ปัจจุบัน มีคนให้ความสนใจ ใฝ่หาความรู้ด้านการลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากการที่มีหนังสือ และการอบรมด้านการลงทุนออกมามากมาย แต่ยังมีหลายคนที่เข้าใจผิดคิดว่า “การลงทุน” กับ “การเก็งกำไร” เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ติดกับดักทางความคิดตนเอง เข้าใจผิดไปว่า การลงทุนในตลาดหุ้น ต้องซื้อๆ ขายๆ ทำกำไร เป็นหนทางที่จะ “รวย” ได้
ที่ถูกต้องเราควรมองการลงทุน เป็นการเอาเงินไปซื้อสินทรัพย์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นการเปลี่ยนจากการลงทุนแบบอื่น แล้วย้ายเงินมาลงทุนในหุ้น เราก็ควรเทียบเคียงผลตอบแทนที่ได้ในลักษณะเดิมก่อน ยกตัวอย่าง ถ้าเราเอาเงินใส่ไว้ในบัญชีธนาคาร จะเป็นออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ผลตอบแทนที่เราได้ก็คือดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยมันให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า การโยกเอาเงินออกไปซื้อหุ้น เพื่อทดแทนการฝากเงิน ก็ควรเปรียบเทียบกับการซื้อหุ้นที่ให้ปันผลสูง ส่วนใครที่เคยซื้อพวกที่ดิน ทองคำ หรือของโบราณที่มีมูลค่าสะสมเก็บไว้ เมื่อเวลาผ่านไปสินทรัพย์เหล่านี้ ก็มีมูลค่าสูงขึ้น เราที่เป็นเจ้าของจะขาย หรือจะถือเก็บไว้ต่อก็ได้ ก็ไม่แตกต่างกับการซื้อหุ้นของบริษัทที่มีกิจการมั่นคง มีมูลค่ากิจการที่เติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างนี้ถึงเป็น “การลงทุน”
การที่มองว่าซื้อหุ้นในราคาต่ำ เพื่อไปขายในราคาสูง หรือซื้อหุ้นในราคาที่ค่อนข้างสูงเพื่อไปขายในราคาที่สูงขึ้นไปอีก แบบนี้เป็น “การเก็งกำไร” หรือที่หลายคนเรียกว่า “การเทรด” ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากการที่เราเปิดร้านค้า รับของมาในราคาทุน หรือในราคาขายส่ง แล้วก็ขายออกไปในราคาที่เรามีกำไร ในการเทรดหุ้นก็คล้ายกัน เราเป็นร้านค้าปลีก ที่มีสินค้าคือ ราคาหุ้น ซึ่งก็เป็นการทำการค้า หรือทำธุรกิจ อีกแบบหนึ่งนั่นเอง วันไหนไม่ขายของ ก็ไม่มีรายได้ ไม่มีกำไร ซื้อของราคาทุนสูงไป หรือไปซื้อของที่ไม่มีใครสนใจก็ขายไม่ออก ก็ต้องยอมขายขาดทุน เพื่อเอาเงินสดมาหมุนในการค้าต่อไป
ดังนั้น การลงทุน กับการเก็งกำไร ก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่มุมมอง วิธีการ และทักษะที่ต้องใช้ แต่ก็ไม่สามารถแยกกันได้อย่างเด็ดขาด ทั้งสองด้านก็ยังมีส่วนช่วยเหลือกัน การเป็น “นักลงทุน” เราต้องมีมุมมองในการเลือกหุ้นที่กิจการเติบโตในระยะยาว หรือมีความสามารถในการจ่ายปันผลได้อย่างต่อเนื่อง แต่การเทรดก็มาช่วยในการจับจังหวะการซื้อขายได้ดีขึ้น ส่วน “นักเก็งกำไร” หรือที่เรียกว่า “เทรดเดอร์” จะซื้อขายทำกำไร โดยไม่ดูข้อมูลปัจจัยพื้นฐานประกอบการตัดสินใจเลย ก็อาจจะพบความผิดพลาดในการวางกลยุทธ์การซื้อขายที่ดีไปได้ เพราะหุ้นที่มีพื้นฐานดีเติบโต อาจจะไม่ต้องซื้อขายกันบ่อยนัก เพราะสามารถซื้อถือไว้ได้นาน ค่อยรอไปขายเอากำไรคำโต ส่วนหุ้นที่กิจการไม่ค่อยดีก็อาจจะมีความผันผวนของราคามากกว่า รอบการซื้อขายทำกำไร ก็จะสั้นกว่า สุดท้ายก็อยู่ที่แต่ละคนจะให้ความสำคัญกับด้านใดมากกว่ากัน แล้วปรับสมดุลของการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง
แต่สิ่งที่นักลงทุนมักจะพากันไปติดกับดัก คือความตื่นเต้นของการทำกำไร เวลาที่เลือดมันสูบฉีด หัวใจมันบีบคั้น และราคาที่ตั้งขายไว้ได้กำไร สร้างความเร้าใจจนหลายคนกลายเป็นเสพติดการเทรด วันไหนไม่ได้ซื้อขายเหมือนชีวิตมันขาดอะไรไป นั่งเฉยๆ ไม่ได้ ขอให้ได้ส่งคำสั่งซื้อขายสักหน่อย มีหุ้นไว้ลุ้นกำไรสักนิด จนลืมความตั้งใจเดิมที่จะเงินที่เอามาลงทุนในตลาดหุ้นไปหมด
ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องค้นหาแนวทางการลงทุนของตนเองให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ และเวลาที่มีให้กับการลงทุนได้ ลองดูตารางด้านล่างนี้ ว่าเราเหมาะสมกับการลงทุนแบบไหน
ไลฟ์สไตล์กับการลงทุน
Day Trader จะจับจังหวะราคาหุ้นวิ่งรุนแรงในช่วงที่ตลาดคึกคักระหว่างวัน และซื้อขายทำกำไรอย่างรวดเร็ว ซื้อและถือหุ้นไว้เพียง 1-2 วัน หรือไม่กี่ชั่วโมง ก็จะขายทำกำไรออกไป
Swing Trader จะใช้กราฟเทคนิคหาหุ้นที่กำลังพักตัว หรือกำลังจะเริ่มวิ่ง แล้วจับจังหวะเข้าซื้อ และขายออกเมื่อราคาเข้าเป้าหมายทำกำไร หรือราคาเริ่มแสดงการอ่อนแรง เข้าซื้อขายทำกำไรเป็นรอบ แต่ละรอบกินเวลา 5 -15 วัน หรือ ไม่เกิน 4-5 สัปดาห์
System Trader จะสร้างระบบการเทรดที่มีหลักเกณฑ์ในการซื้อขายหุ้น ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคอล หรือข้อมูลเชิงสถิติจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ แล้วนำมาทดสอบวัดผลจากข้อมูลตลาดในอดีต และทดสอบในตลาดจริงจนมั่นใจ ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ แล้วจึงนำระบบนั้นไปใช้ในการเทรด ซึ่งจะเทรดด้วยมือ หรือเทรดด้วยระบบส่งคำสั่งอัตโนมัติก็ได้
Trend Follower จะดูข้อมูลปัจจัยพื้นฐานของหุ้นในการเลือกหุ้นที่จะเข้าลงทุน และใช้กราฟเทคนิคมาจับจังหวะการเกิดเทรนด์ขาขึ้น เข้าซื้อ และถือไปเรื่อยจนกว่าราคาจะเปลี่ยนเป็นขาลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่แย่ลง
Value Investor จะเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของกิจการ เลือกหุ้นของกิจการที่มีการเติบโต หรือให้ปันผลสูง ประเมินมูลค่าของกิจการที่ควรจะเป็นในอนาคต และเข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่า ถือหุ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการถดถอยของกิจการ
จะเห็นว่าในแต่ละรูปแบบ มีการเลือกหุ้นแตกต่างกัน วิธีการซื้อขายต่างกัน เทคนิคเครื่องมือที่ใช้ตัดสินใจก็ต่างกัน หุ้นบางกลุ่มบางตัวอาจจะเหมาะกับ Day Trader หรือ Swing Trader แต่หุ้นบางกลุ่มกลับเหมาะกับ Trend Follower หรือ Value Investor มากกว่า ความผิดพลาดของนักลงทุนที่พบได้บ่อยคือ เลือกหุ้นที่ไม่เหมาะกับตนเอง ไม่มีเวลาเฝ้าราคา แล้วไปเลือกหุ้นที่ขยับเร็ว ก็เข้าซื้อได้ แต่ขายไม่ทัน หรือชอบตัดสินใจเทรดเอง แต่ไปเลือกเครื่องมือที่เป็นระบบ สุดท้ายก็ไปแหกกฎของระบบเทรดเสียเอง
หลังจากที่เราเข้าใจตัวเราเองแล้วว่าควรจะลงทุนแบบไหน ค่อยมาถึงการเลือกเครื่องมือ และเทคนิคการซื้อขายหุ้นที่เหมาะสม รวมถึงเลือกกลุ่มหุ้นที่เราควรเฝ้าจับตาดู ถ้าหุ้นที่ไม่ใช่สไตล์ของเราขยับวิ่งก็ไม่ต้องไปสนใจ ส่วนการเลือกเครื่องมือในการใช้งาน หรือเทคนิคในการซื้อขาย วิธีง่ายที่สุดเลย คือ ให้มองหาว่านักลงทุนที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จคนไหน ที่เป็นสไตล์แบบเดียวกับเรา ให้ศึกษาเลียนแบบจากวิธีการของเขา หรือถ้าเขามีอบรมบรรยาย ก็ให้ติดตามไปเรียนรู้วิธีการ และประสบการณ์จากเขา จะทำให้เราลงทุนอย่างถูกแนวทางได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกหลงทาง เสียทั้งเงินและเวลา
เคล็ดลับการลงทุนน่ารู้
องค์ประกอบที่สำคัญในการลงทุนให้ได้กำไร มีประเด็น ดังนี้
- เรียนรู้ และสะสมประสบการณ์ในการลงทุนจริง เทรดจริง
- การประเมินความคุ้มค่ากับความเสี่ยงในการเข้าลงทุนหุ้นแต่ละตัว
- การวางแผนการเทรด และการเทรดตามแผน
- วางแนวทางในการจัดการเงินทุน และการควบคุมความเสี่ยง
- ต้องมีการบันทึก และวิเคราะห์ทบทวน พัฒนาการลงทุนของตนเอง
"ซึ่งหากลงมือทำอย่างจริงจังในทุกขั้นตอนที่กล่าวมานี้ ก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้แน่นอน"