EGCO หรือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นผลิตไฟฟ้าที่ "น่าจะ" ใหญ่ที่สุดแล้วในประเทศไทย ในสายตานักลงทุนนี้คือหุ้น "ลงทุน" ที่นักลงทุนต้องมีไว้ในพอร์ตเพราะตั้งแต่ปี 2554 มาจนถึงปี 2561 หุ้น EGCO ได้วิ่งขึ้นมาตลอด มีส่วนต่างราคาหุ้นที่เป็นบวกทุกปี และคนที่ถือหุ้นไว้เฉยๆยังได้รับปันผลระดับ 2-3% ต่อปี เรียกได้ว่าซื้อหุ้น EGCO ไม่เคยสัมผัสกับคำว่า "ขาดทุน" อย่างแน่นอน
แต่รู้หรือไม่ ในอดีต หุ้น EGCO เป็นหุ้นธรรมดาตัวหนึ่งที่นักลงทุนไม่ได้สนใจอะไรมากนัก นักวิเคราะห์ต่างบอกว่าหุ้น EGCO คือหุ้นธรรมดาที่เหมาะแก่การถือรับปันผลเท่านั้น ถ้านักลงทุนคนใดมีเงินเหลือๆจากการซื้อหุ้น และไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร จะซื้อหุ้น EGCO เก็บไว้ก็ได้ แต่ถ้าอยากได้เร็วๆไปหุ้นตัวอื่นดีกว่า ทำให้ในอดีตหุ้น EGCO เคยถูกขนานนามว่า "หุ้น Bluechip ยอดแย่"
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้จะมาย้อนอดีตกันครับ ....
ย้อนกลับไปปี 2547 ราคาหุ้น EGCO อยู่ประมาณ 70-80 บาท ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 700 จุด มีการปรับฐานลงไปเหลือ 400 จุดในปี 2551 ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาแตะระดับ 1100 จุด ในปี 2554 ในขณะที่หุ้น EGCO กลับค้างอยู่ที่ระดับ 70-80 บาท ไม่ไปไหน ซึ่งต่างกับหุ้นบลูชิพตัวอื่นๆที่ราคาพุ่งขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์
หุ้น EGCO แกว่งตัวออกข้างยาวนานถึง 8 ปี ทำให้นักลงทุนต่างขนานนามว่าเป็นหุ้นบลูชิพยอดแย่ เป็นหุ้นใหญ่แต่ราคาไม่วิ่งเลย นักลงทุนที่ถือหุ้นได้เพียงแค่ปันผลเท่านั้น ...
EGCO ช่วงนั้นเป็นหุ้นที่นักลงทุนไม่ได้มองเพราะคิดแต่เพียงว่า EGCO ทำธุรกิจที่มี Net Margin ไม่สูง การซื้อไฟต้องอาศัยสัญญาจากภาครัฐเป็นคนซื้อ บริษัทจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตนั้นหมายถึงการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ ทำให้ ROI ไม่คุ้มค่าเท่าไรในการลงทุน โดยรวมแล้วเป็นหุ้นใหญ่ที่ธรรมดาตัวหนึ่ง หุ้น EGCO ถูกซื้อขายด้วย P/E 8-9 เท่า ราคาหุ้นเทรดกันต่ำกว่ามูลค่าบัญชี และปันผลระดับ 6-7% ทำให้นักวิเคราะห์มองหุ้นตัวนี้ว่า คือหุ้นปันผลดีตัวหนึ่ง ที่ไม่ได้เติบโต
ในปี 2554 บทความจากกรุงเทพธุรกิจ รายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า "ผ่าทางตัน EGCO หุ้นดี!! ที่นักลงทุน ไม่มอง" เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีคนสนใจจริงๆ เนื้อหาข่าวรายงานว่า EGCO เจอปัจจัยลบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าบางโรงที่กำลังจะหมดสัญญาซื้อขายไฟ ไม่มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม หรือจะสร้างเพิ่มแต่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดูไม่คุ้มค่า อีกทั้งการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆในอัตรา 1-2% ทำให้ กฟผ. ไม่มีโครงการจะซื้อไฟเพิ่มเพราะที่มีอยู่ก็เกินความต้องการไปพอสมควร
บทความจากกรุงเทพธุรกิจ ในปี 2554 ... ผ่าทางตัน EGCO หุ้นดี!! ที่นักลงทุน ไม่มอง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ผู้บริหาร EGCO ชี้แจงว่า ตลาดไฟฟ้าในประเทศไทยเล็กลง ถึงแม้จะไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา (ในสมัยนั้น) แต่คิดว่าไม่เติบโตแล้ว จากนี้ไป EGCO จะไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังกล่าวกับนักลงทุนด้วยว่า EGCO จะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดดมากนัก แต่บริษัทพยายามจะจ่ายปันผลที่ "ไม่ลดลง"
ต่อมาหลังปี 2554 หุ้น EGCO จะกลายมาเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ จากระดับราคา 90 บาท มาแตะระดับ 250 บาทในปัจจุบัน ใครจะคิดว่า หุ้นที่มีปัจจัยลบรอบด้านจะกลายมาเป็นหุ้นบลูชิพชั้นยอดที่กระโดดขึ้นมา สร้างกำไรให้กับนักลงทุนที่ "ทน" ถือมันไว้พร้อมการปันผลเฉลี่ย 3-4% ทุกปี
เรื่องราวนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เราได้อะไรจากเรื่องเล่าเรื่องนี้...
ข้อแรก มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ถือ-ทน-รวย" ฟังดูเหมือนง่าย แต่คนที่ทำได้จริงๆกลับมีน้อยมาก เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าการลงทุนที่ดี ต้อง "กระทำ" อะไรซักอย่างหนึ่ง การนั่งเฉยๆหรือถือมันไว้อาจจะขาดทุนได้ นักลงทุนไม่สามารถทนกับความผันผวนของตลาดได้ จริงๆแล้วหุ้น EGCO เป็นหุ้นพื้นฐานดี เทรดกันที่ P/E และ P/BV ที่ต่ำมาก และปันผลระดับ 6-7% ธุรกิจไม่ได้มีปัญหา บริษัทมีรายได้ มีกำไร แต่สิ่งที่พลาดไปคือ นักลงทุนไม่สามารถทนเห็นหุ้น "ไม่ยอมวิ่ง" ได้เลยตัดใจขาย เพื่อไปซื้อตัวอื่นที่วิ่งดีกว่า กลายเป็นว่าหุ้นที่เราพึ่งจะขายไปวิ่งขึ้นอย่างรุนแรง นี้ถือเป็นจุดพลาดของนักลงทุน
ข้อสองหุ้นพื้นฐานดี ต้นทุนที่ต่ำ มันจะไม่กลับไปที่เดิมอีกแล้ว ... ตลอดระยะเวลาการลงทุนที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นหุ้นพื้นฐานดีหลายๆตัว เมื่อราคาวิ่งขึ้นไปแล้ว ก็วิ่งไปเลย ไม่กลับไปที่ราคาเดิมอีกแล้ว อาจจะมีปรับฐานบ้างระหว่างทาง แต่ก็ไม่เคยเห็นหุ้นกลับไปที่ราคาเดิมอีกเลย เช่น CPF ที่ราคา 3 บาท PTT ที่ราคา 150 บาท หุ้น BGH ที่ราคา 30 บาท (ยังไม่แตกพาร์) หุ้น CPALL ที่ราคา 10 บาท หุ้น BJC ที่ราคา 9 บาท เป็นต้น อย่างที่เคยมีคนกล่าวไว้ว่า คนเราทั้งชีวิตจะมีโอกาสได้เจอการลงทุนชั้นยอดเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น อยู่ที่ว่าเราเห็นมัน และคว้ามันได้มากพอหรือไม่
นี้ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่นักลงทุนต้องจำไว้อยู่เสมอครับ ...