My Way My Investment อีกหนึ่งโปรเจกต์ดี ๆ ที่พวกเราชาว stock2morrow ตั้งใจทำขึ้น เพราะเราเชื่อว่า #ทุกอาชีพสามารถลงทุนได้ ครั้งนี้ EP.10 มาพร้อมกับ อาชีพที่ปรึกษาทรัพยากรบุคคล
ทุกบริษัท ทุกองค์กร ต้องมีตำแหน่ง “HR” ขาด ลา มาสาย ขอขึ้นเงินเงินเดือน ก็ต้องคิดถึงคนนี้
“มากคนก็ยิ่งมากความ” คำโบราณที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่คงใช้ไม่ได้กับตำแหน่ง HR เพราะเขาเป็นคนที่จัดการคนจำนวนมากให้ความน้อยลงได้ บทสัมภาษณ์นี้ เราได้สัมภาษณ์ พี่หนึ่ง ทศพล อมรพิชญ์ปรัชญา หนุ่มอารมณ์ดี ตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลของหลายบริษัทชั้นนำ พี่หนึ่งเจอคนมาหลากหลายรูปแบบ และยังใช้ประสบการณ์ที่ต้องดูแลคนเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนของพี่หนึ่งเอง..อย่ารอช้าเลยค่ะ อยากให้เพื่อนๆได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังต้องอมยิ้มไปตามๆกัน ไปเริ่มกันเลย..
แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อยค่ะ แล้วตอนนี้ลงทุนอะไรอยู่บ้างคะ?
สวัสดีครับ พี่หนึ่ง ทศพล อมรพิชญ์ปรัชญาครับ อาชีพปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล และทำธุรกิจส่วนตัวด้วยครับ ตอนนี้ก็ลงทุนพื้นฐานเลย เก็บเงินสดในธนาคาร (หัวเราะ) เล่นหุ้น ซื้อกองทุน และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
เริ่มมาลงทุนได้ยังไง?
พอทำงานแล้วเริ่มมีเงินเก็บ ก็เก็บในธนาคาร แล้วรู้สึกว่าอัตราผลตอบแทนของเงินเก็บจากธนาคารมันไม่ทันเงินเฟ้อ ค่าของเงินเราเหมือนจะลดลงไปเรื่อยๆ ก็เลยหาช่องทางว่าจะทำยังไงดีให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้ และอีกอย่างคือ คิดว่าปัจจุบันเรามีแรงทำงาน ได้เงินมาเป็น active income ใช่ไหม พอถึงจุดหนึ่ง เมื่อเราอายุมากขึ้น เราจะดำรงชีวิตอยู่ยังไงถ้าไม่มีแรงทำ active income ตรงนี้ ก็เลยคิดว่า ต้องเอาเงินที่เรามีอยู่ตอนนี้ เอาไปทำให้มันออกดอกออกผล เพื่ออนาคตเราจะได้มีเงินไว้ใช้
พอคิดได้แบบนั้นแล้ว ก็เริ่มจากการศึกษาก่อน การลงทุนมันคืออะไร เพราะตอนเด็กๆ มันก็ไม่มีใครสอนเรื่องนี้ใช่ไหมละ (หัวเราะ) เราก็เริ่มจากอ่านหนังสือ หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต มาฟังสัมมนา ส่วนหนึ่งเลยก็เกิดจากประสบการณ์ และเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านเข้ามา ณ ช่วงเวลานั้นๆด้วย ช่วงแรกๆที่เริ่มลงทุน คือเป็นช่วงที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคล พี่เองก็เจอคนเยอะมาก ที่เขาไม่มีเงินเก็บ แล้วถึงเวลาเกิดวิกฤตในชีวิตเนี่ย เขาก็ล้มแล้วจะลุกขึ้นมาไม่ค่อยได้ ยกตัวอย่าง เวลาเกิดเราไม่สบายขึ้นมา พี่เห็นพนักงานของพี่เอง เข้าโรงพยาบาลครั้งนึงก็หลายแสน และไม่มีเงินเก็บ สิ่งที่ต้องทำคือไปกู้ยืมนอกระบบมา บางครั้งร้อยละ 20 คือต่อเดือนนะ สมมติกู้ 1 แสน ต้องจ่ายดอกเดือนละ 20,000 คิดเลย เราเห็นแล้วชีวิตที่เป็นแบบนี้มันลำบากน่าดู เราก็เลยต้องพยายามที่จะหาเงินเก็บ เพื่อที่ความเสี่ยงของชีวิตที่มันจะเกิดขึ้น จะได้ไม่ลำบากจนเกินไป
การลงทุนที่พี่หนึ่งทำอยู่ตอนนี้ แบบไหนที่เรียกว่าตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตของพี่หนึ่งเองมากที่สุด?
