ "รอด"ครับ

ที่ผ่านมาคุณอาจไม่เคยเดือดร้อนจากการที่ไม่รู้ว่าแต่ละวันจ่ายค่ากินไปเท่าไหร่ แต่ ณ วันนี้ คุณต้องรู้ทุกอย่างที่จะทำให้คุณ "เสียเงิน" ครับ อะไรตัดได้ ตัดทิ้งไปครับ

เบื้องต้นคุณต้องรู้ว่า คุณจะเสียค่ากินต่อวัน วันละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่ หรือ ต่อคนทั้งบ้าน คิดเป็นเท่าไหร่ ผมเห็นบางบ้าน เอาเงินกินใส่ซองแยกไว้เป็นรายวัน ห้ามใช้เงิน ถ้าเหลือเก็บขึ้น ถือเป็นวิธีการที่ดีอีกทางครับ


2. ตีแผ่หนี้สิน ยาขมของทุกคน ที่ไม่อยากเจอ ไม่อยากเห็น แต่สถานการณ์ตอนนี้คุณต้องแยกมันออกมาเป็นตารางครับ

คุณมีหนี้อะไรอยู่บ้าง? ดอกเบี้ย เดือนละเท่าไหร่ เงินต้นเท่าไหร่? เขียนให้ละเอียดครับ **จุดสำคัญ**
คือสำรวจมาตราการของเจ้าหนี้แต่ละที่ว่า มีมาตรการช่วยเหลือออกมาแล้วหรือยัง หากมีมาตรการออกมาแล้ว ให้รีบติดต่อไปครับ

อย่ารอ! หนี้เรา เราต้องติดต่อเอง พูดคุยเพื่อขอผ่อนผัน แจ้งความประสงค์เพื่อรับมาตรการต่างๆครับ อันไหนผ่อนผันได้ ได้ถึงเมื่อไหร่ ใส่ลงไปในตารางเลยครับ ให้อยู่ที่ที่เดียวกัน

คุณจะเห็นภาพรวมทั้งหมดของสถานการณ์หนี้ตัวเอง


3. ติดตามรายได้ เมื่อเรารู้ว่า เราต้องมีเงินกินต่อเดือน เดือนละเท่าไหร่ และมีหนี้สินที่หลังจากรับมาตรการต่างๆ แล้ว เหลือต้องจ่ายเดือนละเท่าไหร่

ก็ถึงเวลามาสำรวจรายได้ตัวเองครับ มีเท่าไหร่ มีทางไหนบ้าง
พอใช้แบบยังเหลือๆ หรือ ใกล้หมดแล้ว หรือ ติดลบอยู่
ลองเอาตัวเลขมาชนกับ2ข้อข้างบน

คุณจะได้รู้สถานการณ์การเงินของตัวเองที่แท้จริงครับ


4. ปรับปรุงแผนการลงทุน ในข้อนี้ หากใครที่มีการลงทุนอยู่ เช่นตั้งอัตโนมัตทกุเดือน งบประมาณตรงนี้สามารถปรับลดลงได้นะครับ หรือการจ่ายค่าเบี้ยประกัน จากเดิมที่จ่ายเป็นรายปี ต้องเสียเงินก้อนใหญ่ ก็สามารถขอเปลี่ยนวิธีการจ่ายเป็นรายเดือน หรือ ราย3เดือน เพื่อรักษาเงินสดไว้กับตัวก่อน


5. เพิ่มรายได้ทางอื่น แน่นอนครับ ไม่มีทางไหนที่จะช่วยเรื่องการเงินได้ดีเท่ากับการมีรายได้เพิ่ม ผมทราบว่าในสภาวะแบบนี้ การหารายได้อาจไม่ง่ายนัก แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นคนที่ปรับตัวได้ และ เห็นลู่ทางของการสร้างอาชีพใหม่

รวมทั้งยังมีอีกหลายช่องทางที่พร้อมจะเป็นสื่อกลางให้กับทุกๆคน รวมทั้งเพจผมด้วย เพื่อให้เรารอดไปด้วยกัน ดังนั้น เริ่มต้นวันนี้ก็ไม่แย่นะครับ
ไม่แน่ว่า รายได้ทางใหม่ของคุณวันนี้อาจจะเป็นอาชีพใหม่ในอนาคตก็ได้


-- ในวิกฤติ มีโอกาสเสมอ หาให้เจอนะครับ --


สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคนที่ประสบปัญหาอยู่ไม่ว่าจะปัญหาเล็ก หรือปัญหาใหญ่ อย่างน้อยวิกฤติครั้งนี้ ไม่ใช่คุณคนเดียวที่สู้อย่างโดดเดี่ยวครับ


เจ้าของเพจที่รวมและแบ่งปันความรู้วางแผนการเงิน เพจ : Financial Times by Mongkol นักออกแบบความมั่งคั่ง โดยมงคล ลุสัมฤทธิ์ (Wealth Designer)

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง