P2P lending (peer-to-peer lending) เป็นทางเลือกการลงทุนที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งมีหัวใจสำคัญก็คือการจับคู่ผู้ให้กู้และผู้ขอกู้เข้าด้วยกันโดยไม่ต้องผ่านธนาคารเป็นตัวกลางเหมือนโมเดลดั้งเดิม โดยแพลตฟอร์ม P2P มักจะทำทุกอย่างให้นักลงทุนหรือผู้ให้กู้สามารถเข้ามา “ช้อปปิ้ง” เลือกผลิตภัณฑ์ที่จัดสรรมาจากผู้มาขอกู้ได้อย่างสะดวกสบาย มีเป้าทาร์เก็ตอัตราผลตอบแทน และมีความปลอดภัย ดีงามพอที่มันจะกลายเป็นทางเลือกในการลงทุนแบบจริงจัง
แม้ว่า ณ ปัจจุบันวงการ P2P lending จะยังเงียบมากในเมืองไทย แต่ทิศทางโลกและกลไกตลาดกับเทคโนโลยีจะทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ขึ้นจำนวนมากในเร็วๆ นี้
ก่อนที่ธุรกิจนี้จะเริ่มผลิบานในประเทศไทย ผู้เขียนจะนำเสนอ 3 ประเด็นสำคัญจากเรื่องราวของการดำเนินธุรกิจประเภทนี้ในประเทศอื่น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์และฟิลิปปินส์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจช่องทางนี้มากขึ้น
1. ต้องมีมากกว่าคะแนนเครดิตทั่วไป
ในยุคนี้แพลตฟอร์ม P2P lending ที่ดีควรจะมีเทคโนโลยีหรือมาตรการในการวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อมากกว่าแค่การตรวจประวัติเครดิตบูโร (เครดิตบูโรยังจำเป็น แต่ไม่ควรเป็นแค่ข้อมูลแหล่งเดียว)
ในมุมมองของผู้ให้กู้ การที่ P2P lending มีศักยภาพด้าน big data หรือ AI ที่เหนือกว่าที่อื่น และมีท่อต่อเชื่อมข้อมูลอื่นๆ (ส่วนมากเรียกกันว่าข้อมูลเครดิตทางเลือก หรือ “alternative data”) เกี่ยวกับผู้มาขอกู้ จะมีโอกาสที่จะสามารถประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำกว่าและครอบคลุมผู้มาขอกู้ได้จำนวนมากกว่า ซึ่งแปลว่าการแบ่งเกรดสินเชื่อตามความเสี่ยงก็ควรที่จะมีความแม่นยำมากกว่า
Alternative data เกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้มาขอกู้นี้มีหลากหลายประเภท ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ พฤติกรรมการทำงานและการเข้าทำงาน ไปจนถึงทัศนคติเกี่ยวกับการใช้เงินและพฤติกรรมระหว่างการกรอกใบสมัครสินเชื่อ (รวมถึงคำตอบ) ยกตัวอย่าง เช่น Qiannow (Minterest) แพลตฟอร์มจากสิงคโปร์ใช้ข้อมูลมากกว่า 200 ประเภทในการพิจารณาสินเชื่อ และมี NPL ที่ต่ำกว่า 1%
การใช้ altenative data ร่วมกับการวิเคราะห์คะแนนเครดิตแบบเดิม มีโอกาสแม่นยำกว่า เนื่องจากการมีข้อมูลเกี่ยวกับคนๆ หนึ่งมากขึ้น แปลว่าอัลกอริทึมพยากรณ์ความเสี่ยงหนี้เสียจะมีวัตถุดิบให้เรียนรู้มากขึ้น มีแนวโน้มที่จะจับมิติความเสี่ยง (และความไม่เสี่ยง) อื่นๆ ที่ยังไม่เคยปรากฏได้ เช่น ผู้มาขอกู้รายหนึ่งอาจมีคะแนนเครดิตดีในเครดิตบูโร และอาจจะเป็นคนที่ไม่เคยผิดชำระบิลโทรศัพท์มือถือเลยสักครั้งเดียวในรอบสิบปี