จริงๆแล้วท้ายที่สุด ทุกคนต้องหาจริตหรือวิธีการของตัวเองให้เจอว่าตัวเรา ชอบแบบไหน ซึ่งทั้งหมดมันก็ขึ้นอยู่กับภาวะความเสี่ยงของชีวิต ขึ้นอยู่กับอายุ ณ ช่วงเวลานั้นๆ วิธีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัย แรกๆ เราอาจจะลงทุนโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว แล้วเราก็หาวิธีทางของเราให้เจอ ว่าท้ายที่สุดเราชอบแบบไหน เราอาจจะฟังว่าคนนู้นเขาชอบแบบเข้าเร็วออกเร็ว บางคนชอบอยู่นานๆ เป็น IV แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องรู้ว่า จริตของเราเป็นยังไง แล้วเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันก็เปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้นด้วย เปลี่ยนไปตามประะสบการณ์ที่เราเคยเจอ สไตล์พี่ คือไม่ได้มีเวลามานั่งดูติดตามอยู่ตลอดเวลา เลยคิดว่าตัวเองเหมาะกับเชิง VI มากกว่า เพราะพี่ไม่มีเวลามานั่งดูเลย
พี่หนึ่งมีวิธีการบริหารจัดการแบ่งเวลาอย่างไร ทำงานหลายอย่างและลงทุนไปด้วย?
การเริ่มต้นลงทุนเนี่ย พี่ว่าชีวิตคนเรา มันแบ่งเป็น 3 ช่วง
-
เป็นช่วงที่เราเกิดมาแล้วเราต้องพึ่งพาคนอื่น พึ่งพาพ่อแม่ คนรอบตัว ที่เขาต้องมีส่วนช่วยเหลือเรา
-
คือช่วงที่เราต้องพึ่งพาตัวเองว่าเราต้องอยู่ได้ด้วยขาของเราเอง พอเราทำงาน ทำธุรกิจไปเรื่อยๆ จะเข้าสู่ช่วงที่สาม
-
คือเราเป็นต้องเป็นที่พึ่งให้คนอื่นๆ
ซึ่งการลงทุนในแต่ละช่วงมันไม่เหมือนกัน อย่างแรกเลย มันคือตอนนี้เราอยู่ช่วงไหนของชีวิต ตัวเราเองมีศักยภาพ มีความเสี่ยงในชีวิตมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรามีภาระที่เยอะมันก็ต้องคิดหลายเรื่อง บางคนไม่มีภาระมากก็สบายหน่อยไม่ต้องกังวลมาก แล้วถึงจัดการวิธีการลงทุน จัดการพอร์ตของเราให้เป็นไปตามช่วงอายุที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งถ้าเราอยู่ในแวดวงธุรกิจอยู่แล้ว เราจะรู้ว่าธุรกิจไหนดีไม่ดี ในแต่ละช่วงแต่ละเหตุการณ์ เราก็จะมีข้อมูล เราก็พยายามดูแลจัดการพอร์ตของเรา จะย้ายอันไหนจะไปอันไหนให้เราไม่ต้องเหนื่อยมากเกินไป ก็ต้องทำการบ้าน แบ่งเวลาที่จะเรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้ และแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นความรับผิดชอบในชีวิต
พี่หนึ่งคิดว่าการลงทุนเป็นอุปสรรคกับแต่ละสายอาชีพไหม?
