มักจะมีนักลงทุนที่เพิ่งจะเริ่มดูพื้นฐานอ่านงบการเงินเข้ามาถามผม อยู่เรื่อยๆ ว่า ที่แนะนําให้ดูกิจการที่มีความสามารถในการทํา “กําไร” นะ มันหมายถึงกําไรตัวไหน? กําไรสุทธิ (บรรทัดสุดท้าย) หรือ กําไรขั้นต้น (บรรทัดบนๆ) หรือตัวอื่น?
ผมขออธิบายให้เห็นภาพแบบนี้ก็แล้วกันครับ สมมติคุณขายทุเรียน โดยซื้อมาจากตลาดไท เอาไปขายหน้ามหาวิทยาลัยรามคําแหง
กําไรขั้นต้น ก็คือ คุณขายทุเรียนได้เงินทั้งหมดกี่บาท - ค่ารับทุเรียนมากี่บาท = กําไรขั้นต้น
กําไรจากการดําเนินงาน ก็คือ คุณขายทุเรียนได้เงินทั้งหมดกี่บาท - ค่ารับทุเรียนมา - ค่าขนส่ง - ค่าเช่าแผงขายหน้าราม - ค่าจ้างคนปอก = กําไรจากการดําเนินงาน
กําไรสุทธิ ก็คือ คุณขายทุเรียนได้เงินทั้งหมดกี่บาท - ค่ารับทุเรียนมา - ค่าขนส่ง - ค่าเช่าแผงขายหน้าราม – ค่าจ้างคนปอก - ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและภาษี (เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้หน้ารามและภาษี) = กําไรสุทธิ
จะเห็นได้ว่า กําไรขั้นต้น (Gross Profit) คือกําไรตัวแรก เป็นต้นทางก่อนที่จะหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกสารพัดจนกระทั่งมาเป็น กําไรสุทธิ (Net Profit) นั่นแปลว่า ถ้าต้นทุนที่รับทุเรียนมาสูงก็จบเห่ครับ เพราะกําไรขั้นต้นก็แย่ตั้งแต่ต้นทางแล้ว
เค้าเรียกต้นทุนที่รับทุเรียนมาจากตลาดไทว่า ต้นทุนขาย หรือ Cost of Goods Sold ครับ ส่วนต้นทุนดําเนินการต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าเช่าแผง ขายหน้าราม ค่าจ้างคนปอก รวมๆ เรียกว่า ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน (หรือ Operating Cost)
ซึ่งถ้าเอา กําไรขั้นต้นลบด้วยค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน ก็จะได้ กําไรจากการดําเนินงาน (Operating Profit) บ้างก็เรียกว่า “EBIT” ที่ย่อ มาจาก Earnings Before Interest and Tax ที่เค้าเรียกกันติดปากว่า อีบิท อีบิท นั้นแหละ
และเมื่อนํา EBIT ลบด้วยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้หน้ารามและภาษี ที่โดนประเมิน ก็จะเท่ากับกําไรสุทธิ
ที่นี้คําถามต่อไปก็คือ จะให้น้ำหนักกับการเติบโตของกําไร ตัวไหนดี? จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบเจอนักลงทุนเก่งๆ ที่เน้นดูต่างกันไป บางคนชอบดูที่กําไรสุทธิ เพราะเป็นบทสรุปกําไรขั้นสุดท้าย เอาไปคํานวณต่อเป็น EPS (Earnings Per Share) เพื่อออกมาเป็นค่า P/E ที่นักลงทุนทุกคนเฝ้าจับตามอง
หรือบางคนก็ดูที่ EBIT เพราะมองว่ากําไรจากกําไรจากการดําเนินงานคือจุดวัดฝีมือกิจการที่ไม่คํานึงถึงตัว “ดอกเบี้ยจ่าย” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงสร้างเงินทุน และ “ภาษี” ซึ่งเป็นหน้าที่ชําระทางกฎหมาย ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานตามปกติ
บางคนก็ดูที่กําไรขั้นต้น เพราะมองว่าเป็นตัวเลขกำไรที่สะอาด ผ่านการบิดเบือนของค่าใช้จ่ายต่างๆ น้อย
และบางคนดูที่การเติบโตของรายได้ (Revenue Top Line) เลยเพราะเชื่อว่าการทําธุรกิจนั้นกําไรย่อมต้องมีความผันผวนบ้างธรรมดาของธุรกิจมีขึ้นลง แต่รายได้ควรจะต้องเพิ่มขึ้น ตราบใดที่รายได้ยังเติบโตได้อยู่ สุดท้ายแล้วกําไรก็จะต้องกลับมาได้เอง
ดังนั้นถ้าถามผมว่างั้นดูตัวไหนดี ผมตอบว่าเราดูทุกตัวไปเลยครับ ซึ่งในบรรดาอัตราส่วนทางการเงิน 8 ตัว ในสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน (Company Summary) ที่จัดทําโดยตลาดหลักทรัพย์ ก็แสดงอัตรากําไรเทียบกับรายได้ไว้ครบทั้งสามตัวเลยคือ Gross Profit Margin, EBIT Margin และ Net Profit Margin ตามรูป
ขอเสริมอีกนิด บางท่านอาจจะเคยเห็นคําว่า EBITDA สงสัยมั้ยครับว่ามันคืออะไร?
EBITDA ย่อมาจาก Earnings Before Interest Tax Depreciation and Amortization ซึ่งจะไม่แสดงอยู่ในงบกําไรขาดทุน ส่วนมากจะต้องคํานวณเองเพราะในงบจะให้เพียง EBIT มา
Depreciation หรือ ค่าเสื่อมราคา เป็นการคิดค่าเสื่อมราคาจาก สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น โรงงานเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สํานักงาน รถยนต์
Amortization หรือ ค่าตัดจําหน่าย เป็นการคิดค่าเสื่อมจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่าเครื่องหมายการค้าที่เราขออนุญาตใช้ เป็นต้น
ถ้าเราเอา EBIT ในงบกําไรขาดทุนมาบวกกลับด้วยตัวเลข D (ค่า เสื่อมราคา) และ A (ค่าตัดจําหน่าย) ซึ่งหาได้จากงบกระแสเงินสด ก็จะได้ EBITDA ซึ่งนักวิเคราะห์นิยมนํามาใช้เป็นตัวแทนของ “กําไรที่เป็นเงินสด” ของบริษัทแบบคร่าวๆ และนิยมใช้วัด Performance ของบริษัทที่มีเงินลงทุน เริ่มต้นสูงๆ เช่น โรงงานขนาดใหญ่ธุรกิจน้ำมันท่อแก๊ส ธุรกิจเหมืองถ่านหิน ธุรกิจโครงข่ายโทรศัพท์ พวกที่มีค่าเสื่อมค่าตัดจําหน่ายสูงๆ บริษัทพวกนี้มักจะอ้างอิง “EBITDA Margin” แทนที่จะใช้ EBIT Margin
บางคนนิยมมอง EBITDA มากกว่า EBIT เพราะค่าเสื่อมมีอะไร เกี่ยวข้องกับนโยบายทางบัญชีมาก เช่น อายุและวิธีการตัดจ่ายค่าเสื่อม สามารถเลือกตัดช้าๆ หรือตัดเร็วๆ ได้จึงอาจเป็นช่องทางในการสับขาหลอก นักลงทุนให้เห็นกําไรที่มากหรือน้อยไปนําไปสู่ภาพที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประกอบการในงวดปัจจุบัน
ทางที่ดี ผมว่าดูประกอบไปทั้ง EBITDA และ EBIT น่าจะเป็นการดีที่สุดครับ