
“อนาคต ITEL เติบโตแข็งแกร่ง หวังพิชิตมาร์เก็ตแคป 1 หมื่นล้านบาท”
บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้งาน เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว เพื่อเข้าถึงปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล ใช้ในการต่อยอดทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ นี่ถือเป็นโอกาสอันมหาศาลในมุมมองของ ณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL หนึ่งในผู้ให้บริการโครงข่ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ณัฐนัยในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างการเติบโตให้กับ ITEL และยังมุ่งหวังที่จะขยับมาร์เก็ตแคปของบริษัทขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาทในอนาคต เพื่อเป็นบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ ก่อนก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยในที่สุด
แก้โจทย์รายได้ สร้างการเติบโต
ITEL เกิดขึ้นจากการมองเห็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างออฟฟิศสำนักงานของผู้ใช้งาน พร้อมรองรับการพัฒนาและเติบโตของระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งมีความต้องการระบบโครงข่ายเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลที่มีเสถียรภาพสูงและสามารถรองรับการรับ-ส่งข้อมูลตามความต้องการลูกค้า (Customization) รวมไปถึงการให้บริการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมแบบครบวงจรตั้งแต่ การให้คำปรึกษา ออกแบบ และดำเนินการติดตั้งโครงข่าย และสานต่อธุรกิจของครอบครัว บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK (บริษัทแม่) ซึ่งมีนโยบายการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ (Reorganization) เพื่อต่อยอดจากธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้าและค้าส่งอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก โดย ITEL นำความเชี่ยวชาญของ ILINK มาต่อยอดความรู้ด้านวิศวกรรมซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในช่วงเวลานั้นมาผสานเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่แยกโตออกมาจากธุรกิจเดิมของครอบครัว หากด้วยแนวคิด วิธีการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ ก็ยังถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ ณัฐนัย อนันตรัมพร
ITEL เริ่มดำเนินธุรกิจ ในช่วงเวลาเดียวกับที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยเปิดแข่งขันอย่างเสรี และมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน รวมถึงเทคโนโลยีโทรคมนาคมได้เริ่มเปลี่ยนแปลงจากให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านสายทองแดง ก้าวสู่เทคโนโลยีโครงข่ายใยแก้วนำแสง หรือไฟเบอร์ออพติก สามารถรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วและมีเสถียรภาพมากขึ้น จุดเปลี่ยนนี้เองที่ทายาทรุ่น 2 มองเห็นเป็นจังหวะที่ดีในการสร้างธุรกิจใหม่ และจะสามารถผลักดันให้บริษัทในอนาคตเติบโตอย่างมั่นคง มีรายได้ต่อเนื่อง
“ระหว่างที่ผมเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ ได้ศึกษาและวิจัยตลาดเพื่อมองหาธุรกิจใหม่ สร้างรายได้ ต่อยอดธุรกิจเดิมของครอบครัว ทั้งยังสามารถใช้พื้นฐานความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมของบริษัท ILINK มาทำให้เกิดธุรกิจที่มีรายได้ต่อเนื่อง และพบว่าการจะทำธุรกิจที่มีรายได้ต่อเนื่องให้ได้ดีก็คือ ธุรกิจที่มาจากสัมปทานหรือการให้บริการระยะยาว จึงได้ศึกษารูปแบบธุรกิจอย่างจริงจัง เป็นที่มาของการก้าวเข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคม”
ดังนั้น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2550 และในปี 2555 ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แบบที่สาม เพื่อสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองเพื่อให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง มีสัญญา 15 ปี พร้อมด้วยใบอนุญาตเพื่อให้ได้สิทธิแห่งทางเพื่อติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงตลอดแนวเส้นทางรถไฟ มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี หลังจากได้รับใบอนุญาตก็ดำเนินการตามแผนการที่คิดไว้ ท้ายที่สุดจึงเป็นไปตามคาด บริษัทเติบโตขึ้นตามลำดับ ยืนยันด้วยรายได้ถึง 100 ล้านบาท ในปีแรก ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท ในปีต่อๆ มา ก่อนที่บริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อปี 2559
"มุ่งพัฒนาบริการ เพื่อสร้างรายได้และกำไรต่อเนื่อง จากรายได้1,600 ล้านบาทปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท ในปี 2562"
‘ความแตกต่าง’ หนทางสู่ความสำเร็จ
