#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

== 10 เรื่องน่ารู้หุ้น ZEN ก่อนเข้าตลาด ==

โดย Stock Vitamins - วิตามินหุ้น
เผยแพร่:
501 views

1) ZEN เกิดมาจาก FUJI
.
ต้องเกริ่นแบบนี้ก่อนว่า คุณ “เคนจิ ทานาก้า” นายธนาคารจากญี่ปุ่น เพื่อนชวนมาทำร้านอาหารที่เมืองไทย เริ่มเปิดร้านที่ตึกอับดุล ราฮิม ในชื่อ “ไดโกกุ” สั่งสมประสบการณ์อยู่หลายปี เล็งเห็นโอกาสที่ว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นสมัยนั้นราคาแพง และมักจะอยู่ตามโรงแรม เข้าถึงได้ยาก คุณเคนจิ เลยไปเปิดร้าน Fuji แห่งแรกที่ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในปี พ.ศ. 2525 เป็นอาหารต้นตำรับญี่ปุ่นแท้ๆ แต่ปรับรสชาติให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้
..
เมื่อพูดถึงเซ็นทรัลเราก็จะนึกถึงครอบครัว “จิราธิวัฒน์” โดย Fuji เองก็ได้คุณสุทธิเดช จิราธิวัฒน์ เข้ามาถือหุ้นด้วย ก่อนที่จะมาเปิดร้าน ZEN ของตัวเองเมื่อปี 2534 ที่ซอยทองหล่อ และขยายสาขาเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน Fuji ส่งไม้ต่อให้ลูกชายคือ คุณไดซากุ และคุณอำนาจ ทานาก้า บริหารงาน ขณะที่ ZEN เองก็เป็นรุ่นลูกคือ คุณสรรคนนท์ และคุณจอมขวัญ จิราธิวัฒน์ มาดูแล แต่พิเศษกว่าหน่อยที่มีผู้บริหารมืออาชีพอย่างคุณ “บุญยง ตันสกุล”จาก Singer เข้ามาเป็น CEO เดี๋ยวจะเล่ารายละเอียดให้ฟังกันครับ
..
2) 12 แบรนด์ 255 สาขา 2,500 ล้านบาท 
..
โครงสร้างรายได้แบ่งเป็น 3 ธุรกิจ คือ
.
• 91% มาจากร้านอาหารของตัวเองมีทั้งหมด 110 สาขา เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นและไทยอย่างละ 6 แบรนด์ 41% มาจาก ZEN 20% ร้านปิ้งย่าง AKA 13% On the Table ส่วนร้านอาหารไทย 10% นำทีมโดยร้านตำมั่ว
• 7% มาจากธุรกิจ Franchise ตอนนี้มี 145 สาขา
• ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่น ๆ เช่น Delivery, Catering และซอสปรุงรสเช่น น้ำปลาร้า น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มไก่ตราตำมั่ว
..
ถ้าเล่าเป็น Timeline ให้เห็นภาพคือ

