#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

2 ประเด็นชี้ชะตา Libra

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
72 views

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งโลกต่างต้องจับตามองเมื่อ Facebook ที่มี monthly active users กว่า 2.4 พันล้านคนได้ประกาศว่าจะสร้างเงินคริปโตของตัวเอง โดยจะใช้ชื่อว่า Libra

จึงเกิดคำถามขึ้นมามากมาย ว่า Libra จะเข้ามาแทนที่เงินคริปโตอื่นๆ อย่าง bitcoin ไหม และจะมีผลต่อชีวิตผู้คนทั่วไปอย่างไร และ บทบาทของธนาคารกับธนาคารกลางจะเปลี่ยนไปอย่างไร

บทความนี้จะทบทวนว่า Libra คืออะไรแบบสั้นๆ และจะให้มุมมอง 2 มุมมองที่จะมากำหนดชะตากรรมของสกุลทางเลือกใหม่นี้

ทบทวนว่า Libra คืออะไร?

Libra เกิดจากความร่วมมือระหว่าง the libra association ซึ่งประกอบไปด้วยพันธมิตรหลัก 28 บริษัทยักษ์ใหญ่จากหลาย ๆ sector ทั้งกลุ่ม Online platform อย่าง Spotify Uber Ebay กลุ่ม Payment gateway อย่าง VISA MasterCard กลุ่มโทรคมนาคมอย่าง Vodaphone รวมถึงกลุ่ม Cryptocurrency startup อย่าง Coinbase

หลักการของ Libra มีความคล้ายคลึงกับ Stablecoin นั่นคือมีการผูกค่าไว้กับตะกร้าสินทรัพย์อย่างเงินสดและพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินที่ค่อนข้าง stable เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ ยูโร ฟรังค์และเยน เป็นต้น 

ที่สำคัญคือทุก Libra จะมีสินทรัพย์ back อยู่ข้างหลัง ไม่ได้เสกขึ้นมาหรือขุดขึ้นมาได้เฉยๆ ทำให้มันมีคุณสมบัติแตกต่างจากเงินคริปโตชนิดอื่นๆ พอสมควร อีกทั้งการถูกหนุนด้วยพันธมิตรจำนวนมากขึ้นเรื่ยๆ ก็ทำให้มีการันตีว่าจะมี “ที่ให้ไปใช้จ่าย” มากขึ้น ไม่ถูกทิ้งเป็นเงินคริปโตที่ไร้ความหมายเอาไว้เก็งกำไรไปวันๆ

นอกจากนี้แล้ว ผู้พัฒนายังได้พัฒนา Calibra หรือ e-wallet สำหรับ Libra เพื่อสร้าง seamless user experience อย่างที่คุ้นเคยในแอพพลิเคชั่น Wechat ของจีนที่ผู้ใช้สามารถโอนเงินหรือชำระค่าสินค้าได้เลยภายในแอพลิเคชั่นเลย 

ในกรณีของ Libra ผู้ใช้เองก็สามารถแลกเงินเป็น Libra หรือทำธุรกรรมอื่น ๆ ผ่าน Facebook messenger ของพันธมิตรอย่าง Paypal หรือแม้กระทั่งตัดยอดค่าโทรศัพท์เพื่อใช้แลกเป็น Libra ผ่านพันธมิตรที่เป็นโทรคมนาคมอย่าง Vodaphone ได้เลย

แปลว่า 1) การรับส่งเงินจะง่ายเหมือนการรับส่งข้อความบน Line ในไม่ช้า และ 2) การรับส่งเงินจะมีต้นทุนที่น้อยลงและเป็นธรรมสำหรับคนทั่วไปขึ้น (การคำนวณของ Facebook พบว่าในปัจุจบันมูลค่าของค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดรวมกันมีค่าสูงถึงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ประเด็นที่ 1: พันธมิตร

ความสำเร็จของสกุลเงิน ไม่ว่าจะสกุลทั่วไปหรือสกุลคริปโต ขึ้นอยู่กับหลักการและความสามารถของผู้มีอำนาจบังคับและดำเนินนโยบายการเงิน

libra

ในกรณีของ Libra ทิศทางข้างหน้าของมันขึ้นอยู่มากๆ กับการตัดสินใจร่วมกันของพันธมิตรใน Libra Association ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเรื่องการเลือกผูก Libra กับตะกร้าสกุลเงินใด การนำสินทรัพย์ไปลงทุน การเปิดบริการใหม่ๆ หรือการนำข้อมูลธุรกรรมไปใช้งาน

เรามองพฤติกรรมของพันธมิตรได้ผ่าน 3 มิติหลักๆ

มิติแรก พันธมิตรจะได้รับส่วนแบ่งของอัตราตอบแทนจาการนำสินทรัพย์ที่อยู่เบื้องหลัง Libra แต่ละเหรียญไปลงทุน ซึ่งต้องดูกันว่า เมื่อมีเงินถาโถมเข้ามาใส่ Libra มากๆ อุดมคติในการรักษาความปลอดภัยกับความกระหายหา yield แรงไหนจะมากกว่ากัน

มิติที่สอง พันธมิตรจะได้รับสิทธิ์ในการออกเสียงในที่ประชุม ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีการกำหนดว่า พันธมิตรรายหนึ่งจะมีเสียงได้ไม่เกิน 1% (ไม่ว่าจะลงเงินมากแค่ไหน) เพื่อป้องกันมิให้ระบบถูก take over โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง การออกเสียงโหวตนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำคัญมากต่ออนาคตของเงิน การคัดเลือกพันธมิตรจึงมีความสำคัญมาก

