(ต่อจาก ตอนที่แล้ว)
เมื่อรัฐบาลเห็นว่าดอกเบี้ยที่ต่ำช่วยทำให้ภาระดอกเบี้ย (interest expense) ลดได้ จึงไม่ได้มีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าบริการสาธารณะ และค่าใช้จ่ายภาครัฐ (other expenses) แต่อย่างใด
ลองมโนภาพดูนะครับ ในแต่ละปีเงินที่ได้จากภาษี จะถูกนำมาจ่ายคืนดอกเบี้ยก่อน (interest expense) และส่วนที่เหลือถึงจะสามารถนำมาใช้จ่ายภาครัฐอื่นได้ (other expenses)
แต่เนื่องจากเงินได้จากภาษีในแต่ละปีมีจำนวนไม่พอ ส่วนที่ขาดไปก็ต้องกู้เงินมาโปะ เพื่อให้มีพอใช้จ่ายในแต่ละปี
เมื่อธนาคารกลางของญี่ปุ่น ลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็เหมือนกับทำให้ถาด "ตื้น" ลง ทำให้รัฐบาลมีเงินเหลือสำหรับค่าใช้จ่ายภาครัฐอื่นๆมากขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี รัฐบาลติดนิสัยการกู้เงินเพราะเห็นว่าดอกเบี้ยถูก จึงก่อหนี้เพิ่มเรื่อยๆทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (interest expense) ค่อยๆสูงขึ้น เปรียบเทียบได้กับถาด ซึ่งแม้ว่าจะ "ตื้น" แต่ "ฐาน" ของถาดกลับขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยฐานของถาดที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง รายได้จากการเก็บภาษีจึงไม่พอแม้กระทั่งจะจ่ายดอกเบี้ย! นั่นยิ่งทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินจากการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นไปอีก
นั่น "อาจ" เป็นชนวนจุดเริ่มต้นของหายนะ!
ณ สิ้นปี 2012 หนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น มีมูลค่าสูงถึง 23 เท่าของรายได้ในแต่ละปี
นั่นหมายความว่าหากดอกเบี้ยเขยิบสูงขึ้นอีกเพียงแค่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้รายได้ทั้งหมดของรัฐบาลญี่ปุ่น ถึงจุดที่ไม่พอแม้กระทั่งจะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เสียด้วยซ้ำ! ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงจุดตายอันนี้ ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อมิให้ดอกเบี้ยสูงเกินกว่า 4 % โดยเด็ดขาด
คำถามคือ ธนาคารกลางของญี่ปุ่น กดดอกเบี้ยได้อีกนานแค่ไหน?
(ตอนหน้าเป็นตอนจบ ติดตามกันครับ)
เพื่อไม่พลาดตอนต่อไป เพื่อนๆสามารถตั้งค่าใน Facebook ให้ "Get Notifications" หรือ "See First" ได้