สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ทางผู้เขียนจะมาแนะนำให้รู้จักอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เพื่อนๆ จะได้นำไปใช้วิเคราะห์หุ้นของแต่ละบริษัทว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง หลายคนอาจคิดว่ามันยากแต่ไม่เลยง่ายเพียงปลายนิ้ว ลองมาทำความรู้จักกันครับ
1.อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Current Ratio)
จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถนำมาชำระหนี้สินหมุนเวียนได้กี่เท่า มากกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องที่ดีแต่หากได้ค่าน้อยกว่า 1 แสดงว่ากิจการมีสภาพคล่องต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นนั่นเอง
2.อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินอย่างเร็ว (Quick Ratio)
จะเหมือนกับ Current Ratio แต่ Quick Ratio จะคิดเฉพาะสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไวดังนั้นจึงต้องหักสินค้าคงเหลือออก
3.อัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้า (Account Receivable Turnover)
จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีการบริหารลูกหนี้การค้าได้ดีเพียงใดโดยค่าที่คำนวณออกมาได้จะมีหน่วยเป็นรอบหากได้จำนวนรอบที่มากแสดงว่ามีการหมุนเวียนลูกหนี้การค้าได้หลายรอบใน 1 ปี
4.ระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ย (Day Receive)
จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ยนานหรือสั้น โดยหากคำนวณได้ค่าที่น้อยเช่น 15 วัน ก็แสดงว่ากิจการใช้เวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ยเพียง 15 วัน จำนวนวันยิ่งสั้นยิ่งดี
5.อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover)
จะแสดงให้เห็นว่าใน 1 ปี กิจการสามารถทำการผลิตไปจนขายสินค้าได้กี่รอบ ซึ่งหากคำนวณออกมาได้จำนวนรอบที่มากก็แสดงว่ากิจการมีการผลิตไปจนขายสินค้าได้หลายรอบใน 1 ปี
6.ระยะเวลาผลิตโดยเฉลี่ย (Inventory Day)
จะแสดงให้เห็นว่ากิจการมีระยะเวลาผลิตไปจนขายสินค้าได้โดยเฉลี่ยนานหรือสั้น โดยหากคำนวณได้ค่าที่น้อยเช่น 30 วัน ก็แสดงว่ากิจการใช้เวลาผลิตไปจนขายสินค้าได้โดยเฉลี่ยเพียง 30 วัน
7.อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio หรือ D/E Ratio)
จะแสดงให้เห็นว่ากิจการใช้ทุนในส่วนของหนี้สินหรือส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่ากัน โดยหากคำนวณมาได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่ากิจการใช้ทุนในส่วนของหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น แต่หากคำนวณออกมาได้ค่าน้อยกว่า 1 แสดงว่ากิจการใช้ทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าส่วนของหนี้สิน
8.อัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรสุทธิของกิจการ ซึ่งหากคำนวณมาได้เปอร์เซ็นที่มากแสดงว่ากิจการมีความสามารถในการทำกำไรสุทธิที่ดี
9.อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (Return on Asset)
เป็นการวัดประสิทธิภาพการทำกำไรจากสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้วค่า ROA ยิ่งมากยิ่งดี หมายถึงว่าสินทรัพย์ที่บริษัทซื้อหรือลงทุนไปนั้นได้ให้ผลตอบแทนที่เป็นกำไรให้กับบริษัท
10.อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity)
เป็นการหาผลตอบแทนในส่วนของผู้ถือหุ้นว่าเงินทุนที่ลงทุนไปให้ผลตอบแทนเท่าไหร่โดยปกติแล้ว ROE ค่ายิ่งสูงยิ่งดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว บริษัทที่มี ROE สูงกว่าจะน่าสนใจมากกว่า เพราะ บริษัทที่มี ROE สูงสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่าบริษัทที่มี ROE ต่ำกว่า
11.อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio)
ผู้ลงทุนส่วนมากมักจะลงทุนในหุ้นที่มีอัตราส่วนนี้ต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หมายถึงว่า ราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ 1 บาทมีค่าต่ำหรือราคาถูกนั่นเอง
12.อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV Ratio)
อัตราส่วนนี้ความหมายไกล้กับ P/E RATIO ซึ่งถ้าเกิดมีค่าต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่าหุ้นบริษัทนี้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีจึงน่าลงทุนนั่นเอง
สรุป การใช้อัตราส่วนทางการเงินมาวิเคราะห์กิจการหรือบริษัทนั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการวิเคราะห์และช่วยให้อ่านงบการเงินของบริษัทได้ง่ายขึ้น โดยต้องมีการนำค่าที่ได้มาเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้นๆเพื่อนำมาสรุปผล