การที่แพลตฟอร์ม P2P ทราบข้อมูลประวัติชำระบิลจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าผู้มาขอกู้รายนี้น่าจะมีความเสี่ยงน้อยจริงๆ หรือในกรณีที่ผู้มาขอกู้ไม่มีประวัติเครดิตบูโรเลย ถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มี alternative data ก็จะประเมินความเสี่ยงไม่ได้ นักลงทุนก็จะไม่สามารถลงทุนได้ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจเป็นผู้ขอกู้ที่คุณภาพดีมากๆ ก็ได้
2. เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการผิดชำระ
ในทุกประเทศที่ P2P lending เริ่มเข้ามามีบทบาท ธุรกิจนี้มักมาพร้อมความฮือฮาและความหวัง ว่ามันเป็นช่องทางการลงทุนแบบ fixed income ที่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากหรือการซื้อพันธบัตรทั่วไป
คำถามสำคัญคือจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้กู้ (และเงินของผู้ให้กู้) หากมีการผิดชำระขึ้น เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มมักมีนโยบายการทวงตามหนี้หรือการคุ้มครองผู้ให้กู้ไม่เหมือนกัน มีทั้งแบบที่มีหลักค้ำประกันและแบบที่ไม่มีแม้แต่น้อย
ยกตัวอย่างเช่น Koinworks จากอินโดนีเซีย นอกจากจะมีทีมกฎหมายและทีม collection แล้ว ยังมีบริการที่เรียกว่า provision fund ซึ่งเป็นเหมือนกองทุนที่คอยการันตีสินเชื่อได้ในบางระดับ แล้วแต่เกรดความเสี่ยง เงินที่เก็บได้เพิ่มจากผู้ผิดชำระจะเข้ามาสะสมอยู่ใน provision fund นี้ และจะถูกเคลื่อนย้ายกลับสู่ผู้ให้กู้ที่เสียหาย ตามอัตราระดับที่ตกลงไว้แต่แรกก่อนให้กู้ เช่น สำหรับสินเชื่อเกรด C อาจจะได้แค่ 60% ของทุนที่เสียไปกลับมา
หรือในบางกรณีแพลตฟอร์มบางแห่งที่ทำการทวงหนี้เองจะมีสิ่งที่เรียกว่า collection scores ด้วยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทวงหนี้ (สมมุติว่าโทรได้ร้อยคน จะโทรหาคนไหนก่อน)
3. หลากหลายกว่าแค่สินเชื่อส่วนบุคคล
ในโลกของ P2P lending ไม่ได้มีแค่การกู้ยืมระหว่างบุคคลเท่านั้น ที่จริงแล้วอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงมากคือการกู้ยืมระหว่างบริษัท หรือระหว่างบริษัทกับบุคคล
เป็นปัญหาทั่วไปที่บางบริษัทจะขาดสภาพคล่องในบางช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่วันวางบิลกับวันที่ได้รับเงินนั้นห่างกันมากๆ หากสามารถกู้เงินมาหมุน operations ได้ก่อนก็จะทำให้การบริหารเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น
โดยปกติแล้วแพลตฟอร์มจะสามารถเช็คคะแนนเครดิตของธุรกิจจากเครดิตบูโรหรือบริษัทที่ทำเรื่องนี้มานานอย่าง Dun & Brandstreet แต่ก็ยังมีแพลตฟอร์มที่ไอเดียล้ำอย่าง Funding Society ในสิงคโปร์ หรือ Acudeen ในฟิลิปปินส์ ที่เป็นตัวกลางเพื่อให้บริษัทที่ต้องการกู้เงินนำใบ invoice ที่เคยวางไปมาขายในราคาที่ต่ำกว่ายอด (เพื่อแลกกับเงินที่ได้เลยวันนี้ ไม่ต้องรอลูกค้าจ่าย) เมื่อลูกค้าจะจ่ายเงิน ผู้ให้กู้ถึงจะได้รับเงินในวันข้างหน้า (เต็มจำนวน)
P2P lending มีความน่าตื่นตาตื่นใจ และมีโอกาสเป็นช่องทางในการลงทุน (และหาทุน) จริง แต่นักลงทุนต้องทำการบ้านมาดีว่าสิ่งที่แพลตฟอร์มนำเสนอให้กับเรา มันเป็นอย่างนั้นจริง และมีทางหนีทีไล่ที่ดีพอ ไม่ต่างกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทั่วไป