เป็นเวลาเกือบ 1 ปีมาแล้ว ที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกต้องพบกับความผันผวน จากเรื่องสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน สิ่งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดหุ้นในระดับ “วัน” เนื่องจากในยุคนี้ ผู้นำสหรัฐอเมริกาหรือคุณโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้สื่อสาร key message สำคัญต่างๆด้วยตนเอง ผ่านทาง Twitter Account ส่วนตัว ที่มีผู้ติดตามมากถึง 63.6 ล้านคน และทวีตบ่อยมาก บางวัน(27 ส.ค.62)ทวีตถึง 9 ครั้งภายในวันเดียว
ปัญหาอยู่ที่การสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วยตนเองนี่แหละครับ ทำให้การสื่อสารเน้นความรวดเร็วเป็นหลัก แต่เรื่องสำคัญอย่างความถูกต้อง(accuracy)และความคงเส้นคงวา(consistency)ของนโยบายรัฐที่แท้จริงกลับเป็นรอง
ตลอดปีที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลก จึงพบกับความผันผวน บางวันหุ้นขึ้น...เพราะนักลงทุนกังวลกับสงครามการค้า และบางวันหุ้นลง...เพราะนักลงทุนคลายกังวลกับสงครามการค้า ทั้งที่ระดับนโยบายไม่ควรเปลี่ยนไปมาในข้ามคืนได้แบบนี้
เอาหล่ะ สิ่งนี้อาจจะกำลังเป็นมาตรฐานของผู้นำประเทศยุคใหม่ ที่นักลงทุนต้องยอมรับและปรับตัว ซึ่งผมเองยอมรับว่าค่อนข้างกังวลกับ Trade War (สงครามการค้า) ที่อาจจะเป็น Infinity War (สงครามที่ไม่มีวันจบ) ที่อาจจะนำไปสู่วิกฤตบางอย่าง
แม้ว่าในกรณีเลวร้าย หากสิ่งนี้พัฒนาไปสู่วิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิตการลงทุน ก็เป็นธรรมชาติของการลงทุนที่ชีวิตนักลงทุนคนหนึ่ง จะต้องผ่านวิกฤตหลายๆครั้งครับ และถ้าจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ผมเชื่อว่าต่อให้นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก จะใช้เครื่องมือหรือโมเดลคณิตศาสตร์ขั้นสูงมาใช้ทำนาย ความถูกต้องก็คงไม่ได้ต่างจากการสุ่มผลปาเป้าสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องสงครามการค้าจากการตั้งกำแพงภาษี การแก้เกมด้วยการปล่อยค่าเงินให้อ่อน และการเจรจาต่อรองในอนาคต เต็มไปด้วยตัวแปรที่มีความไม่แน่นอน ผมจึงไม่อยากจะคาดเดาอนาคตอะไรในตอนนี้
สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับชีวิตการลงทุน คือการรับมือกับวิกฤตต่างหาก ผมคิดว่า สิ่งที่นักลงทุนควรจะทำเมื่อเกิดวิกฤตคือ
1.วิเคราะห์หุ้นในพอร์ต ว่ามีหุ้นที่เกี่ยวข้องทางตรงกับวิกฤตครั้งนี้มากแค่ไหน แน่นอนว่า หุ้นที่เป็น domestic consumption บริโภคในประเทศ และมีความผูกขาดกินขาด ย่อมได้รับผลกระทบน้อยกว่าหุ้น Global Play ที่ผูกติดกับเศรษฐกิจโลก นี่คือบททดสอบว่า เรามีความเข้าใจในหุ้นที่ถืออยู่แค่ไหน
2. ทบทวนเหตุผลที่เราซื้อหุ้นตัวนั้น หากไม่ใช่เพื่อการลงทุนระยะยาว ก็ควรจะต้องระวังมาก เพราะในทุกวิกฤต หุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานย่ำแย่แต่เทรดที่ราคาสูงหวือหวา จะมีคนชิงขายทิ้งทำกำไรก่อนเสมอ กฏของเกมคือ ต้องไม่เป็นคนที่ถือหุ้นเป็นคนสุดท้าย ในวิกฤต หุ้นที่มักจะจบเกมอย่างถาวร คือหุ้นที่มีความสามารถในการทำธุรกิจต่ำ รายได้ลด กำไรลด ขาดสภาพคล่อง
3. ระมัดระวังการใช้เครื่องมือสำหรับเล่นทำกำไรในตลาดขาลง เช่น TFEX หรือ Put DW เพราะแม้ว่าจะสามารถทำกำไรได้มากจริงๆหากเราเก็งทิศทางได้ถูกต้อง แต่การเล่น TFEX หรือ Derivative Warrant ไม่ใช่เรื่องง่าย และหากเก็งผิดทาง ความเสียหายก็จะมากมายด้วยเช่นกัน
4. ในยามวิกฤต ถ้าคุณยังมีเงินสดอยู่พอสมควร เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม เราไม่ควรพลาดโอกาสในการเป็นเจ้าของหุ้นชั้นดี ที่กำลังตกอยู่ในวิกฤตราคาตกต่ำ โดยที่วิกฤตนี้มิได้เปลี่ยนแปลงความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของกิจการ การตกต่ำครั้งนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นเรื่องชั่วคราว นี่คือโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนพอร์ตในระยะยาว
5. วิกฤตคือสถานการณ์พิเศษในการฝึกฝีมือ ในเวลาที่ตลาดหุ้นแดงฉานกดดันคนส่วนใหญ่ให้หมอบต่ำ หวาดกลัวและมอบตัวคายหุ้นจำนวนมากออกมาที่ราคาถูกเหลือเชื่อ อาจจะเป็นเวลาดี ที่คุณจะแสดงความกล้าหาญและเดิมพันด้วยความมั่งคั่งส่วนตัว เพื่อเพิ่มผลตอบแทนพอร์ตในระยะยาว ซึ่งในสถานการณ์ตลาดหุ้นปกติ แทบไม่มีโอกาสทำได้