เป็นที่ทราบกันดี “เงินเฟ้อ” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการลงทุนไม่ว่าจะลงทุนด้วยสินทรัพย์ใประเภทใดๆ ก็ตาม เนื่องจากเงินเฟ้อจะเป็นตัวกัดกร่อนผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ ส่งผลให้ผลตอบแทนจะลดลงจากที่ควรจะเป็น นอกจากนั้น เงินเฟ้อยังเป็นตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายการเงินของภาครัฐ เพื่อรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศอีกด้วย
เงินเฟ้อคืออะไร
คำถามคลาสสิคที่ถามกันบ่อยๆ ก็คือ อัตราเงินเฟ้อคืออะไร? เงินเฟ้อก็เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเฉลี่ยเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งมีทั้งการวัดเป็นแบบรายเดือนหรือรายปี ตัวอย่างเช่น หากเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่อัตรา 2% นั่นหมายถึงว่า ราคาสินค้าของปีนี้โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ 2% ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดนักลงทุนจึงต้องให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี หากนักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่นการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ไว้กับธนาคาร จะทำให้เงินเฟ้อกัดกร่อนผลตอบแทนปีแล้วปีเล่า เงินต้นที่เราลงทุนไว้ก็จะมีมูลค่าลดลงอีกด้วย
ใครเป็นผู้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ
ในประเทศไทย หน่วยงานที่เป็นผู้คำนวณเงินเฟ้อและประกาศให้ประชาชนทั่วไปทราบคือ “กระทรวงพาณิชย์” โดยจะประกาศทั้งแบบรายเดือนและรายปี ซึ่งหาเป็นอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน กระทรวงพาณิชย์จะประกาศวันทำการแรกของเดือนถัดไป ซึ่งถือว่าเร็วมากเลยทีเดียว
เงินเฟ้อมีกี่ประเภท
โดยทั่วไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งการคำนวณอัตราเงินเฟ้อประเภทนี้จะไม่รวมการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานและอาหารสด จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อนี้มีความผันผวนน้อย
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ซึ่งจะมีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วยราคาพลังงานและอาหารสดด้วย จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อประเภทนี้มีความผันผวนมากกว่าเงินเฟ้ออีกประเภท
คำนวณเงินเฟ้ออย่างไร
สงสัยคนส่วนใหญ่จะสงสัยว่า สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้อยู่ในประจำวันมักมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมอัตราเงินเฟ้อต่อปีถึงดูไม่สูงมากนัก อันนี้อันเนื่องมาจากการคำนวณเงินเฟ้อไม่ได้คำนวณการปรับเพิ่มราคาสินค้าด้วยน้ำหนักที่เท่ากัน แต่เกิดจากการคำนวณด้วย “การถ่วงน้ำหนัก”
โดยทั่วไปอัตราเงินเฟ้อจะถูกคำนวณด้วยราคาสินค้าหลากหลายประเภทด้วยค่าถ่วงน้ำหนักไม่เท่ากัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป ถูกคิดเป็นค่าถ่วงน้ำหนักสูงสุดถึง 17.02% ตามมาด้วย ยานพาหนะและเชื้อเพลิงเพื่อเดินทาง 16.07%, อาหารสด 15.69%, ค่าเช่าบ้าน 14.29%, บริการสุขภาพ 6.22% และอื่นๆ เมื่อรู้ประเภทของสินค้าและสัดส่วนการถ่วงน้ำหนักแล้ว ก็จะมาใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลาต่อไป
อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปัจจุบัน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย (Core Inflation) 0.60% ต่อปี (เพิ่มขึ้น 0.60% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2561) นอกจากนั้น หากดูที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปี จะพบว่า มีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0.87% ต่อปี ขณะที่ย้อนไปถึง 10 ปี จะมีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 1.11% ต่อปี และเมื่อย้อนไปไกลถึง 15 ปี จะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับ 1.35% ต่อปี
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย (Headline Inflation) เดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีอัตรา 0.73% ต่อปี นอกจากนั้น หากดูที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปี จะพบว่า มีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0.92% ต่อปี ขณะที่ย้อนไปถึง 10 ปี จะมีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 1.46% ต่อปี และเมื่อย้อนไปไกลถึง 15 ปี จะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับ 1.88% ต่อปี