จริงๆทุกอาชีพไม่มีอุปสรรคกับการลงทุนหรอก แต่ทุกอาชีพและทุกคนจะเห็นความสำคัญของการลงทุนหรือเปล่านั่นคืออีกเรื่องนึง มนุษย์ทุกคนจะเข้าสู่สัญชาตญาณของตัวเองอยู่แล้ว บางคนกลัวการที่จะเริ่มลงทุน กลัวมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือกำไร แต่เชื่อไหมว่าท้ายที่สุด เราจะเริ่มวันไหน นิสัยในการลงทุนเราก็จะเหมือนเดิม เพราะงั้นยิ่งลงทุนเร็ว เราก็จะเริ่มรู้ตัวจักตัวเองเร็วมากขึ้น เรามีนิสัยและจริตเป็นแบบไหน สมมุติว่าเราเป็นคนชอบความเสี่ยง เราไม่เสี่ยงในวันนี้แล้วเราจะไปเสี่ยงในอนาคตหรือ ตอนเราอายุมากๆแล้วมีเงินเหลืออยู่ก้อนสุดท้ายแถมไม่มีแรงไปหาเพิ่ม จะไปเสี่ยงวันนั้นหรือ มันไม่โอเคไหมละ (หัวเราะ) เพราะงั้นเรายิ่งลงทุนเร็ว เรายิ่งรู้นิสัยตัวเราเองว่าเราเป็นยังไง เราควบคุมความโลภของตัวเองได้หรือเปล่า เราเชื่อในสิ่งที่คนเขาพูดกันไหม เราทำการบ้านดีพอหรือยัง เรายิ่งลงทุนเร็ว เรายิ่งพลาดเร็ว เรายิ่งมี Learning curve มากขึ้น (รอยหยักของการเรียนรู้) พี่เชื่อว่า ยิ่งอายุน้อยยิ่งลงทุนเร็ว ความเสี่ยงมันน้อยกว่าตอนที่อายุมากและก็ยิ่งจะได้เรียนรู้ตัวเราเอง
วันหนึ่งที่เรามีเงินไม่ถึงล้าน วันหนึ่งที่มีเงิน 1 ล้าน วันหนึ่งที่เรามีเงิน 5 ล้าน วันหนึ่งที่เรามีเงิน 10 ล้าน เราจะมีความโลภที่แตกต่างกัน และความยากของการลงจำนวนเงินที่ต่างกัน มันก็ยากต่างกันอีก ยิ่งเราลงเงินเร็วเท่าไหร่ มันก็ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดมันคือการเรียนรู้ตัวเราเองว่า เราควบคุมตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน เวลาที่เราเจอเหตุการณ์ที่แตกต่างกันเข้ามา เราจะมีวิธีการจัดการกับตัวเองได้หรือไม่อย่างไร
เคยมีประสบการณ์ที่ผิดพลาดในการลงทุนบ้างไหมคะ?
ทุกคนที่ลงทุนเคยมีความผิดพลาดทั้งนั้นนะ มันคือเรื่องของการจัดการความโลภของตัวเอง ถ้าเราจัดการความโลภไม่ได้ เราเชื่อข่าวลือ เราเชื่อวงใน (หัวเราะ) มันก็ต้องพังแน่นอน ท้ายที่สุดมันคือการจัดการตัวเองให้ได้ มันต้องตรอง ต้องคิด แต่บางทีมันก็สนุกๆนะ เพราะคนไทยชอบพนันไง ไม่ได้หมายถึงเล่นการพนันนะ คืออะไรที่มันยิ่งเสี่ยงมาก มันก็สนุกสนานดี เหมือนพนันว่า สิ่งที่เราได้ยินมา มันจะตรงหรือเกิดขึ้นจริงๆไหม ถ้าเราจัดการความโลภของตัวเองได้ เราก็จะไม่เจ็บหนัก แต่ถ้าจัดการไม่ได้ ก็ต้องเจ็บไป แต่มันดีตรงที่ว่า ท้ายที่สุดเราต้องก็เจอเรื่องแบบนี้ในชีวิต มันอยู่ที่เราจะจัดการมันได้เร็วหรือช้า มันจะสร้าง Learning curve ให้เราได้ตระหนักและเรียนรู้ เป็นบทเรียนที่ทุกคนต้องเจอ ถึงบอกว่าควรรีบลงทุน เพราะเจอเร็วเท่าไหร่ มันจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจการลงทุน และจัดการความโลภของตัวเองได้
ยังมีทั้งคนที่กลัวการลงทุน และคนที่ยังไม่ได้คิดเรื่องการลงทุนอีกมากในประเทศเรา พี่หนึ่งมีความเห็นอย่างไร หรือฝากบอกอะไรพวกเขาหน่อยค่ะ
เอาคนที่ยังไม่คิดถึงก่อน ให้ฉุกคิดถึงชีวิตของเรา ตอนนี้ในประเทศไทย กลุ่มคนเกษียณอาจจะอายุ 55-60 สมมติเราวางแผนว่าเราจะตายซัก 80 นะ (หัวเราะ) เราจะมีชีวิตที่ต้องดำรงในโลกนี้คือ 20-25 ปีหลังเกษียณ แล้วเราคิดว่าเราจะเอาเงินที่ไหนใช้ สมมุติว่าอยากมีเงินใช้ 50,000 บาทต่อเดือน 20 ปี คือ 12 ล้านบาท ไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ หมายความว่าในวันที่เราเกษียนเราต้องมีเงิน 12 ล้าน แล้วเราจะเอาเงินที่ไหน 12 ล้าน หาได้ไหม 12 ล้านนี่แค่ค่าครองชีพ (cost of living ) นะ ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลอีก ถ้าเราเริ่มตระหนักเรื่องพวกนี้ เราจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำคือเริ่มมีการเก็บออมเงิน เอาไปลงทุน เพื่อให้วันนั้นที่จะมาถึงในอนาคต เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูชีวิตของตัวเราเอง อันนี้เป็นภาวะที่ทุกคนควรต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของมันจริงๆ
ส่วนคนที่ยังกลัว กลุ่มนี้คือเริ่มคิดแล้วถูกไหมแต่ไม่กล้า ให้ตั้งคำถามแบบเบสิคพื้นฐานเลยนะ อัตราดอกเบี้ยธนาคาร มันก็ไม่ทันกับอัตราการเพิ่มของค่าครองชีพอยู่แล้วนะ หมายความว่าเราฝากเงินไว้ในแบงค์เนี่ย มูลค่ามีแต่ลดลง ยังไงก็เสียอยู่แล้วจริงไหม เราต้องหาวิธีว่าจัดการยังไงให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมไม่น้อยจนเกินไป ให้ผลตอบแทนที่ดีที่จะพอให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ คือ ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถสร้าง active income ได้ เราจะต้องมี passive income จากเงินที่เราเอาไปลงทุนให้มันออกดอกออกผล ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ดอกผลเหล่านั้น มัน cover cost of living (ครอบคลุมค่าของชีพ) ของเราได้ หมายความเราจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตได้มากกว่าเดิม งั้นก็ต้องอย่างกลัว แต่ต้องศึกษา อ่านหนังสือ เข้าสัมมนา ฟังจากคนที่เขารู้ มีวิธีการเรียนรู้ตั้งมากมาย แล้วก็หาตัวเองให้เจอ พี่ว่ายังไงท้ายที่สุดทุกคนต้องลงทุน ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น
พี่หนึ่งบอกเคล็ดลับการลงทุนของตัวเองหน่อย
เคล็ดลับการลงทุนของแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยในการดำรงชีวิตที่แตกต่างและไม่เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้น เคล็ดลับคือการหาทางของตัวเองให้เจอ ว่าเราต้องการอะไร มีจริตแบบไหน แบบไหนเหมาะกับเรา เรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน อันเนี่ยคือที่สำคัญที่สุด มันคือไลฟสไตล์ ความอยากได้อยากมีของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน งั้นเราก็ต้องหาตัวเองให้เจอและจัดการตัวเองให้ได้ สุดท้ายแล้วเราอยากได้รูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหน เราก็จะหารูปแบบการลงทุนที่สอดคล้องกับมันได้เอง
เชื่อว่าบทความนี้ต้องเป็นอีกหนึ่งบทความที่ทำให้เพื่อนๆนัก(เกือบจะ)ลงทุนหลายๆคน จะได้เริ่มลงทุนกันซักที คำถามที่พี่หนึ่งชวนให้ฉุกคิดตาม มันเหมือนยิ่งตอกย้ำว่าการลงทุน มันสำคัญต่อเราทั้งในปัจจุบัน และยิ่งสำคัญมากในอนาคต ใครที่ยังกล้าๆกลัวๆ ก็อย่าลืมคำถามของพี่หนึ่งนะคะ ต้องบอกเลยว่านอกจากจะได้ข้อคิดในการลงทุนไปปรับใช้แล้ว ความอารมณ์ดีของพี่หนึ่งยังมอบเสียงหัวเราะให้ทีมงานตลอดการสัมภาษณ์อีกด้วย..สำหรับ EP. หน้า เพื่อนๆอยากให้เราพาไปทำความรู้จักกับวิธีการลงทุนของอาชีพไหน ก็คอมเม้นท์บอกทีมงานได้นะคะ..แล้วพบกันค่ะ