ถือว่าเป็นหุ้นใหญ่อีกตัวที่สร้างความ "ผิดหวัง" ให้กับนักลงทุนรายย่อยมาตลอดรายปี นับตั้งแต่จุดสูงสุดของหุ้นที่ 40 บาท ในปี 2555 และร่วงลงมาแตะระดับ 20 บาท แกว่งตัวออกข้างมาอย่างยาวนานเกือบ 7 ปี
CPF ทำธุรกิจอาหารครบวงจรต้ังแต่ทำธุรกิจอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงอาหารคน มีธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนรายได้ 70% ในต่างประเทศ และรายได้ 30% ในไทย โดยบริษัทเน้นว่าจะพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้มากขึ้น และจะเน้นหนักไปที่ธุรกิจอาหารคนที่มีอัตรามาร์จิ้นที่สูงขึ้น
แต่ทำไม CPF ถึงไม่วิ่ง เป็นสิ่งที่คาใจนักลงทุนรายย่อยมาโดยตลอด !!
ต้องยอมรับว่า CPF ผ่านวิกฤตมามากมายตั้งแต่เรื่องโรคกุ้งตายด่วนเป็นปัจจัยกดดันหุ้น CPF ให้ขาดทุนมาหลายปี ราคาหมู ราคาไก่ สลับกันตกต่ำ ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นธุรกิจที่มีอัตรามาร์จิ้นบาง รวมไปถึงการใช้เงินไปกับการลงทุนธุรกิจปลายน้ำเยอะมาก โดยบริษัทมีการเพิ่มทุนในช่วงที่ผ่านมา ... ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกดดันให้หุ้น CPF ไซด์เวย์ไม่ไปไหนนานถึง 7 ปี สร้างความ "เบื่อหน่าย" ให้กับนักลงทุนจำนวนมาก
ผ่านมาหลายปี CPF เริ่มเก็บเกี่ยวจากธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น ราคาหมู ราคาไก่ฟื้นตัวดีขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวลง เรียกได้ว่าสถานการณ์กลับมาดูดี นักวิเคราะห์หันกลับมาโฟกัสหุ้น CPF กันอีกครั้ง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมหุ้น CPF ถึง Outperform ได้ดีกว่าตลาด ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบเกือบ 3 ปี เพราะเป็นการสะท้อนว่าธุรกิจต่างๆของ CPF เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น ...
เห็นได้ชัดจากงบไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมา บริษัทมีกำไร 4.1 พันล้านบาท โดยผู้บริหารให้มุมมองว่าเมื่อพ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคที่เวียดนามและจีน อีกทั้งบริษัทในตุรกีพลิกฟื้นผลประกอบการที่ไม่ขาดทุนแล้ว คาดว่า CPF จะทำกำไรได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าบริษัททำผลงานได้ดีขึ้นทุกส่วนงาน ซึ่งเห็นแล้วว่าภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติในช่วงครึ่งปีแรกยังสามารถทำกำไรได้ดี
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าในช่วงครึ่งปีหลังปัจจัยลบของ CPF มี 2 เรื่องสำคัญคือ
1.) ค่าเงินบาทแข็ง เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก รวมถึงการแปลงค่าเงินสกุลต่างประเทศกลับมาเป็นเงินไทยจะน้อยลง
2.) สถานการณ์โรคอหิวาห์หมูระบาดยังไม่หายไปทั้งหมดจากเวียดนามและจีน ซึ่งปัจจุบันการแพร่ระบาดแพร่ประปรายเข้ามาในลาวและกัมพูชาบ้าง แต่ไม่เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ความต้องการในการบริโภคเนื้อหมูอยู่ในภาวะปกติ
ส่วนปัจจัยบวกของ CPF คือเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดและกากถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลงในขณะที่ตลาดในเอเชียขยายตัว และคาดว่าตลาดญี่ปุ่นก็คาดว่าจะกลับมามีความต้องการสูงขึ้นในช่วงโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2020
เรามาดูกันว่านักวิเคราะห์มองอย่างไร ... ?
บล.หยวนต้า วิเคราะห์ว่าราคาหมู และไก่ปรับตัวขึ้น ในขณะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวลง จะส่งผลบวกต่อ CPF โดยเฉพาะในเรื่องการส่งออกไก่ไปประเทศจีน และโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในปีหน้า ให้คำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 37.5 บาท
บล.เอเชียเวลท์ มองว่า CPF จะมีธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก โดยผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมาถือว่าดูดีมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี อีกทั้งบริษัทมีการเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่โดยจะเน้นหนักไปที่ธุรกิจ Food ให้มากขึ้นซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นดี ลดความเสี่ยงจากธุรกิจ Feed และ Farm อย่างไรก็ตามมีการเปลี่ยนคำแนะนำจากขายเป็น "ซื้อ" โดยให้ราคาเหสมาะสมที่ 31 บาท
บล.เอเชียพลัส แสดงความเห็นว่าธุรกิจหลักฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศ ภาพรวมของธุรกิจในครึ่งปีหลังออกมาดูดีต่อเนื่องนำโดยธุรกิจไก่และหมู ที่จะส่งออกไปจีนและญี่ปุ่น ธุรกิจเวียดนามเห็นสัญญาณฟื้นตัว ราคาหมูเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ธุรกิจที่จีน รัสเซีย ตุรกี และกัมพูชายังมีผลการดำเนินงานที่ดี แนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเหมาะสม 35 บาท ล่าสุดการประกาศจ่ายปันผล 0.3 บาท คิดเป็นอัตรา 1.1% งวด 1H62
บล.คันทรี่กรุ๊ป มองผลประกอบการล่าสุดดีกว่าคาดมากๆ ให้คำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 30.25 บาท
เป็นหุ้นอีกตัวที่น่าสนใจเพราะสถานการณ์ของ CPF กลับมาดูดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามโดยพื้นฐานหุ้น CPF เป็นคอมโมดิตี้ ที่ราคาสินค้าบริษัทไม่สามารถควบคุมได้ ต้องอาศัยราคาตลาดโลกในการอ้างอิง แต่ทางผู้บริหารจะเน้นไปที่ธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากเรื่องของธุรกิจ Feed และ Farm
หรือนี้อาจจะเป็นจุดต่ำสุดของหุ้น CPF ก็อาจจะเป็นไปได้ นักลงทุนต้องติดตามอย่างต่อเนื่องครับ ...