บนโลกนี้มีอยู่ไม่กี่อุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบโดยเทคโนโลยีคลื่นใหม่เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) Big Data บล๊อกเชน Internet of Things (IoT) 3D printing automation และโดรน พร้อมๆ กันทั้งหมดทุกเทคโนโลยี
อุตสาหกรรมนั้นก็คืออุตสาหกรรมประกัน ตั้งแต่ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ไปจนถึงประกันสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ที่เราเองก็ยังไม่ทราบว่ามนุษย์ยุคใหม่จะต้องการความคุ้มครองกับสิ่งใดบ้างในชีวิต
บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึง3 มุมมองที่นักลงทุนและผู้ที่สนใจธุรกิจประกันควรจับตามองอุตสาหกรรมที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอีกไม่ช้า
1. Journey ลื่นไหล ตัวตนเจือจาง
ธุรกิจประกันในยุคหน้ามีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น1-stop shop สำหรับการให้บริการประกันภัยทุกรูปแบบ และสำหรับทุกๆสินทรัพย์ในชีวิตเราโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทประกันและลูกค้านั้นจะแนบแน่นขึ้นด้วย big data จนเสมือนว่าเราไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับบริษัทประกัน
นี่เป็นแนวคิดกระแสหลักที่มองว่าลูกค้าส่วนมากไม่ได้อยากคุยกับบริษัทประกันไม่ได้ต้องการเสียเวลาถกกับเซลส์ไม่ได้ต้องการทำpaperwork ที่รอนานเมื่อเกิดการเคลมประกันและไม่ได้ต้องการความยุ่งเหยิงอันซ้ำซากนี้สำหรับทุกๆสิ่งในชีวิต
พวกเขาต้องการเพียงแค่ซื้อความสบายใจและความราบรื่นของชีวิตด้วยการปิดความเสี่ยงซึ่งเป็นพื้นฐานของสมการเศรษฐศาสตร์ประกันภัย
ด้วยความก้าวหน้าของการเก็บข้อมูลด้วยเซ็นเซอร์ IoT และ wearables จำนวนมาก (ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึง health sensors ในนาฬิกา) อัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์จะมีข้อมูลอันเป็นวัตถุดิบที่ลึกขึ้นซึ่งอำนวยให้บริษัทประกันสามารถคำนวนเบี้ยประกันสำหรับแต่ละสินทรัพย์และสำหรับลูกค้าแต่ละรายได้ในแบบเกือบ real time โดยที่สามารถลดปริมาณคำถามและการสนทนาก่อนซื้อประกันลงได้ด้วย เนื่องจากบริษัทสามารถพยากรณ์ความเสี่ยงของลูกค้าได้จากมุมมองมิติอื่นๆจากข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น customer journey จึงมีแนวโน้มที่จะมีความราบรื่นขึ้นมาก
ในโลกที่ cooptition บังคับให้บริษัทเป็นพันธมิตระหว่างกันมากขึ้น ลูกค้าจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่ากำลังตั้งใจซื้อประกันเนื่องจากบริษัทประกันที่ดีจะพยายาม “ฝังตัว” เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์หรือกิจกรรมนั้นเลย ไม่ว่าคุณกำลังจะซื้อคอมพิวเตอร์ใน e-commerce หรือกำลังจะเช่าห้องพักจาก Airbnb
บริษัทประกันอาจมีตัวตนต่อหน้าคุณเป็นเพียงแค่เครื่องหมายติ๊กถูกในช่องประกันเท่านั้น
และหากเทคโนโลยี smart contract ในระบบบล๊อกเชนเริ่มมีการใช้งานจริง ลูกค้าจะไม่ต้อง“คิด” ด้วยซ้ำอย่าว่าแต่ติ๊กเลย ความเสี่ยงควรจะถูกปิดเองในราคาที่ลูกค้าพอใจและในเวลาที่ความเสี่ยงมีโอกาสเกิดขึ้น (เช่น ไม่ใช่เวลาที่เราไม่ได้ขับรถหรือเราไม่ได้ไปเช่าห้องพักคนอื่น)
