หากใครที่กำลังทำธุรกิจไม่ว่าจะส่งออก-นำเข้า หรือกำลังลงทุนอยู่ในตลาดการเงินอยู่ในขณะนี้ คงจะหนีไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะสงครามการค้า หรือปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เหล่าบรรดาผู้ประกอบการเองก็ระส่ำระส่ายไม่แพ้กัน บางแห่งทนพิษไม่ไหวถึงขนาดต้องปิดตัวลงอย่างกระทันหัน เรามาดูกันครับว่าเหล่าบรรดากูรูมองอย่างไรบ้างกับทิศทางค่าเงินบาท และหุ้นไหนได้ประโยชน์
บล.เอเชียพลัส มองว่า ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า หากเงินบาทยังแข็งค่าใกล้เคียงปัจจุบันที่ 30.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 31.1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสมมติฐาน ทั้งนี้ ASPS ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในรอบนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวชัดเจน หลักๆคือ ผลกระทบจากสงครามการค้า กระทบต่อภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ธนาคารกรุงศรี มองว่า ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่ามากกว่า 6% นับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย ขณะที่คณะกรรมการ กนง. ยังคงแสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทและระบุว่าอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมถ้าจำเป็น
คณะกรรมการ กนง. กล่าวย้ำว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และการหดตัวของส่งออกส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งแสดงความกังวลในเรื่องปัญหาสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ความเห็นของ กนง. ในวันนี้มีท่าทีไม่แตกต่างจากการประชุมเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ผลการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการยังคงกังวลในเรื่องผลกระทบจากการปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน
ทางด้านส่งออก
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าในเดือนส.ค.62 ลดลง 4% โดยมีมูลค่า 21,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งสินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญได้แก่ ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค. พบว่า ในด้านการใช้จ่ายมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิต พบว่า มีการปรับตัวดีขึ้นในภาคการท่องเที่ยว เพราะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน รวมถึงกับการขยายตัวได้ต่อเนื่องของภาคการเกษตร ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด
Reference : EfinanceThai,AspResearch,Bay,UobKayHian Research,FssResearch,CnsResearch