ศึกชิงประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นศูนย์การบินเชิงพาณิชย์หลักของภาคตะวันออกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก (กลุ่มกิจการร่วมค้ากลุ่มเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP, กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) และกลุ่มกิจการร่วมค้า Grand Consortium) เข้าร่วมท้าชิงประมูล
โอกาสการการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สำนักงาน EEC ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2562 ได้มีการเปิดรับซองยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมี “กองทัพเรือ” เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 290,000 ล้านบาท
.
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติ และรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ภายในพื้นที่ EEC ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ของประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในระดับภูมิภาค
.
กลุ่มกิจการร่วมค้าที่ยื่นซองประมูล
ในการยื่นซองเปิดประมูลในครั้งนี้ สามารถแบ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก 42 บริษัท ที่ได้ซื้อเอกสาร TOR ได้แก่
- กลุ่มกิจการร่วมค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP ประกอบด้วย CP, CK, TB, ITD, BGRIM Joint Venture Holding และ Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide (Fraport)
- กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ 45%, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ 35% และ STEC TB ถือหุ้นอยู่ 20%
- กลุ่มกิจการร่วมค้า Grande ประกอบด้วย Asset Hotels and Property (GRAND TB) ถือหุ้นอยู่กว่า 80%, Thai Air Asia (AAV) ถือหุ้นอยู่ 10% และ Christiani & Nielsen ถือหุ้นอยู่อีก 10% นอกจากนั้น ยังมีพันธมิตรที่ร่วมประมูลในครั้งนี้อย่าง GMR Airport Ltd. ของประเทศอินเดีย
.
กำหนดระยะเวลาและประเภทของซองที่ยื่นประมูล
โดยข้อเสนอที่เอกชนทั้งสามกลุ่มได้มายื่นจะมีทั้งหมด 4 ซอง ประกอบไปด้วยซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป (เริ่มเปิดซองประมูลซองแรกในสัปดาห์หน้า) ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ และมีการคาดการณ์ว่าผลการประเมินข้อเสนอสำหรับซองทุกประเภทจะเสร็จสิ้นภายในช่วงเดือนหน้านี้ (เดือนเมษายน) และพร้อมลงนามสัญญาได้ในเดือนถัดไป (เดือนพฤษภาคม)
.
รูปแบบ/อายุของสัมปทาน และแผนการพัฒนาสนามบิน
รูปแบบการได้รับสัมปทานจะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า “PPP net cost” ซึ่งหมายถึงว่า รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 2 และหอบังคับการบินแห่งที่ 2 มูลค่าการก่อสร้างรวม 1.5 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 5% ของมูลค่ารวมของโครงการ) ขณะที่บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนา (1) อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (2) ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center) (3) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) (4)ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) และเขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village) และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้ง (5) รับผิดชอบการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ภายในโครงการฯ โดยมีอายุสัมปทานร่วมลงทุนระยะเวลา 50 ปี
.
Impact ต่อหุ้นกลุ่มรับเหมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการนี้จะเป็นกลุ่มผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ CK, ITD และ STEC โดยทั้งสามบริษัทเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่า กองทัพเรือจะประกาศผู้ชนะประมูลในครั้งนี้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งทั้งสามบริษัทมีโอกาสเท่ากันที่จะชนะประมูล
Refer : (1) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และ (2) ryt9.com