ด้วยปัจจัยและแรงของเทคโนโลยีเหล่านี้แปลว่าเรามีแนวโน้มจะได้เห็นยักษ์ใหญ่ประกันที่ครอบคลุมหลากหลายหมวดหมู่สินทรัพย์มากขึ้นฉลาดและรวดเร็วขึ้น พร้อมๆ กับภาวะที่ตัวตนของบริษัทประกันจะเจือจางลง
2.เบี้ยประกันแบบ personalized
คำถามว่าเบี้ยประกันจะขึ้นหรือลงนั้นเป็นคำถามที่ยากจะฟันธงตั้งแต่วันนี้เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมแบบลึกซึ้งนั้นสามารถทั้งเพิ่มและลดเบี้ยประกันได้
ลดในกรณีที่ลูกค้ามีความเสี่ยงน้อย(แต่บริษัทประกันไม่เคยทราบก่อนมีbig data)
เพิ่มในกรณีที่ลูกค้ามาความเสี่ยงสูง(แต่บริษัทประกันไม่เคยทราบก่อนมีbig data)
สุดท้ายจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทประกันในการ“ทาย” ความเสี่ยงก่อนมีbig data เทียบกับความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกค้า(หากทายเก่งอยู่แล้วความเปลี่ยนแปลงค่าเบี้ยประกันจะมีไม่มาก) และความแข่งขันในตลาดประกันว่าจะเกิดการแข่งขันสูงขึ้นเมื่อมีผู้เล่นstartup หรือบริษัทplatform ที่เริ่มอยากทำธุรกิจประกันพ่วงบริการตนเองด้วยหรือว่าการแข่งขันจะลดลงเมื่อผู้เล่นธุรกิจประกันเจ้าเก่าจะmerge เพื่อเป็น1-stop shop ก่อนใครอื่น
3.positioning ใหม่ของธุรกิจประกัน
ในโลกดิจิทัลบทบาทหน้าตาของบริษัทประกันที่เราคุ้นเคยจะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจาก“ที่พึ่งหลังเหตุการณ์” มาเป็น“ที่ปรึกษาลดความเสี่ยง”
ผู้เขียนเชื่อว่าในที่สุดแล้วด้วย Big Data บริษัทประกันจะสามารถทราบถึงความเสี่ยงของลูกค้าก่อนซื้อประกันได้ดีถึงขั้นที่ value proposition ของธุรกิจนี้จะไม่หยุดแค่การแข่งขันกันเพื่อปิดความเสี่ยงของลูกค้าในราคาที่ดีเท่านั้น
แต่จะขยายไปถึงบทบาทของผู้หวังดีที่คอยเตือนหรือแนะนำพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเมื่ออัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์พบว่าพฤติกรรมของลูกค้าขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัย
ประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับก็คือความปลอดภัยของทรัพย์สินและความรู้สึกว่า“ดีนะที่มีคนเตือน” ส่วนบริษัทประกันเองก็สามารถแก้ปัญหา moral hazard (ลูกค้าซื้อประกันแล้วระมัดระวังน้อยลง) ได้มากขึ้น
การด่วนสรุปว่าบริษัทประกันจะมีกำไรน้อยลงหรือมากขึ้นจากการวิเคราะห์เพียงมิติใดมิติเดียวนั้นไม่ถูกต้อง
ท้ายสุดชะตากรรมของบริษัทประกันจะขึ้นอยู่กับ 1) ระดับการแข่งขันในตลาด (ซึ่งอาจแข่งกันด้วยการเป็นที่ปรึกษามากกว่าแค่ขายประกัน) 2) บริษัทประกันจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้เพื่อแก้ได้ทั้งปัญหา moral hazard และ adverse selection (ปัญหาไม่ทราบความเสี่ยงรายบุคคล จึงตั้งเบี้ยประกันสูงสำหรับทุกคน) ได้จริงหรือไม่ และ 3) จะมีความต้องการปิดความเสี่ยงในสินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น สินทรัพย์จำพวกข้อมูลหรือ digital assets มากน้อยเพียงใด