ปี 2534 เปิดร้าน ZEN แห่งแรกที่ซอยทองหล่อ และอีก 2 ปีถัดมาเริ่มขยายออกไปต่างจังหวัดตามการเปิดตัวของห้างเซ็นทรัล ปัจจุบันมีร้าน ZEN 43 สาขา ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้ง 450 บาท
.
ปี 2550 เปิดร้าน AKA แห่งแรกที่ Central World ปัจจุบันมี 18 สาขา ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้ง 500 บาท
.
ปี 2554 เปิดร้าน On the Table ปัจจุบันมี 19 สาขา เป็นร้านแบบ Lifestyle ผสมผสานญี่ปุ่นกับตะวันตก ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้ง 380 บาท
.
ปี 2559 ใช้เงิน 267 ล้านบาท ซื้อธุรกิจจากบริษัท Crazy Spicy เป็นร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ ตำมั่ว ลาวญวน เฝอ เป็นต้น โดยได้สิทธิ์แฟรนไชส์ที่มีอยู่แล้วมาด้วย ทำให้สาขาเพิ่มขึ้นเยอะมากจากตรงนี้ ปัจจุบันร้านอาหารไทยมี 167 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 143 สาขา
.
ปี 2560 ใช้เงิน 37.5 ล้านบาท ซื้อกิจการร้านญี่ปุ่นพรีเมียมแบรนด์ Sushi Cyu (ซูชิชู) ตอนนี้มี 3 สาขา ร้านนี้ import วัตถุดิบโดยตรงมาจากญี่ปุ่น และมีเมนูแบบ Omakase ที่เชฟจัดเซ็ตพิเศษประมาณ 10-13 คำ ด้วย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้ง 1,600 บาท
.
3) รายได้ Franchise มาจาก 3 ส่วน
.
• Franchise Fee เป็นค่าแรกเข้า เก็บครั้งเดียว 400,000 – 800,000 บาท แต่ถ้าเปิดต่างประเทศเก็บแพงกว่า คือ 1-1.5 ล้านบาท อันนี้ยังไม่นับค่าก่อสร้าง ค่าตกแต่งร้าน
.
• Royalty Fee เป็นเหมือนค่าลิขสิทธิ์ ค่าแบรนด์ เก็บ 2-4% ของรายได้ต่อเดือน แล้วแต่แบรนด์ แต่ว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 รายใหม่เก็บ 4% หมด
.
• Marketing Fee เป็นเหมือนค่าการตลาด ค่าโฆษณาต่าง ๆ ที่บริษัทแม่ทำ เก็บ 1-2% ของรายได้ต่อเดือน แต่ว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 รายใหม่เก็บ 2% หมด ส่วนต่างประเทศไม่เก็บค่านี้ เพราะทำการตลาดกันเอง
.
Franchisee นี่โกงยาก เพราะว่าต้องติดตั้งเครื่อง POS และ ZEN เข้าเช็ค online ได้ ฝ่ายบัญชีก็มีการตรวจสอบรายได้ว่ามียอดขายเข้าทุกวันมั้ย ในด้านคุณภาพก็มี QC เข้าไปตรวจทุก 1-2 เดือน
..
4) โครงสร้างรายได้
.
รายได้ 100 บาท ต้นทุน 75 บาท ค่าโฆษณา ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริหาร 19 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 1 บาท เหลือกำไรสุทธิ 5 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับ หุ้นตัวอื่น เช่น 
.
M ขายสุกี้ 100 บาท ต้นทุน 32 บาท SG&A 51 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 2 บาท เหลือกำไรสุทธิ 15 บาท
.
AU ขายขนมหวาน 100 บาท ต้นทุน 32 บาท SG&A 49 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 3 บาท เหลือกำไรสุทธิ 16 บาท
.
SNP ขายอาหารเบเกอรรี่ 100 บาท ต้นทุน 56 บาท SG&A 38 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 1 บาท เหลือกำไรสุทธิ 5 บาท
..
เห็นโครงสร้างแบบนี้ หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้นทุนสูงจัง หรือพูดอีกแบบคือ ทำไม GPM ต่ำมากแค่ประมาณ 25% เท่านั้นเอง ขณะที่ M หรือ AU ได้ตั้ง 68% หรืออย่าง ๆ แย่ ๆ SNP ก็ยังได้ 44%
..
สาเหตุคือ ZEN รวมค่าพนักงานที่ร้านเข้ามาในส่วนของต้นทุนขายด้วย ขณะที่แบรนด์อื่นไปรวมอยู่ใน SG&A ทำให้ GPM ของ ZEN ดูเหมือนน้อย แต่ถ้าถามว่า งั้นหักตรงนี้ไปใส่ SG&A แล้ว GPM จะดีแค่ไหน ถ้าต้นทุนเป็น 100 คิดเป็นวัตถุดิบ 45% ค่าพนักงาน 20% หักไป GPM ของ ZEN คงอยู่ระหว่าง SNP กับ M และ AU 
..
ถ้าอยากให้ GPM เพิ่มต้องไปติดตามดูพวกราคาปลาแซลมอน เพราะ ZEN ใช้เยอะ ถ้าราคาต่ำก็จะเป็นผลดี ซึ่งราคาแซลมอน และทูน่า เราไปดูได้ที่ web ของบริษัท TU
.
5) ผลประกอบการย้อนหลังดีแค่ไหน
.
ปี 2558 รายได้รวม 1,966 ล้านบาท กำไรสุทธิ 110 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้รวม 2,182 ล้านบาท กำไรสุทธิ 90 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 2,515 ล้านบาท กำไรสุทธิ 82 ล้านบาท
..
9M60 รายได้รวม 1,826 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49 ล้านบาท
9M61 รายได้รวม 2,226 ล้านบาท กำไรสุทธิ 109 ล้านบาท
..
รายได้เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะรับรู้รายได้แบรนด์ใหม่ที่ไปซื้อมาแบบเต็มปี เปิดสาขาเพิ่มขึ้น และที่ดีคือ SSSG เพิ่มด้วย อย่างปี 60 +4% 9M61 +.7.4% อันนี้ถือว่าดีมากเพราะอย่าง M +1% SNP +3% 
.
แต่กำไรลดลง เพราะว่า ไปซื้อแบรนด์อื่นเข้ามา มีการลงระบบ IT และมีการรับผู้บริหารใหม่ระดับกลางไปจนถึง CEO เข้ามา ทำให้ SG&A บวม กำไรเลยลดลง
.
แต่ถ้ามาดูรอบ 9 เดือน เริ่มอยู่ตัว ทั้ง GPM เริ่มเพิ่ม SG&A to Sale เริ่มลดลง จากการได้ Economy of Scale ของการเปิดสาขาเยอะ
..
6) บุญยง ตันสกุล … ผู้นำคือผู้รับใช้
.
คุณบุญยง เป็นแม่ทัพใหญ่ที่ Singer ทำธุรกิจสินเชื่อ ก่อนที่ JMART จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และคุณบุญยงเองเป็นบอร์ดของ ZEN มาก่อน 2 ปี แล้วจึงได้รับการเสนอชื่อขึ้นมาเป็น CEO เมื่อกลางปี 2561 โดยหลักการคิดของ CEO ใหม่รายนี้คือ “ผู้นำคือผู้รับใช้”
..
แกเน้นลงสาขา ใกล้ชิดพนักงาน บอกว่าสองร้อยกว่าสาขาก็คือออฟฟิศของผม ใช้หลักการ Employee First ไม่ใช่ Customer First เพราะต้องการให้พนักงานมีความสุข แล้วก็จะส่งต่อรอยยิ้มไปและการบริการไปที่ลูกค้าเอง
.
ในส่วนของลูกค้าจะทำให้เกิดความประทับใจและส่งต่อเรื่องราวผ่านทาง social media ให้คนอื่นรับรู้ เพราะเชื่อว่าการบอกต่อมีพลังมากกว่าการที่แบรนด์โฆษณาเอง
.
7) ขายหุ้น IPO 75 ล้านหุ้น 13 บาท ได้เงินมา 975 ล้านบาท
.
• 650-700 ล้านบาท เอาไปคืนหนี้ มีหนี้อยู่กับกสิกร 580 ล้านบาท และกสิกรเองก็เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำหุ้นเข้าตลาดครั้งนี้ด้วย ก็นะ
• 150-200 ล้านบาท เอาไปขยายสาขา และ Renovate ร้านเดิม
• 50-150 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียน
.. 
8) แผนอนาคต 10,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
.
แผนการหลัก คือ ซื้อกิจการ ขยายสาขา โดยเน้นแฟรนไชส์ และเพิ่มเติมธุรกิจอื่น ๆ เช่น Delivery, Ready to Eat มากขึ้น
.
ปี 2562 วางแผนเปิด 123 สาขา เป็นของตัวเอง 36 สาขา และแฟรนไชส์ 87 สาขา
.
ปี 2563 วางแผนเปิด 225 สาขา เป็นของตัวเอง 50 สาขา และแฟรนไชส์ 175 สาขา
,
ส่วนพวกน้ำปลาร้า น้ำจิ้มแจ่ว มีไปจับมือกับ Workpoint ให้ทำโฆษณา และขายของให้ด้วย เพราะว่า target ตรงกัน มีแก๊ง 3 ช่า อย่างหม่ำ เท่ง โหน่ง มาช่วยโปรโมต แล้วก็แบ่งรายได้กัน ในอนาคตถ้าไปได้ดีอาจเอาเข้าไปขายตามร้านค้าปลีก

ถ้าทำได้จริง สาขาจะเปิดเพิ่มอย่างมากจากปัจจุบันที่มี 255 สาขา แต่ด้วยเงินที่แพลนไว้ 150-200 ล้านบาท สาขาใหม่น่าจะเน้น สาขาเล็กลง ส่วนแฟรนไชส์ก็อย่าลืมว่าได้ค่าแรกเข้ากับเปอร์เซนต์ Fee เท่านั้น
..
9) P/E 27.6 เท่า
.
คำนวณแบบ Trailing P/E คิด 4 ไตรมาสย้อนหลัง ที่ราคา 13 บาท แพงมั้ย ลองเทียบกับเพื่อน ๆ ดู
.
M 27.3 เท่า
AU 50 เท่า
SNP 20 เท่า
และค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 21.50 เท่า
.
ลองเอาไปเทียบกันดูครับว่าถูกหรือแพง แต่ที่สำคัญคือวันแรกคงไม่ได้เปิดที่ราคานี้แน่ ๆ 
.
10) จิราธิวัฒน์ ถือหุ้นใหญ่ 67%
.
หุ้นทั้งหมดของ ZEN มี 300 ล้านหุ้น ขายเข้าตลาด 75 ล้านหุ้น ภายหลัง IPO แล้ว กลุ่มคุณสรรคนนท์ และจอมขวัญ จิราธิวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 67% แต่จะมีหุ้นอยู่ 56 ล้านหุ้น หรือประมาณ 19% ที่ไม่ติด silent period ขายทำกำไรได้ทันที

และนี่ก็คือ 10 เรื่องน่ารู้ของหุ้น ZEN ครับ ใครสนใจอย่างไรลองไปติดตามดูกัน

หลักสูตร The VI Shortcut ทางลัดนักลงทุนหาหุ้นเติบโต

 

 


ผู้ชนะแข่งขันโครงการ Stock Writer ของ stock2morrow

https://www.facebook.com/pg/stock.vitamins

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง