ทุกวันนี้มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่ออกมาประลองไอเดียกันมากมาย โดยเฉพาะจำพวก tech start-up ที่มีเป้าหมายเข้ามา disrupt แทบทุกอุตสาหกรรม การแข่งขันประกวดไอเดียเพื่อชิงรางวัลและเวทีระดมทุนก็มีจัดกันแทบทุกเดือน ดูเหมือนว่าทุกคนจะมีไม่เพื่อนก็ญาติที่ทำ e-wallet กันทั้งนั้น!
คำถามสำคัญในมุมมองนักลงทุนก็คือ เราจะตีมูลค่าสตาร์ทอัพอย่างไรในวันที่บางครั้งเขายังไม่ได้ go-to-market และยังไม่มี proof-of-concept มีแค่ไอเดียกับตัวเปล่าๆ
เราควรดูอะไรเป็นพิเศษหากเราไม่สามารถทำการวิเคราะห์ DCF ได้อย่างมั่นใจเหมือนกับเวลาเราตีมูลค่าบริษัทที่อยู่มาซักพักแล้ว
ในบทความนี้ผู้เขียนจะแชร์ความเห็นจากประสบการณ์ให้คำปรึกษาการลงทุนใน start-up ที่ใช้ data analytics capability เป็นตัวฉีกโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ออกมา
1. ดูคุณภาพของ Founders
ผมคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญเท่าคุณภาพของผู้ก่อตั้งธุรกิจประเภทนี้ จริงอยู่อาจมีคนที่มีไอเดียเดียวกันอีกเป็นหลายร้อยคนในโลก แต่จุดที่จะชี้ว่าไอเดียนี้จะคลอดออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ (และได้กำไรงาม) ภายในเวลาอันสั้น ภายใต้ความกดดันมหาศาล และด้วยทรัพยากรอันจำกัดนั้น มันอยู่ที่คุณภาพของผู้ก่อตั้งเสีนส่วนใหญ่
ไม่แปลกที่ผลสำรวจของ Propel(X) ที่เป็นแพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์สำหรับ Angel Investor พบว่า 75% ของนักลงทุนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อผู้ก่อตั้งมากที่สุด ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนที่อยู่ที่ 2 ถึง 42% (https://blog.propelx.com/tag/angel-survey/)
ในมุมมองผม คุณภาพในที่นี้แบ่งออกได้เป็น 3 มิติ ซึ่งควรมีครบทั้ง 3 มิตินี้ ไม่ใช่มีแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง
มิติแรกคือคุณภาพในเชิงที่ว่าเขามีศักยภาพหรือ “technical capability” พอที่จะขับเคลื่อนธุรกิจแบบนี้ได้จริงหรือไม่ อารมณ์ว่าถ้าผู้ร่วมก่อตั้งสองสามคนนี้จะสร้าง e-wallet แอพพลิเคชั่นขึ้นมา พวกเขาควรจะต้องมีความรู้และประสบการณ์มากพอในเรื่องของการเงิน เศรษฐศาสตร์ การดีไซน์ user-interface และเทคโนโลยี มากพอ เรียกว่าถ้าจะเป็นเถ้าแก่ก็ต้องเป็นในรูปแบบที่รู้ทุกอย่างทะลุปรุโปร่ง (อย่างน้อยในช่วงแรก)
มิติที่สองคือคุณลักษณะที่ฝรั่งเรียกกันว่า “can do attitude” หรือ “hustler”เป็นคนที่ไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้” ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอย่างไร คนจำพวกนี้จะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ จะหาวิธีดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ (อย่างชาญฉลาดและใสสะอาด) เพื่อหาช่องทางใหม่ๆ ไปสู่จุดหมายให้จงได้ ส่วนมากคุณลักษณะแบบนี้มักพบเจอในโลกของ Investment Banking หรือ Private Equity แต่ก็ไม่ได้จำกัดเพียงแต่ในนั้น อ่านดูแล้วอาจไม่เคลียร์แต่ถ้าคุณได้เจอคนประเภทนี้เพียงแค่ครั้งเดียวคุณก็จะเข้าใจทันที สาเหตุที่บางคนมี can do attitude แต่บางคนยอมแพ้เอาง่ายๆ นั้นมีได้หลายประการ บางคนเป็นเพราะเขามีจุดหมายที่แน่ชัด มีคำสัญญากับตัวเอง แต่บางคนก็เป็นไปตามธรรมชาติของเขาเอง
มิติที่สามคือขายเก่ง ซึ่งเป็นทักษะที่ต่างจากแค่การมีหัวการค้าหรือความสามารถในการสร้างโมเดลธุรกิจ แต่เป็นการรวมทั้งหมดนี้เข้ากับทักษะในการพูด การนำเสนอ และการทำความเข้าใจมุมมองของนักลงทุนและลูกค้า การฟังการขายและการนำเสนอที่ดีจากเซลส์นั้นจำเป็นอยู่แล้ว แต่ในระยะแรกควรมาจากปากผู้ก่อตั้งเอง
2. Competitive Advantage
สิ่งต่อไปที่ควรดูคือ “ซอสสูตรลับ” ของสตาร์ทอัพนี้คืออะไร โดยเฉพาะในอุตสาหากรรมที่สามารถเกิดการลอกเลียนแบบได้ในพริบตาแบบนี้ การมี competitive advantage ที่ไม่เกี่ยวกับแค่ตัวคน (ข้อหนึ่งด้านบน) จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้ชะตาสำคัญที่สำคัญกว่าโมเดลธุรกิจเสียอีก เนื่องจากโมเดลธุรกิจปรับได้ในระยะหลัง แต่ competitive advantage ที่สตาร์ทอัพนี้มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น computer code หรือเป็นอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์บางอย่างที่มีอยู่แล้วนั้นอาจต้องใช้เวลามากกว่าคู่แข่งจะพัฒนามาให้เทียบเท่าได้ ฉะนั้นการที่สตาร์ทอัพมีไว้ในครอบครองในช่วงแรกจึงถือเป็นความได้เปรียบที่สำคัญมากๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คืออัลกอริทึมในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแยกแยะว่าในรูปภาพมีสิ่งของอะไรบ้าง ในอดีตการที่คุณจะสอนคอมพิวเตอร์ให้ทำได้นั้น คุณจะต้องสะสมตัวอย่างรูปจำนวนมหาศาลและจะต้องให้มนุษย์นั่งคีย์คำตอบเป็นแสนเป็นล้านครั้งว่าในแต่ละรูปมีสิ่งของอะไรบ้าง
ในช่วงแรกๆ ที่ image classification ยังใหม่ การที่เรามีสมองกลที่เรียนรู้สำเร็จแล้วจึงเป็นอะไรที่มี competitive edge มาก อย่างไรก็ตามในยุคสมัยนี้ อัลกอริทึมนี้หาดาวน์โหลดได้ไม่ยากนัก อีกทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Amazon AWS ก็มีบริการให้ราคาดีจนการที่เรามีอัลกอริทึมนี้ในครอบครองนั้นไม่เป็น competitive advantage ที่น่าแสวงหาอีกต่อไป
หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ เผื่อจะไปลงทุนในสตาร์ทอัพกันนะครับ แน่นอนว่าแม้สองประเด็นนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่วัดได้ด้วยตัวเลขเสมอ ผู้เขียนก็ยังคิดว่ามันเป็นตัวชี้วัดที่ดีกว่าการประดิษฐ์ตัวเลขทางการเงินขึ้นมาเพียงเพื่อทำให้เราสบายใจ