มิติที่สาม พันธมิตรหวังได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากการสนับสนุนให้ Libra ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะมีการออกมายืนยันว่าข้อมูลผู้ใช้ Libra จะไม่มีการเชื่อมต่อกับบัญชีของ Facebook ในการทำ Ad targeting  ทว่า Facebook และกลุ่ม partner ยังกุมข้อมูลธุรกรรมและการใช้จ่ายของผู้ใช้อยู่และสามารถใช้ประโยชน์ของข้อมูลเหล่านี้ได้

อีกหนึ่งประโยชน์ต่อกลุ่มพันธมิตรก็คือการขยายกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Online service provider อย่าง Spotify Uber ที่ต้องใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าบริการทำให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิตไม่สามารถใช้บริการได้ Libra จึงเป็นกุญแจไขประตูให้กลุ่ม Online service provider สามารถเข้าถึง Market segment ใหม่ๆ มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เป้าหมายระยะยาวของ Facebook คือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ advertising platform ของ Facebook เอง โดยยึดหลักที่ว่าหากผู้ใช้ Libra มีมากขึ้นจะส่งผลให้ Facebook มี engagement กับลูกค้ามากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เหล่าธุรกิจอยากเข้ามาโฆษณาบน platform ดังกล่าวมากขึ้น

ประเด็นที่ 2: ภาครัฐจะว่าอย่างไร

จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ “การปล่อยไปตามกลไกตลาด” มีประโยชน์จริงในบางครั้ง แต่ก็มีโทษมหันต์ในบางครั้ง

การมาของ Libra นับว่าเป็นการปลดล๊อคข้อจำกัดของเงินตราสำหรับผู้คนหลานพันล้านคน ซึ่งจำนวนไม่น้อยไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สามารถจ่ายค่าธุรกรรมข้ามสกุลแพงๆ ได้  ธุรกิจที่คอยหาทางเจาะคนกลุ่มนี้มานานก็จะเริ่มมีช่องทางใหม่ เรียกได้ว่าดูจากผิวเผินแล้วมันดีต่อทุกฝ่าย

คำถามคือ ภาครัฐผู้มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่และความปลอดภัยของระบบการเงินเดิมจะมีประเด็นกับระบบการเงินแบบ private แบบ Libra ในแง่มุมไหนบ้าง

อันดับแรกคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจสมาชิก Libra Association พันธมิตรเหล่านี้ส่วนมากมีตัวตนเพื่อแสวงหากำไรให้กับ shareholders (ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรในโลกทุนนิยม) แต่การที่ผู้ควบคุมระบบการเงินที่จะมีขนาดใหญ่กว่า GDP บางประเทศ ล้วนแสวงหากำไร จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรหรือไม่ในอนาคต

อันดับที่สองคือการรับมือกับ crisis แม้ว่าทุกๆ Libra จะถูกหนุนด้วยสินทรัพย์จริงๆ เมื่อเกิด crisis บางอย่างขึ้นมากับ Libra หรือกับสกุลเงินที่เป็นสกุลหลักในตะกร้า Libra Association จะมีมาตรการอะไรบ้างในการรับมือกับ crisis เหล่านี้ เนื่องจากพันธมิตรทุกรายไม่น่าจะมี skin-in-the-game ในสัดส่วนเท่ากันเมื่อเกิด crisis ใน real sector การตัดสินใจร่วมกันเป็นกลุ่มอาจมีการชะงักได้

อันดับที่สามคือผลกระทบต่อการบริหารสกุลเงิน local โดยทั่วไปแล้วธนาคารกลางพอจะมีความสามารถใจการสกัดหรือควบคุมค่าเงินให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมกับสภาพของเศรษฐกิจได้ ปัญหาคือหากสกุลเงิน local กำลังถูก attack หรือเกิดความไม่มั่นใจเกิดขึ้น ธนาคารกลางจะไม่สามารถควบคุม capital outflow ได้เท่าเดิมหากผู้คนขายเงินแล้วซื้อ Libra แทน ยิ่งทำให้เงินสกุลที่กำลังมีปัญหามูลค่ายิ่งดิ่งลงไปอีก

“โลกที่ไม่มีธนาคารกลาง” ฟังแล้วดูห่างไกลแต่ด้วยช่องทางเชื่อมต่อกับผู้คนหลายพันล้านคน มันอาจไม่ได้ไกลขนาดนั้น

ยกเว้นในสหรัฐฯ ทัศนคติของ Policy maker ส่วนใหญ่ยังเป็นไปในด้านบวก   Mark Carney เองได้ให้สัมภาษณ์ว่า BoE เองค่อนข้างเปิดใจกับการเข้ามาของ Libra พร้อมทั้งยังสนับสนุนการเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลนี้เนื่องจากจะช่วยสร้างนวัตกรรมให้กับ Financial industry แต่กระนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปล่อยให้มีช่องว่างของกฎเกณฑ์และจะควบคุมอย่างเคร่งครัดหากมีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น

ธนาคารกลางมีหน้าที่ควบคุมรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ระดับของราคาสินค้าและบริการ และอัตรา employment (ในบางประเทศ) เพื่อประเทศชาติ  สามารถทำทุกอย่างด้วยกำลังที่มีเพื่อฟื้นคืนชีพภาคธนาคารหลัง crisis

คำถามที่ยังเร็วเกินกว่าจะตอบได้คือเงินคริปโต profile งามอย่าง Libra มีกลไกอะไรที่จะทำหน้าที่ได้ดีกว่าธนาคารกลาง และหากการมาของ Libra จะกระทบต่อเงินสกุลหลักจริง จะมีการต่อรองและการทำงานระหว่าง Libra association กับธนาคารกลางอย่างไรบ้าง ต้องติดตามต่อไปครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง