คุณบิ๊ก วรุฒ ฟองอมรกุล กลุ่มคนรุ่นใหม่ gen Y ที่ถูกสังคมมองว่า เป็นเด็กรุ่นใหม่ คิดเร็ว ทำเร็ว ถ้าประสบความสำเร็จก็จะเร็ว หรือหากผิดพลาดก็จะเจ็บหนักทีเดียว เมื่อได้พูดคุยไปถึงมุมมองการลงทุนของคุณบิ๊ก ทำให้เราเห็นมุมที่ต่างออกไป เพราะแท้จริงแล้ว กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่สังคมตั้งชื่อให้นี้ ก็ใจเย็น และรอบคอบมากทีเดียว ตัวเขาเองก็เคยต้องพบกับ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะการลงทุนบนความมั่นใจของ “คนอื่น” เป็นข้อเตือนใจ และสะกิดใจคุณบิ๊กอยู่ตลอด ทำให้ก้าวทุกก้าวหลังจากนี้ต้องระวังและปลอดภัยเสมอ
แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อย
ชื่อบิ๊ก วรุฒ ฟองอมรกุล ครับ ปัจจุบันอายุ 28 ปี เป็นเจ้าของธุรกิจ sme เล็กๆครับ ชื่อชาสมุนไพรชื่อ เกลอม่า เรียนจบเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะการเงินและการลงทุน มหาวิทยาลัยเอแบคครับ
เริ่มสนใจการลงทุนได้ยังไง
เริ่มสนใจการลงทุนตอนที่ หุ้นที่คุณลุงให้เราซื้อเก็บไว้ในพอร์ต ทำกำไรได้เยอะมากในช่วงหนึ่ง คือเราซื้อตอน 8 บาท มันก็ขึ้นมาเรื่อยๆ เรารินขาย ตอน 16 บาท แล้วขายไม้สุดท้ายไปตอน 24 บาท ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่เราเห็นการลงเงินแล้วมันได้ผลตอบแทนกลับมาเยอะมากๆ โดยที่เราไม่ต้องขยับตัวอะไรเลย ผลตอบแทนเป็นตัวที่ทำให้เราเริ่มสนใจการลงทุน
ระหว่างที่ลงทุนมีช่วงที่ผิดพลาดบางไหม
สมัยเริ่มทำงาน ได้ประมาน 1 ปีแรก ช่วงนั้นเริ่มลงทุนไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นช่วงมือทอง ไม่สิ เหมือนเราฟลุ๊กมากกว่า คือหุ้นตัวที่เราได้รับคำแนะนำให้ซื้อที่ผ่านมามันถูกตลอด ทำให้เรายิ่งมั่นใจ จนพอเริ่มทำงานปีแรก ก็มีการเริ่มลงทุนกับเพื่อนบ้าง มีคนมาแนะนำบ้าง เราก็เลยเลือกที่จะไปลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ซึ่งความผิดพลาดในการลงทุนครั้งนี้ก็คือ เราไม่ได้รู้จักหุ้นที่เราซื้อ เราไม่รู้ว่าเขาทำธุรกิจอะไร ไม่รู้ cycle ของราคา ไม่รู้ภาพรวม ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่เราก็ยังลงทุนลงทุนด้วยเหตุผลเพราะ
1. คนที่เขาแนะนำเราเขาใส่เงินมากกว่าเรา มันทำให้เรารู้สึกว่า เห้ย! เค้ามั่นใจมากเลย เราลงแค่ 10% ของเขาเอง ถ้าเขาไม่กลัวเจ๊ง ทำไมเราต้องกลัวเจ๊ง? เราเลือกลงทุนบนความมั่นใจของคนอื่นไม่ใช่ของตัวเราเอง
2.เราซื้อหุ้น จากคนที่ เรามองการซื้อหุ้นในอดีตของเขา เราเชื่อในศักยภาพของเขา ว่าเห้ย! คนนี้นะ เคยลงทุนจากเงินเล็กเป็นเงินใหญ่ได้ เพราะเขาแนะนำหุ้นอะไรมา ก็เลยคิดว่ามันน่าจะดี เพราะว่าเค้าโตมาทางนี้ ซึ่งในความเป็นจริง มันเกิดอะไรขึ้นได้เสมอ หุ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากซักเท่าไหร่
ความผิดพลาดของการลงทุน คือเพราะมองว่าพอเพื่อนเขาซื้อเยอะเราก็ซื้อตาม แต่โชคดีว่า ณ ตอนนั้น พอร์ตเรา ยังมีหุ้นตัวอื่นอยู่ ถ้าตอนนั้นไม่มีหุ้นตัวอื่นเลย เราคงใส่เงินกับตัวที่เขาแนะนำไปจนหมด เพราะเรามีนิสัยที่เป็นการลงทุนที่ผิด ตอนนั้นคือเงิน 30 % ของเงินสดทั้งหมด ก็คือเอาลงไปในหุ้นตัวนั้น แล้วมันดันไม่เป็นแบบที่เราคิด มันลงเรื่อยๆ เรื่อยๆ เราทนถือมันลบถึง 50% ประมาณครึ่งปี คือทนอยู่กับความเครียดของการขาดทุน มีความคิดที่ว่า เราต้องทำงานกี่เดือนกว่าจะได้เงินก้อนนี้คืนมา กับความผิดพลาดที่ตอนนั้นมอง ก็คิดแต่อยากโทษคนอื่น ไม่โทษตัวเราเองอีก
แล้วแก้ไขสถานการณ์ตอนนั้นยังไง
ก็ทนถือ ติดลบ 50 % มาเรื่อยๆ จนถือมาได้ประมาณ 6-7 เดือน ตอนนั้นโชคดี มันกลับมาขึ้นมา เหลือแค่ติดลบ 20 % ในความรู้สึกเรา ก็ยังเป็นจำนวนเงินที่เยอะนะครับ เพราะเราไม่ได้มีเงินเก็บเยอะ มันก็ยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของเงินเก็บที่เรามี แต่สุดท้ายก็ต้องตัดจบที่ขาดทุน 20% หายไป มันก็คงเป็นทางออกที่ดีสุด และทำให้ได้เรียนรู้ได้มากเลยในจุดนั้น
เพราะอะไรที่ทำให้เปลี่ยนวิธีคิดและปรับวิธีการลงทุนให้ดีขึ้น
เราไปอยู่ที่ญี่ปุ่นหลังจากทำงานมาได้ ประมาณ 3 ปี เราเริ่มคิดว่า วิถีชีวิตของเราตอนนี้ เราไม่ชอบแบบนี้ ในตัวเราเองเรามีข้อเสียหลายอย่าง เราไม่ชอบรูปแบบชีวิตประจำวันที่เรามีอยู่ เรารู้สึกว่าตัวเรามันเหมาะกับทางอื่นมากกว่า มีความรู้สึกว่า เราไม่น่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการลงทุนและการเงิน มันไม่น่าใช่สายอาชีพเรา ทั้งๆที่จบมาโดยตรงเลยนะ ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะลองอย่างอื่น พอดีกับว่าตอนนั้นก็มีความสนใจเรื่องของการปลูกต้นไม้ พืชพรรณ ธรรมชาติ เลยตัดสินใจไปอยู่ที่ญี่ปุ่น มันเปลี่ยนให้เราเป็นผู้ใหญ่ มันเปลี่ยนให้เราโตขึ้น ใจเย็นมากขึ้น ไม่ได้มองว่า ชีวิตเรามันเป็นแค่การลงทุนเป็นก้อนๆ แต่เรามองไปเลยว่า ชีวิตเราทั้งชีวิต ถ้าเราคิดแบบนี้ เราก็จะลงทุนแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีความใจร้อน เราลงทุนแบบวัยรุ่น หวังผลตอบแทน อยากให้ได้ตามเป้า ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ การปลูกต้นไม้ อยู่กับธรรมชาติ ข้อนึงเลยคือมันทำให้เราต้องอดทนมากๆ เพราะว่าการปลูกต้นไม้ คือเราลุกขึ้นมาดูมันทุกวัน 5-6 วัน มันก็ไม่ได้โตขึ้นเยอะหนักหรอก มันทำให้เรารู้สึกว่า เรารอได้ จากที่เราไม่เคยรอได้ การที่ได้ไปอยู่กับชาวนา ไปเห็นชาวนาที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ไร่นาทั้งหมด เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนกับชีวิตว่า การลงทุนมันต้องมีความเสี่ยง ชีวิตมันก็มีความเสี่ยง ก่อนที่จะมาญี่ปุ่น เราลงทุนแบบ มีความเสี่ยงเพราะเราอยากได้ผลตอบแทนเยอะ แต่พอเรามองการลงทุนกับชีวิตเหมือนกัน การใช้ชีวิตมันไม่มีใครอยากเสี่ยง เราอยากเซฟที่สุด (safe-ปลอดภัย) ทำยังไงก็ได้ให้เราปลอดภัยที่สุด พอมุมมองมันเปลี่ยน กลยุทธ์ในการลงทุน และทุกอย่างมันเปลี่ยนหมดเลย เราเริ่มรู้ว่าอะไรไม่ควรทำในการลงทุนเพราะว่ามันเสี่ยง การที่คนหนึ่งคนดูแลไร่ชา ไร่ข้าว ถ้าพลาดเรื่องเดียวคือมันพังทั้งหมด เราเห็นว่าคนหนึ่งคนที่ทำธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการเวลาที่เขาบริหาร เขาพยายามที่จะอุดรอยรั่วทุกๆอย่าง ซึ่งมันเป็นการลดความเสี่ยงที่เราไม่เคยมอง
ขอหลักการการลงทุนในแบบฉบับของตัวเอง
ส่วนตัวผมคิดว่า หลักการนี้ใครๆ ก็ให้นะครับ ผมเองก็เหมือนจะพูดซ้ำ หลักการของการลงทุนมันน่าจะมีอยู่แค่ประเด็นเดียว เราจะต้องเข้าใจสิ่งที่เรา จะลงทุน ประมาณช่วง ป. 5 เราก็เริ่มเก็บตังที่คุณพ่อคุณแม่ให้ ประมาณวันละ 10-20 บาท ก็เริ่มเก็บๆ ได้ซักประมาณ 200-300 แล้วก็เอาเงิน ไปซื้อไฟแช็กเพราะว่าเรารู้ว่าตอนนั้น เพื่อนๆเราทุกคนโดนพ่อแม่ห้ามไม่ให้เล่นไฟ เล่นมีด คือเรารู้ว่า 2 อย่างนี้เป็นของที่ทุกคนสนใจ ทุกคนไม่เคยได้สัมผัส และมันราคาไม่แพง ก็เลยเอาเงินเก็บไปเหมาไฟแช็กมาจากร้านหน้าโรงเรียน แล้วก็เอาเข้ามาขายเพื่อน พบว่าขายหมดเร็วมากๆ ผมมองว่าแบบนี้แหละ คือการลงทุนที่เราเข้าใจมันจริงๆ คือมองเห็นว่าจะมีคนมาซื้อ เรารู้ว่าเพื่อนเราอยากได้มันขนาดไหน ซื้อมา 5 บาท ขาย 20 บาทได้สบายๆเลย มันเป็นตัวอย่างของการลงทุนที่เราเข้าใจมันดี ซึ่งมันต่างกับว่า ถ้ามีคนมาบอกเราว่า เฮ้ย! ไปซื้อไฟแช็กมาขายดิ ลองดู เราอาจจะขาดทุนก็ได้เพราะว่าคนอื่นๆมีไฟแช็กกันหมดแล้ว คือเราอาจจะช้าไป การที่เราไม่ได้เริ่มลงทุนเพราะเราเข้าใจคือข้อเสีย มันมีความเข้าใจเป็นองค์ประกอบหลักของการลงทุน แต่คนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนใหม่ๆ น่าจะอยู่ที่ว่าเราหาเหตุผลอื่นมาเติมความมั่นใจการลงทุนของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน เช่น คนนี้มั่นใจกว่าเรา คนนี้รวยกว่าเรา คนนี้เขียนหนังสือ คือเราเอาความมั่นใจของคนอื่นมาเป็นตัวตัดสินให้เรายอมจ่ายเงิน ซึ่งแตกต่างกับความเข้าใจมาก ยกตัวอย่างอีก สมมุติว่าเราอยากซื้อ Laptop ซักเครื่องหนึ่ง แต่เราเป็นนักศึกษา ไม่ได้มีเงินมาก เก็บเงินได้ 3-4 หมื่น อยากได้คอมซักตัวเราจะไม่มีทางซื้อคอม ถ้าเราไม่ได้เจอคอมตัวที่เราชอบมากๆ มันหมายความว่าเราเข้าใจมากๆ ว่าคอมเครื่องนี้ ชนะทุกตัวในความเข้าใจของเรา มันจะมีประโยชน์ต่อเรา และเราควรจะเสียตัง ความเข้าใจเนี่ยแหละมันน่าจะเป็นหลักเดียวที่ควรใช้ในการลงทุน
ฝากบอกถึงคนที่ยังกลัวการลงทุนหน่อย
ถ้าคุณยังกลัวการลงทุน ก็ไม่ต้องลงทุน อันนี้คือคำแนะนำของผมนะ ผมคิดว่าความกลัวมาจากความคิดที่ว่าคุณไม่เข้าใจว่ากลไลมันเวิร์คยังไง คุณจะได้ หรือจะเสียยังไง ถ้าคุณไม่เข้าใจ ที่ต้องทำคือศึกษาให้เข้าใจ ให้มั่นใจ ให้รู้ว่ามันคือสิ่งที่ลงทุนได้ และเราตอบได้ตรงนั้นจริงๆว่า คือสิ่งที่เราจะเลือกทำ
เห็นได้ชัดเจนมากว่าสิ่งที่คุณบิ๊กทำ คือการทำความเข้าใจ ทั้งสนามการลงทุนที่เขากำลังเล่นเกมส์นั้นอยู่ และการใช้ชีวิตของตัวเขาเอง เหมือนเป็นเกมส์สองกระดาน ที่ต้องเข้าใจและเล่นมันไปพร้อมๆกัน เป็นคู่ขนาน ซึ่งคู่แข่งคือตัวเขาเองนั้นแหละ ทำความรู้จักตัวเองในวันนี้ให้มากกว่าตัวเองในเมื่อวานอยู่ทุกๆวัน และใช้มันเป็นแบบอย่างในการศึกษาเรื่องการลงทุน เชื่อว่าเพื่อนๆนักลงทุนมือใหม่และมือเก๋า จะได้ข้อคิดดีๆที่นำไปปรับใช้กับการลงทุนของตัวเองจากคุณบิ๊กไปอย่างแน่นอน..แล้ว EP. หน้า เราจะพาเพื่อนๆไปแนะนำวิธีการลงทุนของสายอาชีพไหนอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ..