" P/E ต่ำ ไม่ได้หมายความว่าหุ้นถูกเสมอไป ... "
โดยปกติ ค่า P/E Ratio เป็นค่าที่นิยมมากในหมู่นักลงทุนเพื่อวัดความถูกแพงของหุ้นแบบตรงไปตรงมา ถ้าหุ้นนั้น P/E ไม่ถึง 10 เท่า เรียกว่าหุ้นถูก หุ้นตัวใด P/E มากกว่า 20 เท่า เรียกว่าหุ้นแพง หรือพูดง่ายๆคือ ยิ่งต่ำ ยิ่งดี นั้นเอง ...
แต่ในความเป็นจริง ค่า P/E ที่ต่ำไม่ได้หมายความว่าหุ้นถูกเสมอไป ... นักลงทุนจำเป็นจะต้องดูอัตราการเติบโต (Growth) เทียบเคียงกันไปด้วย
อีกนัยหนึ่ง "หุ้น" เป็นเรื่องของการมองอนาคต ดังนั้นนอกจากจะมองในเรื่องของการเติบโตแล้ว นักลงทุนจำเป็นจะต้องมองไปอนาคตแล้วคำนวนค่า P/E ใหม่ ที่เราเรียกกันว่า P/E Forward นั้นเอง ..
การประเมินหรือการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในอนาคตนั้น นักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้ เช่น การหาข้อมูลมาจากบทวิเคราะห์ของแต่ละโบรคเกอร์และมาเปรียบเทียบหาค่าเฉลี่ย หรือใครที่พอมีพื้นฐานด้านการเงินการบัญชีมา ก็สามารถคำนวณจาก Discount Cash Flow เบื้องต้นได้ด้วยตนเองได้ไม่ยาก
เช่น ปัจจุบันหุ้น ก. มีราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 1 บาท ดังนั้น P/E ในปัจจุบัน คือ 10 เท่า
แต่หากว่าเราคาดการณ์ว่าหุ้น ก. จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น หรือกำไรต่อหุ้นเพิ่มเป็น 2 บาทในปีต่อไป เพราะฉะนั้นแล้วค่า Forward P/E จะมีค่าเท่ากับ 10 หาร 2 = 5 เท่า
แล้วพอได้ Forward P/E แล้วนำมาเทียบกับ P/E อดีตย้อนหลังต่อไป เช่น หุ้น ก. เคยมีค่า P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 3 - 5 ปีที่ 10 เท่า ขณะที่เราคิดคำนวณค่า Forward P/E ได้ที่ 5 เท่า
ดังนั้น เป็นไปได้ว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมของหุ้น ก. อยู่ที่ Forward P/E ควรที่จะอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า (เมื่อเทียบที่เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต) เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะได้มูลค่าเหมาะสมของหุ้น ก. อยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อหุ้น (โดยมาจากการคาดการณ์กำไรสุทธิที่สูงขึ้น หรือ EPS ที่ 2 บาทต่อหุ้น)
*** ยังไงก็ตาม เตือนไว้ก่อน ต้องหมายเหตุเอาไว้ให้ดีๆ ค่า P/E ในอนาคตนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะคำนวณได้ถูกต้อง 100% เป็นเพียงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตเท่านั้น อย่ามั่นใจ 100% ว่าจะต้องเป็นเท่านี้
* จุดที่ต้องระวังในการคิด Forward P/E อาทิ หากมีปีใดที่มีกำไรพิเศษที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยปกติของบริษัท เช่น การขายทรัพย์สิน การขายเงินลงทุน จะทำให้ค่า P/E ในปีที่มีกำไรพิเศษลดลงได้ ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดไปเองได้
ดังนั้นหน้าที่เราควรดูให้ออกว่า กำไรของบริษัทเกิดจากอะไร เป็นกำไรปกติที่มาจากการดำเนินการหรือไม่ หรือจุดที่มักจะผิดพลาดกันบ่อย คือ เรื่องของการตัดค่าเสื่อมราคา หากบริษัทสร้างอาคารโรงงาน หรือซื้อวัสดุอุปกรณ์มาในปีนั้นๆ แล้วจะทำให้ในปีต่อๆไป บริษัทจะลงบัญชีการขาดทุนจากการตัดค่าเสื่อมทั้งๆที่บริษัทไม่ได้ขาดทุนก็เป็นได้
นอกจากนั้นยังมีค่า P/E อีกแบบหนึ่ง ที่อิงกับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (Earning Growth) หรือ ค่า PEG ratio ซึ่งจะใช้อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิมาคำนวณ เพื่อหาค่าเฉลี่ยของ P/E ย้อนหลัง
โดยทั่วไปแล้ว PEG มักจะใช้ผลประกอบการ 3-5 ปี ย้อนหลังในการคำนวณ หรือ ค่า P/E ปัจจุบัน หารด้วยอัตราการเติบโต (G)
PEG > 1 แสดงว่า หุ้นตัวนั้นมีค่า P/E สูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตของหุ้น
PEG < 1 แสดงว่า หุ้นตัวนั้นมีค่า P/E ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น
ดังนั้นแล้ว ค่า P/E ที่เหมาะสม ไม่ควรมีค่ามากกว่า 1 ถ้าเกินแสดงว่า ราคาหุ้นแพงเกินไปกว่าการเติบโต
นอกจากนั้น PEG ยังสะท้อนถึง หุ้นที่มีการเติบโตถึงจะน่าลงทุนมากกว่าหุ้นตัวที่มีรายได้ทรงตัว เพราะผลประกอบการที่เติบโตจะดีกว่าหุ้นที่ไม่มีการเติบโต
แม้ว่า PEG จะเป็นวิธีคิดประเมินมูลค่าหุ้นที่มีประโยชน์ เนื่องจากสามารถวัดความถูกแพงของหุ้นได้ โดยใช้ปัจจัยเรื่อง “อัตราการเติบโต” มาคิดคำนวณ แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน ถ้าเราต้องใช้ข้อมูล “ในอดีต” เพื่อคาดการณ์ในในอนาคต” ซึ่งไม่สามารถถูกต้อง 100% ได้เช่นกัน !!
การลงทุนหุ้น จึงต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการลงทุน ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถกระทบต่อราคาหุ้นได้
===================
เขียนโดย Freedom VI