"ใครซื้อถูกกว่ากัน ระหว่างฉันกับเจ้าของ"
นี้อาจจะเป็นนิยามของคำว่า P/BV Ratio แบบเข้าใจง่ายที่สุด ถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่าเราซื้อได้ถูกกว่าเจ้าของบริษัทหรือผู้ก่อตั้ง โดยปกติเป็นค่าเพื่อใช้วัดความถูกแพงของหุ้นคู่กับ P/E Ratio และมีวิธีใช้เหมือนๆกัน คือ "ยิ่งสูง ยิ่งแพง" นั้นเอง
วิธีการหาค่า P/BV คือ ราคาหุ้นหารด้วยมูลค่าทางบัญชี แต่มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือเราสามารถเข้าไปดูข้อมูลที่เว็บ set.or.th ได้เลยทันที ค่าที่ได้เรานิยมเอามาเปรียบเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เทียบกับคู่แข่ง เทียบกับ P/BV ในอดีตของหุ้นตัวนั้นๆ และที่สำคัญคือเราสามารถใช้ดูความถูกแพงของหุ้นที่ยังหาค่า P/E ไม่ได้ หรือค่า P/E ที่มีความผันผวนขึ้นๆลงๆ
== ข้อสังเกตสำคัญ ==
1. ตามทฤษฏีบอกว่า P/BV ยิ่งสูงยิ่งแพง ดังนั้นเราจะเลือกแต่หุ้น P/BV ต่ำๆ อย่างเดียวได้หรือไม่
ไม่ได้ เพราะ P/BV เป็นเพียงตัวเลขหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเลขมหัศจรรย์ที่ใช้สำหรับดูแล้วสรุปออกมาเลยว่าหุ้นถูกหรือแพง เราจำเป็นจะต้องดูส่วนอื่นๆประกอบด้วย เช่น ส่วนของผู้ถือหุ้นมีการเพิ่มขึ้นทุกปีหรือไม่ อัตราการปันผลที่ผ่านมาเป็นอย่างไร คุณภาพของกำไรดีจริงหรือเป็นเพียงกำไรพิเศษ ในบางครั้งการที่ตลาดยอมให้หุ้น P/BV สูงๆเพราะเป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง มีอนาคตที่ดี ในขณะเดียวกันหุ้นที่มี P/BV ต่ำๆอาจจะบ่งบอกวาเป็นหุ้นที่มีปัญหา เช่น บริษัทไม่เคยทำกำไร มีการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่อง มีคดีความบางอย่าง มีปัญหาในเรื่องการคอรัปชั่นภายในบริษัท หรือกำลังโดนหยุดซื้อขายจากตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น หุ้นเหล่านี้ไม่ใช่หุ้นถูกที่เหมาะสมต่อการลงทุน ถ้าเข้าไปซื้ออาจจะเจ็บตัวได้
หุ้นที่ P/BV สูงๆ มักจะโดนตลาดปรับฐานเสมอ
2. ต่อจากข้อ 1 ถ้าอย่างนั้นเราเลือก P/BV สูงๆไปเลยดีไหม
หุ้นที่มี P/BV สูงๆ มี 2 ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ ...
ประเด็นแรก ราคาหุ้นขึ้นมาอย่างแรงเพราะหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ร้อน มีการเติบโตสูง นักลงทุนคนอื่น สถาบัน กองทุนขนาดใหญ่ มีการไล่ราคามาก่อนหน้านี้แล้ว ค่าของ P/BV จึงสูง การเข้าไปซื้อหุ้นช่วงเวลาที่มีการไล่ราคาขึ้นมาสูง อาจจะทำให้ติดดอยได้
ประเด็นที่สอง ราคาหุ้นอยู่กับที่ แต่บริษัทขาดทุน ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุลลดลง มีผลต่อ "มูลค่าทางบัญชี" ลดลงไปด้วย ทำให้ P/BV สูงขึ้น นี้ไม่ใช่สัญญาณที่ดีต่อหุ้นตัวนั้นๆ บริษัทมีผลประกอบการที่ถดถอย ไม่ช้าก็เร็ว ราคาหุ้นก็จะลดลง
ดังนั้น หุ้น P/BV สูงๆ บ่งบอกว่า "หุ้นแพง" หรือมีคนไล่ราคามาก่อนหน้านี้แล้ว โอกาสที่จะทำให้เราติดดอยหุ้นตัวนั้นๆมีสูง
หุ้นที่ P/BV ต่ำ อาจจะต่ำอย่างนั้นตลอดไป !!
3. ถ้าอย่างนั้นเราควรเลือก P/BV แบบไหนดี
วิธีที่ง่ายที่สุดคือเปรียบเทียบกันในอุตสาหกรรมเดียวกันว่า กลุ่มอุตสาหกรรมมี P/BV สูงหรือต่ำขนาดไหน แล้วหุ้นที่เราจะซื้อ "แพง" กว่ากลุ่ม หรือ "ถูก" กว่ากลุ่ม
อย่างไรก็ตาม มีตำราต่างประเทศหลายเล่มชี้ว่าหุ้นที่ P/BV "เหมาะสม" ควรอยู่บริเวณ 1 - 2.5 เท่า คือไม่ควรต่ำกว่า 1 เท่า และไม่ควรสูงกว่า 2.5 เท่า นั้นเอง
== สรุป ==
P/BV เป็นตัวเลขเทียบความถูกแพงของหุ้น ยิ่งสูงแสดงว่ายิ่งแพง แต่เราไม่ควรใช้เพียงค่าเดียวแล้วสรุปออกมาแบบนั้น นักลงทุนจำเป็นจะต้องเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่นๆด้วย เพราะในระยะยาวแล้วราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นเพราะความถูกเพียงอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของกำไรที่บริษัททำได้
อย่างไรก็ตาม ตำราหลายเล่มสรุปว่าหุ้นที่มี P/BV เหมาะสมคืออยู่ระหว่าง 1 เท่า และ 2.5 เท่า
นี้ก็ถือเป็นข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆสำหรับนักลงทุนมือใหม่ควรจะใช้ P/BV อย่างไรในการตีความหุ้นครับ