ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ในช่วงเทศกาล "เลือกตั้ง"ประชาชนกำลังตื่นเต้นกับผู้นำประเทศที่กำลังจะมาถึง และรอดูความชัดเจนของรัฐบาลว่ามีเสถียรภาพหรือไม่
.
ด้วยบรรยากาศที่เงียบเหงาเช่นนี้ ทำให้มีนักลงทุนบางกลุ่มสรุปว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่สภาวะ "Bear Market" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ...
ทางผู้เขียนเลยลองค้นคว้าดูว่า อะไรที่เรียกว่าตลาดหมี และตลาดหมี มีลักษณะข้อสังเกตอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือนักลงทุนจะอยู่ในสภาวะตลาดหมีได้อย่างไร
.
วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันครับ ... ?
ในบทความของ The Motley Fool เรื่อง What Is a Bear Market? : Invest during a bear market ได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง "การปรับฐาน" และ "ตลาดหมี" ไว้ว่า การปรับฐานคือการที่ตลาดหุ้นลงประมาณ 10% จากจุดสูงสุด ถ้าลงมากกว่า 20% เราจะเรียกสภาวะตลาดนั้นว่าตลาดหมีหรือ "Bear Market" นั้นเอง
.
ในปี 1900 จนถึงปี 2013 ตลาดหุ้นนิวยอร์คมีการปรับฐานลงมากถึง 10 % แต่ไม่ถึง 20% มีมากถึง 123 ครั้ง และมี 32 ครั้งที่เราเรียกว่าสภาวะตลาดหมี คือหุ้นลงมากกว่า 20% ...
อย่างไรก็ตามหลังจากสภาวะตลาดหมี มักจะตามมาด้วยตลาดกระทิง หรือ Bull Market แทบจะทุกครั้ง และทำจุดสูงสุดใหม่เสมอ !! เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่จุดสิ้นสุดของสภาวะตลาดหมี การถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนน้อยลงมากไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หรือกองทุนรวม ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไรนักจากสภาวะตลาดกระทิงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
นอกจากนี้ตามสถิติแล้วตลาดกระทิงจะกินเวลายาวนานกว่าตลาดหมี ....
== เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังอยู่ในตลาดหมี ==
นี้เป็นเพียงข้อสังเกต 3 ข้อ โดยใช้กราฟเทคนิเคิลเข้ามาตรวจสอบ มีอะไรบ้างมาดูกันครับ ..
1. วอลุ่มเทรดหดหายไปเรื่อยๆ
2. หุ้นขนาดใหญ่ใน SET100 และ SET50 ไม่ขยับมากนักค่อนไปทางลง ในขณะที่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมีการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นมา
3. เราสามารถใช้อินดิเคเตอร์บ่งบอกสภาวะตลาดได้ อย่างเช่น เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (MA 200 วัน) ในการบอกสภาวะตลาด ถ้ากราฟแท่งเทียนอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย เราจะเรียกสภาวะตลาดว่าตลาดหมี หุ้นมีแนวโน้มลงต่อเนื่อง ในบางครั้งหุ้นมีโอกาสชนเส้นค่าเฉลี่ยได้แต่อาจจะไม่สามารถยืนเหนือเส้น และทำจุดต่ำสุดใหม่ ถ้าหากว่ากราฟแท่งเทียนยืนเหนือเส้นได้ แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นอาจจะเปลี่ยนแนวโน้มจากขาลง เข้าสู่จุดเริ่มต้นของขาขึ้นแล้ว
กราฟแท่งเทียนอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย หุ้นเป็นขาขึ้น ... อยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย หุ้นเป็นขาลง ที่มาภาพ : Bisnews Professional
== เราจะอยู่อย่างไรในสภาวะตลาดหมี ==
ในบทความของเว็บไซด์ Dummies.com บทความเรื่อง How to profit In a Bear Market กล่าวไว้หลายวิธีว่าด้วยเรื่องของจะอยู่ในตลาดหมีได้อย่างไร จะยกมาเฉพาะข้อที่สำคัญครับ
- ในตลาดหุ้นขาลง ย่อมมีหุ้นที่ขึ้นสวนตลาดได้เสมอ หาให้เจอ และทำกำไรในรอบสั้น
- หุ้นพื้นฐานดีที่ลงมามากๆ และมีปันผลระดับ 6-7% ไม่ช้าก็เร็วจะต้องขึ้นเพราะจะมีประเด็นเรื่องปันผลเด่นมาค้ำตัวหุ้นเสมอ
- ตลาดหมี จะมีจังหวะเด้งขึ้นเป็นรอบส้้นๆ เราอาจจะซื้อดักเพื่อเล่นเก็งกำไร แต่ อย่าลืมว่าเวลาลงจะลงเร็วและรุนแรงกว่า
- สำหรับคนที่หาหุ้นเล่นไม่ได้จริงๆ ให้โยกเงินบางส่วนไปไว้ตราสารหนี้ระยะสั้น หรือเงินฝากที่มีดอกเบี้ยสูง อย่าลืมว่าการอยู่เฉยๆ อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์มากกว่าซื้อๆขายๆ
- เล่นหุ้นตามกระแส อย่าเล่นหุ้นสวนกระแส หุ้นน่าเล่นมีน้อยในสภาวะตลาดมีอาจจะไม่ถึง 10%
- ช๊อตหุ้น ช๊อตฟิวเจอร์เป็นการเปิดโอกาสในการทำกำไรขาลง สำหรับนักลงทุนผู้มีประสบการณ์เท่านั้น
- เทรดหุ้นในไซส์ที่เล็กลง และระมัดระวังในเรื่องการกู้มาร์จิ้น
- ถ้ามีกำไร ให้ขายทำกำไรไปบ้าง อย่าถือไว้จนขาดทุน
- จงอดทน ตามสถิติแล้วตลาดหมีกินระยะเวลาสั้นกว่าตลาดกระทิง รอให้ผ่านช่วงตลาดหมีให้ได้ เราจะได้กำไรก้อนใหญ่จากการขึ้นอย่างดุเดือดของตลาดกระทิง
ตลาดหุ้นดาวโจนส์กับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่มาภาพ : Bisnews Professional
นี้ก็เป็นแนวคิดสั้นๆสำหรับนักลงทุน ... เราสามารถจับจังหวะตลาดหุ้นได้โดยใช้อินดิเคเตอร์ง่ายๆอย่างเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน เพื่อบอกแนวโน้มของตลาดหุ้น ที่เหลือคือการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น เก็งกำไรระยะสั้นๆ เทรดในไซส์ที่เล็กลง เล่นหุ้นตามกระแส หรือเล่นหุ้นที่ขึ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด และที่สำคัญคือ จงอดทน เพราะการสิ้นสุดของตลาดหมีคือจุดเริ่มต้นของตลาดกระทิงที่จะขึ้นในเวลาต่อมาครับ