อารมณ์ของนักลงทุนเวลาเห็นหุ้นในพอร์ทตัวเองราคาตกลงมาเรื่อยๆ กระทั่งขาดทุน 10%...20%...30%...มันช่างทรมานใจ ใครไม่เคยเจอนี่ถือว่าโชคดีมากๆ ครับ พอหุ้นลงไปมากๆ ก็พาลให้อยากจะตัดขายขาดทุนออกไปให้จบๆ เรื่อง เพราะเห็นพอรท์แดงทีไรแล้วใจจะขาด ผมเองก็เคยเจอ จึงอยากจะเล่าประสบการณ์เล็กน้อยของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟังครับ
ครั้งแรก เมื่อ 12 ปีก่อน (ปี 2544) ผมลงทุนครั้งแรกในชีวิต ในหุ้นตัวเดียว วิเคราะห์อย่างดี ซื้อได้ 2 เดือน เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ในเหตุการณ์ 9/11 ผลคือติดหุ้นอยู่นานเกือบ 3 ปี ดูทีไรก็ติดลบ 35%-40% ทนทรมานเห็นพอรต์แดงอยู่นาน
ครั้งที่สอง เมื่อ ธันวาคม 2549 มาตรการกันสำรองของแบงค์ชาติเกิด Panic Sell รุนแรง กว่าจะปิดตลาดก็ลดลง 108.41 จุด หรือ 14.84% เป็นชื่อมาของเหตุการณ์วันนั้นว่า “อุ๋ย ร้อยจุด” วันนั้นผมได้ตัดสินใจโง่ๆ ด้วยการขายหุ้นดีแบบไม่ควรขายไป
ครั้งที่สาม เมื่อ 4-5 ปีก่อน (พฤศจิกายน 2551) เกิดวิกฤตซับไพร์ม หุ้นลงอย่างหนัก บางวันเกิน 10% เซอร์กิตเบรคเกอร์ทำงานติดๆ กันจากเกือบ 700-900 จุด เข้าขาลงเป็นเดือนๆ มาต่ำสุดที่ 380 จุด ช่วงนั้นผมไม่ได้ตัดสินใจอะไร อยุ่เฉยๆ แต่ความรู้สึกด้านชา หน้าหยิกไม่เจ็บไปหลายวัน
พูดไปพูดมาก็เลยนึกถึงเรื่องราวชองชาวไซย่า จากการ์ตูน ดรากอนบอลล์ ซึ่งเป็นการ์ตูนสุดฮิตของเด็กชาย GEN X ครับชาวไซย่าเป็นสุดยอดแห่งนักรบจักรวาลทุกครั้งที่ผ่านการต่อสู้บาดเจ็บบางตายหากได้กิน “ถั่วเซียน” หรือ ถั่วเซนซึ (Senzu Bean) ก็จะสามารถช่วยรักษาบาดแผล และอาการเจ็บปวดทุกประเภทได้ ไม่ว่าตัวละครนั้นจะไกล้ตายขนาดไหนก็ตาม ยิ่งถ้าบาดเจ็บบ่อยๆ หากฟื้นกลับคืนมาได้ ก็จะมีพลังเก่งกาจเท่าเป็นทวีคูณ ยิ่งรบบ่อยบาดเจ็บหนักๆ แล้วรอดมาได้บ่อยๆ ก็จะกลายเป็นสุดยอดนักรบในตำนาน “ซูปเปอร์ไซย่า”
นักลงทุนก็เช่นเดียวกัน จะพลาดพลั้งบาดเจ็บกี่ครั้ง พอร์ทเสียหายแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องรอดออกมาได้ ซึ่งวิธีรอดง่ายที่สุดก็คือมีเงินสดไว้ซื้อโอกาสตอนวิกฤต สำหรับผม “ถั่วเซียน” คือ “เงินสด” ครับ ทุดครั้งที่พอร์ทเสียหาย ตราบใดที่เรายังมีเงินสดสำรอง มีรายได้จากการทำงาน มีรายรับจากธุรกิจ มีค่าเช่า มีเงินปันผล ฯลฯ ก็ไม่ต้องกลัวครับ ขอให้เชื่อว่าเราจะกลับมาได้เสมอ ขอเพียงมองโลกในแง่ดี และมีกำลังใจ
