#แนวคิดด้านการลงทุน

5 อุตสาหกรรมสำหรับภาวะ Boom และ Bust

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
92 views

 

Source: https://www.privatebanking.societegenerale.com

 

ในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะ recession จากสัญญาณต่างๆ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED และ Inverted yield curve ในตลาดการเงินของสหรัฐ แน่นอนว่าหากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐเข้าสู่ภาวะ recession ประเทศอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบไม่น้อย

 

ทว่าในสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ ช่วงเติบโต (boom) และช่วงหดตัว (bust)  ส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจมักได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ทำให้แต่ละอุตสากรรมก็ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกัน 

 

บทความนี้จึงนำเสนอตัวอย่างอุตสากรรมที่มีลักษณะเป็นแบบ cyclical หรือขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจและ counter-cyclical หรือ ขึ้นลงตรงข้ามกับสภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมทแปรผันน้อยหรือไม่ค่อยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจเท่าไรนัก  ทั้งนี้เพื่อที่เมื่อทราบแล้วนักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

Cyclical Industry

 

Source: https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/mapping-decline-and-recovery-across-sectors

 

กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง 

 

ภาคการลงทุนมักได้รับผลกระทบจาก Business cycle ค่อนข้างมากกว่าภาคการบริโภค  ในช่วงเศรษฐกิจดี ธุรกิจต่างๆ อาจเริ่มขยับขยายสาขา คนหันมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนรวมถึงธุรกิจอาจยกเลิกโครงการเหล่านี้ไป ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างมาก จากตัวอย่างผลการวิเคราะห์ correlation analysis พบว่าธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจวัสดุก่อสร้างมีค่า correlation กับ GDP สูงถึง 0.875 

 

กลุ่มอุตสาหกรรมฟุ่มเฟือย 

 

การบริโภคของสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างขึ้นอยู่กับ business cycle เนื่องจากเงินที่คนส่วนใหญ่นำมาจับจ่ายใช้สอยมักจะเป็น Discretionary income หรือเงินเหลือเก็บ ในทางเศรษฐศาสตร์ สินค้ากลุ่มนี้เรียกว่า luxurious goods นั่นคือสินค้าที่หากรายได้เพิ่มขึ้น การบริโภคสินค้านี้จะมีสัดส่วนสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ยกตัวอย่างเช่น สินค้ากลุ่มของตกแต่งบ้าน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ร้านค้าปลีกที่ไม่ใช้เกี่ยวกับอาหารและของใช้มีค่า correlation กับ GDP ค่อนข้างสูงถึง 0.77 0.72 0.91 ตามลำดับ  

 

Counter-cyclical

 

กลุ่มธุรกิจ Discount retailer 

 

แน่นอนว่าไม่ว่าจะข้าวยากหมากแพงขนาดไหนคน คนก็ยังเป็นคน ยังต้องบริโภคอยู่ดี ทำให้ธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้าง recession proof นอกจากนี้ ในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี พฤติกรรมการบริโภคของคนอาจจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคามากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของ Discount store ในการดึงดูดลูกค้าท่ามกลางสภาวะตลาดที่ซบเซา ยกตัวอย่าง case study ของ Walmart ในสหรัฐ แม้ว่าในช่วง Subprime crisis อัตราการว่างเงินเพิ่มสูงถึงกว่า 10% และ GDP growth ลดลงกว่า 2.5% แต่ Walmart ยังสามารถทำกำไรได้อยู่ในระดับเดียวกับช่วงของ post crisis 

 

ธุรกิจสินค้าบาป 

 

เป็นที่น่าจะแปลกใจว่าทำไมธุรกิจสินค้าบาปอย่างเหล้า บุหรี่กลับสามารถทำกำไรได้ดีในช่วงของ recession ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและคนน่าจะต้องรัดเข็มขัด อดออมกันมากขึ้น หนึ่งคำอธิบายคือ ในช่วง recession สินค้าเหล่านี้ถือว่าเป็นทางออกหนึ่งในการระบายความเครียดและสร้างความผ่อนคลายแทนที่การไปเที่ยวหรือกิจกรรมอย่างอื่นที่ต้องใช้เงินมากกว่า ซึ่งจากการศึกษาของ University of Miami พบว่าอัตราการว่างงานในรัฐนั้น ๆ สูงขึ้น 1% จะทำให้คนมีโอกาสเป็น alcoholism สูงขึ้นกว่า 17% นอกจากนี้ จากรายงานของกลุ่มผู้ประกอบการพบว่า รูปแบบพฤติกรรมการบริโภคได้เปลี่ยนไปโดยคนส่วนใหญ่มักจะเปลี่ยนไปเลือกทางเลือกที่ถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่น the National Restaurant Association รายงานว่าในช่วง subprime crisis ยอดขายไวน์แบบขวดลดลงแต่ยอดขายไวน์แบบแก้วเพิ่มมากขึ้น หรือ the Beer Institute รายงานว่ายอดขายเบียร์ในร้านอาหารลดลงแต่ยอดขายที่ discount store กลับเพิ่มสูงขึ้น

 

อุตสาหกรรมลูกกวาด

 

เช่นเดียวกับกับเหล้าและบุหรี่ ลูกอมก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเติมความหวานให้กับชีวิตในช่วงยากลำบากในราคาที่ทุกคนรับได้ อย่างช็อคโกแลต Snickers ที่วางขายทุกวันนี้เองก็เกิดขึ้นในช่วงของ the great depression ในปี 1930 หรือบริษัท Hershey ผู้ผลิตช็อคโกแลต Hershey รายงานว่ายอดขายในช่วงปี 2007-2009 เพิ่มขึ้นกว่า 2% ในขณะที่อัตราการว่างงานของคนสูงกว่า 10% 

 

The statics 

 

ในขณะที่ธุรกิจบางอย่างเติบโตได้ดีในช่วง boom หรือแม้กระทั่งใน bust  ก็ยังมีธุรกิจบางประเภทที่มีลักษณะค่อนข้าง static  นั่นก็คือไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไร ราคาจะขึ้นลงเท่าใด คนก็ยังต้องบริโภคอยู่ดี เช่น ยา healthcare ไฟฟ้า น้ำประปา ทำให้ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังพอไปต่อได้ ถึงจะร่วงก็ไม่ร่วงมากเท่ากับค่าเฉลี่ย ยกตัวอย่างเช่น ค่า correlation ที่วัดได้ในหลายประเทศของ final product demand ของธุรกิจโรงพยาบาล แก๊สหุงต้มกับ GDP มีค่าเพียง -0.07 0.06 ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจมากนัก

 


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง