ช่วงนี้เราพูดถึงเศรษฐกิจในต่างประเทศมากหน่อย เพราะปัจจุบันนี้ แม้ปัญหาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่นักลงทุนรายย่อยของไทยก็หนีไม่พ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกอยู่ดี ยิ่งเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกเศรษฐกิจโลกมากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะประเมินผลกระทบต่อหุ้นไทยที่เราถืออยู่ อย่างถูกต้องและทันท่วงที ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของเพื่อนๆได้เป็นอย่างมาก
เอาล่ะเข้าเรื่องซะที..
ประเทศจีนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จริงหรือ?
จะตอบคำถามนี้ได้มาดูตามตัวเลขเชิงเปรียบเทียบกันดีกว่า
ก่อนอื่นต้องแยกคำว่า “ตลาดหุ้นจีน” กับ “เศรษฐกิจจีน” ออกจากกันเสียก่อนครับ
ในส่วนของ “ตลาดหุ้นจีน” เป็นที่ชัดเจนไม่ต้องเถียงกัน เพราะสบู่แตกไปเรียบร้อย จากจุดที่ดัชนีขึ้นไปสูงสุดลงมาถึงระดับปัจจุบัน ร่วงไปมากกว่า 30% และทะลุเส้น Moving Average 200 วัน ซึ่งในทางเทคนิดจัดได้ว่าเข้าสู่ภาวะตลาดหมีอย่างเต็มตัว
แต่ “เศรษฐกิจจีน” นั้นแม้จะชลอตัว แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่า วิกฤต อยู่พอตัวครับ
เพราะอะไร?
หากดูงบดุลของจีนในปี 2013 (ข้อมูลของ 2014 และ 2015 ที่เปรียบเทียบในลักษณะนี้ยังหาไม่เจอครับ อาจยังไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก็เป็นได้) จะพบว่า:
สินทรัพย์ทั้งหมดของจีนมีมูลค่าถึง 900% ของ GDP
ในขณะที่หนี้สินมีเพียงแค่ 220% ของ GDP เท่านั้น
ดังนั้น Net Equity ของเศรษฐกิจจีนจึงสูงถึง 680% ของ GDP
และเมื่อแบ่งตามประเภทของสินทรัพย์แล้ว พบว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ภาคเอกชน (Corporations) และสินทรัพย์ภาคครัวเรือน (Households)
หากมองย้อนกลับไปในปี 2008 เมื่อนำมาเปรียบเทียบแล้ว จะเห็นว่า ชาวจีนยังคงเป็นชนชาติแห่งการออม ไม่ว่าจะเป็นระดับครัวเรือนหรือระดับประเทศ (นิสัยชาวจีนนะครับ สอนลูกสอนหลานให้ขยันอดออม ไม่น่าแปลกใจ 555)
และเมื่อมองเจาะลึกต่อไปยัง “สินทรัพย์ภาคครัวเรือน” ก็จะพบว่า:
70% อยู่ในอสังหาริมทรัพย์
23% อยู่ในเงินฝากธนาคาร
และมีเพียงแค่ 2% เท่านั้น! ที่อยู่ในตราสารทุนหรือหุ้น
ใช่ครับ คนจีนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะออมในอสังหาฯ และ ฝากเงินกับธนาคาร มากกว่าที่จะซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้
ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนจะเกิดวิกฤตขึ้นจริง เหตุจึงน่าจะมาจาก “วิกฤตอสังหาริมทรัพย์” หรือ “วิกฤตธนาคารรัฐของจีน” มากกว่าที่จะเกิดจาก “วิกฤตตลาดหุ้น”
ปัจจุบันแม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนราคาร่วงลงมา สภาพคล่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง ไม่ได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แต่โอกาสที่ตลาดอสังหาจีนจะเข้าสู่วิกฤตหนี้นั้นยังห่างไกล เพราะหนี้สินครัวเรือนมีเพียง 17% เท่านั้นที่อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ นั่นหมายความว่า ปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ (แบบที่เคยเกิดที่อเมริกาตอน subprime) จะเกิดขึ้นในจีนได้ ก็ต่อเมื่อราคาบ้านจีนต้องร่วงลงมาอย่างแรงสุดๆถึง 83% เลยทีเดียวจึงจะเกิดวิกฤต
ส่วนวิกฤตธนาคารรัฐของจีน ซึ่งปัจจุบันก็มีอัตราส่วนเงินทุนสำรองอยู่ในระดับที่สูงมาก (และธนาคารกลางจีนก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก) ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ “แบงค์ล้ม” จึงเป็นไปได้ยาก
และล่าสุดจากเทปบทสัมภาษณ์ของวอร์เรนบัฟเฟตต์ กับทางสำนักข่าว bloomberg ปู่ก็พูดชัดเจนนะครับว่า เขายังคงมีความเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจจีนและอนาคตของจีนมาก แม้ระยะสั้นเขาจะคาดการณ์ไม่ได้ว่าตลาดจะแกว่งสวิงขึ้นลงไปอีกกี่รอบ แต่ในระยะยาวเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจจีน จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป
สรุปก็แล้วแต่จะคิดนะครับ สำหรับคนที่ต้องการกำไรเร็วๆ อาจจะยังไม่ต้องการเข้าซื้อหุ้นจีนในช่วงนี้ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ตลาดหุ้นจีนจะยังคงลงต่อไปหรือไม่ แต่สำหรับคนที่สามารถลงทุนและถือในระยะยาวได้ บทความนี้แสดงตัวเลขให้เห็นว่าแม้ “ตลาดหุ้นจีน” จะผันผวน แต่ “เศรษฐกิจจีน” ยังคงแกร่งครับ
ส่วนใครที่กังวลว่า หุ้นที่ตัวเองถือจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีน ก็อาจต้องมองให้ยาวๆนะครับว่า เศรษฐกิจจีนท้ายที่สุดแล้วจะกลับมาเหมือนเดิม (หรือดีกว่าเดิม) ได้หรือไม่?
(ข้อมูล: Bloomberg)