แต่หากยังคงมีอาการ “จิตตก” ช่วงหุ้นตกควรทำอย่างไร ? ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ในวงการงทุนเล่าให้ฟังว่า เวลาที่หุ้นในพอร์ทของท่านราคาตกมากๆ ท่านจะใช้วิธี “ไปดูร้าน เยี่ยมชมกิจการ” เช่น ถ้าถือหุ้น CPALL ก็ไปเดินดูห้างเซเว่นอีเลฟเว่นแถวบ้านนั่นแหละ เข้าไปในร้านก็จะเห็นว่าคนก็ยังมาใช้บริการ มาซื้อของกิน มาซื้อน้ำ ซื้ออาหารเหมือนเดิม หรือ อาจจะเป็นหุ้น PS บ้านพฤกษา เราลองไปเยี่ยมชมสำนักงานขายตามโครงการต่างๆ ไปดูว่ายอดจองยังดีอยู่หรือไม่ โครงการก่อสร้างดำเนินตามปกติเหมือนเดิมหรือไม่ หรืออาจจะเป็นหุ้น ADVANC เราอาจเดินไปดูห้างมาบุญครองชั้น 4 ไปเดินดูซิมของ AIS ยังขายดีเหมือนเดิมมั้ย ศูนย์บริการมีลูกค้ามาใช้บริการมีคนมาจ่ายเงินไม่ขาดสายหรือไม่
“เมื่อเราไปเห็นกิจการแท้ๆ แล้วพบว่าธุรกิจยังไปได้ดี ก็ไม่ต้องไปกลัวครับ ถ้าราคาลงมามากๆ อาจจะต้องซื้อเพิ่มด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้วเราจะจิตตกไปทำไม?”
อีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาจิตตกช่วงหุ้นตกก็คือสำรวจความเจ็งของหุ้นที่เราถือ ว่ามันดีพอที่จะไปต่อระยะยาวได้หรือไม่ ด้วยคำถามง่ายๆ กับคนรอบตัวเรา เช่น
ถ้าหิวๆ อยากไปหาร้านอิ่มสะดวก นึกถึงร้านอะไร?
ถ้าสุดสัปดาห์อยากไปเดินห้าง คุณจะเลือกเดินห้างอะไร?
ถ้าอยากไปซื้อซิมเปิดเบอร์ใหม่ให้ญาติ จะไปซื้อซิมเจ้าไหน?
ถ้าปวดหัว ตัวร้อน ทำฟัน ยัน คลอดลูก จะเข้าโณงพยาบาลไหน?
คำตอบของคำถามเหล่านี้จะเป็นตัวชี้ว่า หุ้นที่เราถืออยู่มีความยอดเยี่ยมอยู่ในใจลูกค้า มากน้อยเพียงใด ยิ่งข้อไหมีแต่คนตอบซื้อหุ้นเดียว ซ้ำๆ กันออกมา เรียกว่าหุ้นตัวนั้นมีพลังการผูกมัดใจลุกค้า (Monopolistic Power) ดีเยี่ยมนั่นเอง
ถ้าเราครอบครองหุ้นประเภทนี้อยู่ แม่ว่าราคาจะผันผวนลงแรง ราคาร่วง ลงมาบ้าง คำถามก็คือแล้วจะจิตตกไปทำไม?
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือเราต้องสร้างทัศนคติของการเป็นเจ้าของกิจการให้ได้ ขอให้มีความเชื่อเรามีส่วนเป็นเจ้าของบริษัทดีๆ พื้นฐานกิจการดี ฐานะทางการเงินดี มีการเจริญเติบโต จ่ายปันผลสม่ำเสมอ สามารถเลี้ยงเราได้ตลอดชีวิตครับ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "ติวหุ้นรวยด้วย วีไอ" หากท่านสนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่
https://www.stock2morrow.com/publishing/bookdetail.php?id=30