แม้จะเริ่มต้นจากบริษัทขนาดเล็ก แต่ ณัฐนัย อนันตรัมพร และทีมงานก็สู้ไม่ถอย เพราะมั่นใจว่าหากมียุทธศาสตร์อย่างชัดเจนและตั้งใจทำอย่างจริงจังบริษัทจะเติบโตขึ้นได้ ดังนั้น เขาได้เริ่มวางแผนพัฒนาธุรกิจและงานด้านวิศวกรรมอย่างรอบคอบ พร้อมกับการสร้างฐานลูกค้าในเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากบริษัทน้องใหม่ อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จะสร้างความ ‘แตกต่าง’ ด้านโครงข่ายเชื่อมต่อข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ไฟเบอร์ออพติก (Fiber Optic) ให้กับวงการแล้ว ณัฐนัยยังมีกลยุทธ์ทางการตลาดแบบแหวกแนวที่น่าสนใจคือ
การเดิมพันด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท มาแลกความไว้วางใจจากลูกค้า หวังจูงใจลูกค้าเข้าใช้สินค้าบริการของ ITEL ด้วยการบริการที่รวดเร็วและเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง ทำให้แนวทางการตลาดของ ณัฐนัย อนันตรัมพร ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างท่วมท้น
ลูกค้ารายแรกที่ให้ความวางใจใช้บริการของ ITEL คือ บริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ จากนั้นบริษัทก็ขยับเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มการเงินการธนาคาร ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล กลุ่มภาครัฐ และกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 75 จังหวัด ที่เหลืออีก 2 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน และระนอง บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในการให้บริการ โดยณัฐนัยบอกว่า การมีลูกค้าหลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพราะไม่ต้องพึ่งพารายได้จากทางใดทางหนึ่ง และนี่ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในตลาด
“บริษัทมีความเชื่อว่า การสร้างความแตกต่างคือ หัวใจของบริการ ITEL บวกกับการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ (Cost Effective) ความเร็วในการให้บริการ พร้อมด้วยวิธีการทำการตลาดที่แตกต่าง โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มอย่างดีที่สุดเท่ากัน”
ต่อยอดธุรกิจ เติบโตอย่างยั่งยืน
การเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องของ ITEL เป็นเครื่องยืนยันถึงการวางแนวทางของณัฐนัยว่าเดินมาถูกทางแล้ว และเมื่อถามถึงเป้าหมายที่อยากเห็นในอีก 5 ปี ก็ได้รับ คำตอบที่เปี่ยมด้วยพลัง
“ผมมีความมุ่งมั่นที่จะพา ITEL ให้ก้าวไกลออกไปอีก พร้อมๆ กับมุ่งเน้นการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มอัตราผลกำไร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน คาดว่า การเติบโตจะอยู่ระหว่าง 30-40% ต่อปี จากเดิมในปี 2561 มีรายได้ 1,600 ล้านบาท ในปี 2562 นี้ คาดว่าจะถึง 2,000 ล้านบาท อีก 5 ปีข้างหน้า ผมต้องการเห็นบริษัทมีรายได้แตะ 5,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายใหญ่ที่อยากเห็นบริษัทเติบโตในตลาด มี Market Cap. ถึงระดับ 10,000 ล้านบาท”
นอกจากนี้ ยังมุ่งไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เจาะกลุ่มลูกค้าเก่า ไปพร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ ผ่านบริการใหม่ที่สอดรับกับธุรกิจที่มีอยู่เดิม โดยพัฒนาต่อยอดธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมไปสู่บริการใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีไอซีทีได้ เช่น บริการศูนย์รับฝากข้อมูล (Data Center) บริการคลาวด์ (Cloud) บริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งบริการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมทั้งสิ้น ขณะที่ด้านการลงทุนจะเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพ
เป้าหมายในอีก 5 ปี
ตั้งเป้าเติบโตปีละ 30-40%
และ Market Cap. โตจาก MID SMALL CAP 3,320 ล้านบาท
สู่ BIG CAP 1 หมื่นล้านบาท
* (ข้อมูล ณ วันที่ 11/04/62)
ธุรกิจหลักคือ การขยายโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการดาต้า เซ็นเตอร์ คาดจะใช้เงินลงทุนราว 250-300 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและความต้องการของลูกค้า บริษัทก็จะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของ ITEL เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีอัตราการเติบโตสูง ทั้งรายได้และกำไร ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทตั้งเป้าเติบโตด้านรายได้ให้อยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาทและสามารถทำได้จนสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 12% เป็น 17% จากมูลค่าตลาดรวม 13,000-15,000 ล้านบาท ขยับขึ้นแท่นจากผู้เล่นอันดับ 7 ไปเป็นผู้เล่นใหญ่อันดับ 3 ในตลาดบริการโครงข่ายโทรคมนาคมของไทย
“เชื่อมั่นว่าอนาคตของ ITEL ก็จะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากโอกาสในตลาดยังมีอีกมาก ดังนั้น ความฝันที่จะเป็นผู้นำในตลาดนี้ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น คงไม่ไกลเกินความสามารถของพวกเรา” ณัฐนัยกล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ
เป้าหมาย VS คู่แข่ง
ขยับขึ้นเป็นผู้เล่นรายใหญ่
โปรเจ็กต์แห่งอนาคต
LIST OF STRENGTHS
ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ Stock Guide 2019-2020 ดาวน์โหลด E-Book ฉบับเต็ม ฟรี ได้ที่ >> http://bit.ly/2WNQiHi