#แนวคิดด้านการลงทุน

ดูรอบอย่างเซียน ไม่ต้องนั่งเทียนด้วย Bollinger Bands

โดย ธนกร คุ้มรำไพ, CMT, CFTe
เผยแพร่:
325 views

ในการเทรดเราควรจะสนใจช่วงที่ราคานิ่งๆ หรือ ราคาวิ่งๆ ? แน่นอนตลาดที่เขาวิ่งเร็ว แกว่งแรงใช่ไหมครับ ? การแกว่งเป็นลักษณะอาการของความผันผวน (Volatility) นั่นเอง ในตลาดย่อมมีความผันผวนแน่ เพราะผู้เล่นต่าง ๆ สร้างความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานขึ้นมา

 

อย่างไรก็ตามมีช่วงเวลาที่ผันผวนมาก มีความคึกคัก บางขณะผันผวนน้อยตลาดค่อนข้างซบเซา การทำกำไรที่เป็นเนื้อเป็นหนังจะถูกสร้างเอาเข้าพอร์ตในช่วงเวลาที่ราคามีการแกว่งมาก ๆ วิธีสังเกตอย่างง่าย ก็ให้ดูที่ช่วงของราคา คือ ระยะความห่างของราคาต่ำสุดไปถึงราคาสูงสุด แท่งไหนห่างมากก็ผันผวนมาก แท่งไหนระยะน้อยแสดงว่าผันผวนน้อย แต่ปัญหาคือวิธีนี้เราจะดูได้ในกรอบที่จำกัดไม่กี่วัน หรือ วันต่อวันเท่านั้น ค่อนข้างยากนิดนึง

 

เมื่อลองใส่สุดยอดอินดิเคเตอร์ที่มีอรรถประโยชน์อย่าง Bollinger Bands (BB) เข้ามาในชาร์ตราคา จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก Bollinger Bandsมีลักษณะเป็นภาพกราฟฟิคซ้อนลงไปบนกราฟราคา ช่วยแสดงให้เห็นความผันผวนสัมพัทธ์ได้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการคำนวณมาจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation ) ของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ย้อนหลัง (SMA20) เมื่อความกว้างของแถบกว้างขึ้นหรือถ่างออกแสดงว่ามีเริ่มมีความผันผวนมาก หากบีบตัวและหุบเข้าตีความได้ว่าผันผวนน้อยลง การหุบเข้าและกางออกนั้นเกิดขึ้นเป็นรอบๆ หรือเป็นวัฏจักร (Cycle) ไม่ว่าจะรอบเล็กรอบใหญ่ จะเกิดขึ้นซ้ำๆ

 

น้า John Bollinger ผู้คิดค้น Bollinger Bandsได้กล่าวไว้ว่า “High Volatility Begets Low Volatility” และ “Low Volatility Begets High Volatility” หมายความว่า “ความผันผวนสูงจะนำไปสู่ความผันผวนต่ำ ในทางตรงข้าม ความผันผวนที่ต่ำอีกไม่นานหรอกจะนำไปสู่ความผันผวนที่สูง” ผมคิดว่าสิ่งที่ John Bollinger กล่าวนั้นสัจธรรมที่เกิดในปรากฏการณ์ธรรมชาติโดยแท้ ให้ลองสังเกตุสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราสิครับ ล้วนมีวัฏจักรเกิดดับตลอดเป็นรอบ ๆ เช่น เซลล์ในร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รอบของกระแสไฟฟ้า คลื่นลม อากาศตามธรรมชาติต่าง ๆ

เมื่อเราดูรอบของความผันผวนผ่าน Bollinger Bands ออก ก็จะสามารถกำหนดกลยุทธ์การเทรดให้เหมาะสมได้ เช่นในช่วงที่กรอบแถบ BB บีบเข้า โดยมากจะเป็นช่วง Side Way ราคาพักตัว ไม่มีแนวโน้ม เพราะฉะนั้นการเทรดก็จะอยู่ในกรอบ เป้าหมายการทำกำไรชัดเจนไม่ไกลนัก หากเมื่อใดก็ตามราคาเริ่มระเบิดออกจากแถบ BB ความผันผวนเริ่มรุนแรงขึ้น เป็นไปได้ที่การเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตจะเป็นแนวโน้มขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะเข้าซื้อได้ที่ต้นทางของเทรนด์ และสามารถถือไปได้ให้สุดทาง เมื่อไหร่ล่ะ ก็เมื่อหมดรอบเมื่อ Bollinger Bands เริ่มบีบตัวเข้ามานั่นเอง

 

ขอเล่าเรื่องส่วนตัวที่พอจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น หลังจากที่ศึกษาเรื่องความผันผวนจนเข้าใจผ่าน Bollinger Bands ผมต้องเดินทางด้วยรถ BRT พอลงจากรถปุ๊บ พายุฝนตกลงมาห่าใหญ่ ลมแรงมากๆ ติดอยู่ในสถานีออกมาไม่ได้ มีชาวต่างชาติเข้ามาถามผมว่า “นี่คุณปกติอีกนานไหมกว่าฝนมันจะหยุด” ผมก็ตกใจเล็กน้อยเพราะว่า ผมจะรู้ไหมล่ะ หน้าผมเหมือนทำงานกรมอุตุฯ หรือไง? พอดีนึกขึ้นได้ถึงกราฟหุ้นที่มี BB และคำกล่าวของน้าจอห์น จึงตอบไปว่า “ตกแรง ๆ อย่างนี้ไม่นานหรอกอีกแป๊บเดียวไม่เกิน 5 นาที จะตกเบา ๆ”
 

ผ่านไปสักพักก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ พายุเบาลงฝนกลับมาตกปรอย ๆ ผมหันไปบอกอย่างภูมิใจว่านี่ไงล่ะ เห็นไหม? พร้อมกับกางร่มแล้วออกเดิน ชาวต่างชาติรายนั้นยิ้มให้ และ ออกเดินตามมาติดๆ แบบไม่มีร่ม แต่ก็นั่นแหละ เมื่อความผันผวนน้อยมันก็อยู่ได้ไม่นาน ความผันผวนที่รุนแรงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง พายุฝนตกลงมาอีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิมอีก
กว่าจะเดินถึงบ้าน ทั้งๆที่มีร่มผมเองยังเอาตัวแทบไม่รอด หันไปดูชาวต่างชาติคนนั้น เละเลย ผมนึกในใจ ขอโทษนะ!
นี่แหละบทเรียนของความผันผวนที่ผมได้เรียนรู้จาก Bollinger Bands ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นรอบ ดูให้เป็น จับจังหวะของมันให้ได้ จะประยุกต์ใช้ได้ทุกสถานการณ์

 

References:

Bollinger, J. (2002). Bollinger on Bollinger bands. New York: McGraw-Hill.

Kaufman, P. J. (2013). Trading Systemsand Methods. Hoboken, New Jersey.: John Wiley & Son.

Murphy, J. J. (1999). Technical analysis of the financial markets: A comprehensive guide to trading methods and applications. New York: New York Institute of Finance.

 


อ.กบ ธนกร คุ้มรำไพ CMT, CFTe เทรดเดอร์มือโปรสายเทคนิคที่สอนการลงทุนให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ศึกษาการลงทุนด้วยเทคนิคอลอย่างหนักจนเป็นคนไทยคนแรกที่รับการรับรองจากทั้งสององค์กรสากลทางด้านวิเคราะห์ด้วยปัจจัยเทคนิค คือ CMT Association และ IFTA   มีประสบการณ์การเทรด 9 ปี เคยทำงานทีมวิเคราะห์เทคนิคในบริษัทหลักทรัพย์ เริ่มเผยแพร่แนวทางการเทรดด้วยการก่อตั้ง Graph Technic Academy มาตั้งแต่ปี 2015

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง