#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ก้าวใหม่ของ ECF หรือจะเป็นธุรกิจการศึกษา

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
96 views

ECF หรือบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) แต่เดิมทำธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากไม้และส่งขายตามห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ต่อมามีการขยายธุรกิจใหม่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ รวมถึงลงทุนในธุรกิจค้าปลีก ภายใต้ชื่อร้าน Can Do เป็นสินค้าราคาเดียวโดยเซ็นต์สัญญาเฟรนไชส์บริษัทจากญี่ปุ่นเพื่อทำในประเทศไทย แต่ธุรกิจนี้ได้ปิดตัวลงไปแล้วเมื่อต้นปี 2562

 

ล่าสุด ! บริษัทเดินหน้าธุรกิจใหม่เต็มสูบ เข้าซื้อหุ้น KPN Academy มากถึง 57% จากกลุ่มณพ ณรงค์เดช มูลค่า 460 ล้านบาท โดยจะมีการเพิ่มทุนแลกหุ้นขายเฉพาะบุคคลในวงจำกัดไม่เกิน 191 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 2.40 บาท/หุ้น

 

KPN Academy ประกอบธุรกิจการศึกษา สื่อการสอน ธุรกิจแนะแนวการศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวมถึงจัดจำหน่ายเครื่องดนตรีและการพัฒนาทักษะทางดนตรี เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจการศึกษา

 

นอกจากการขยายธุรกิจไปยังการศึกษาแล้ว ยังส่งผลให้ณพ ณรงค์เดช เข้ามาถือหุ้น ECF มากถึง 15.06% โดยบริษัทจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 350.17 ล้านบาท จากเดิมที่ 299.11 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 204.24 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.25 บาท โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 191.74 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนในวงจำกัด (PP) ในราคาไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่ 2.40 บาท/หุ้น เพื่อเป็นการชำระค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ KPN Academy จำนวน 4 ราย ที่เสนอขายหุ้นให้กับบริษัท ส่วนที่เหลืออีก 12.5 ล้านหุ้น รองรับการปรับสิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (วอร์แรนต์)

ภายหลังการเพิ่มทุนเพื่อชำระและเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ KPN Academy ครั้งนี้ ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง โดยนายณพ ณรงค์เดช ถือหุ้น 13.61% ,โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี ถือหุ้น 1.45% ขณะที่นายณพ เป็นผู้รับประโยชน์ของโกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดีด้วย ดังนั้น โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลตามมาตรา 258 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงทำให้นายณพ และบุคคลตามมาตรา 258 ถือหุ้นของบริษัทรวมสัดส่วน 15.06% , นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ถือหุ้น 1.16% และนางแสงเดือน อิ่วบำรุง ถือหุ้น 0.44%

บริษัทชี้แจงว่าการขยายไปยังธุรกิจการศึกษาครั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทในอนาคต และยังลดควาเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เพียงอย่างเดียว

 


การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ECF ในช่วงที่ผ่านมา
ขอบคุณภาพจาก : Bisnews Professional

 

ปัจจุบัน ECF มีสัดส่วนรายได้ จาก
- ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ 90%
- ธุรกิจกระดาษปิดผิว 3.6%
- ธุรกิจไม้ยางพาราแปรรูป 2.04%
- ร้านค้าปลีก Can do 0.7%
- รายได้อื่นๆ 3.34%

 

และสัดส่วนรายได้ภายในประเทศ 52.57% จากต่างประเทศ 47.43%

 

ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เป็นอย่างไร
- ปี 2558 บริษัทมีรายได้ 1.35 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 75.4 ล้านบาท
- ปี 2559 บริษัทมีรายได้ 1.42 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 62.4 ล้านบาท
- ปี 2560 บริษัทมีรายได้ 1.49 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 73.1 ล้านบาท
- ปี 2561 บริษัทมีรายได้ 1.50 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 33.76 ล้านบาท

 

เรียกได้ว่ารายได้เติบโต แต่กำไรไม่ได้โตตาม

ปัจจุบันมีค่า P/E ที่ 64.44 เท่า และ P/BV ที่ 1.58 เท่า และปันผลประมาณ 1.3%

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ECF จะมีธุรกิจที่หลากหลายมากขนาดนี้ แต่ธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรอย่างสม่ำเสมอ ยังคงเป็นธุรกิจเดิมคือเฟอร์นิเจอร์นั้นเอง แต่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีอัตรากำไรสุทธิที่ไม่สูงมากนัก การจะผลักดันการเติบโตเป็นเรื่องยาก บริษัทจึงพยายามมองหาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาผลักดันอัตรากำไรสุทธิให้สูงมากยิ่งขึ้น

 

ธุรกิจการศึกษาจะเป็น "ดาว" ดวงใหม่สำหรับหุ้น ECF หรือไม่ นักลงทุนต้องจับตาดูกันต่อไปครับ


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง