Robinhood ฟินเทคท่าดีทีเกือบเหลว
เป็นเรื่องที่ช๊อคโลกพอสมควรเมื่อ Robinhood ฟินเทคสตาร์ทอัพสุดแรงจากสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2018 ว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า checking & savings ที่ “ดูเหมือน” จะเป็นบริการบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ทั่วไป และจะเงินนี้จะถูกคุ้มครองเต็มที่โดย SIPC (Securities Investor Protection Corporation)
แต่จะจ่ายดอกเบี้ย 3%! หรือราวๆ 30 เท่าของอัตราดอกเบี้ยทั่วไปในสหรัฐฯ ขณะนี้
ซึ่งเป็นข่าวที่ค่อนข้างตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะในมุมมองของกลุ่มลูกค้าหลักซึ่งเป็นพวก millenials จะมองว่า “เจ๋งมาก” เนื่องจากเชื่อในอุดมการณ์ (คงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่องราวของโรบินฮู้ด ว่าเขาทำเพื่อคนหมู่มาก) และเชื่อในความสามารถของทีมลีนๆ เทคๆ ที่ทำได้ทุกอย่างถ้าดูว่าพวกเขาเติบโตไวแค่ไหน
ปัญหาอยู่ที่ว่าภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น Robinhood ต้องถอยและถอดทุกอย่างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ออกจากเว็บไซต์และลงมือแก้ข่าว เนื่องจาก การกระทำดังกล่าวยังไม่ถูกคอนเฟิร์มโดย SIPC แถมยังถูกเตือนว่าไม่น่าจะทำได้
จึงเกิดความสนใจและหวั่นใจในทั้งในหมู่ผู้คนที่รู้จักฟินเทคนี้และไม่รู้จัก ว่าพวกเขากำลังทำอะไร และลูกค้าอย่างเราๆ จะมั่นใจในบริการของพวกเขาได้อยู่หรือไม่ในอุตสาหกรรมที่ความไว้วางใจ (trust) ต่ำที่สุดในโลก
บทความนี้จะเล่าเรื่องราวความเป็นมา ช่องทางการทำเงินของ Robinhood และจบด้วยอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างฟินเทคกับ regulator แบบสั้นๆ
Robinhood คืออะไร?
Robinhood คือฟินเทคที่ให้บริการเป็นช่องทางการซื้อขายหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ในสหรัฐฯ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม และมีตัวตนหลักอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น ไม่มีหน้าร้าน ใช้งานง่าย สะดวก UI สวยงาม ซึ่งแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น E*Trade หรือ Scottrade

Robinhood ระดมทุนได้ 3 ล้านดอลลาร์ในรอบแรกเมื่อปี 2013 และล่าสุดระดมทุนได้รวมแล้ว 539 ล้านดอลลาร์ ณ ปี 2018 โดยมี valuation อยู่ที่ 5.6 พันล้านดอลลาร์ หรือใหญ่ประมาณมูลค่าตลาดของ TMB และ KTC รวมกัน และขณะนี้มีผู้ใช้งานราว 4 ล้านคน
เพียงแต่ว่าบริการการลงทุนของ Robinhood ยังค่อนข้างพื้นฐานมาก อาจไม่เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการกระจายความเสี่ยง หรือต้องการจัดพอร์ตที่ซับซ้อน แต่ดูเหมือนในขณะนี้ Robinhood กำลังมุ่งหน้าสู่ทิศทางของ Crypto Trade มากกว่า โดยเริ่มให้บริการการซื้อขายสกุลดิจิทัลอย่าง Etheream Classic แล้ว
แล้ว Robinhood ทำเงินยังไง?
เป็นคำถามคาใจหลายๆ คนเนื่องจากถ้าไม่คิดเงินต่อครั้งในการเทรดแล้ว จะทำเงินจากทางไหนอีก
Robinhood ทำเงินจากสามช่องทางหลัก
-
คิดค่าสมาชิกรายเดือน เพื่อสิทธิในการเทรดแบบมี margin และเป็นเมนูแบบ fixed price flat rate ไม่คิดเป็ยเปอร์เซ็นต์เหมือนคู่แข่งยุค 1.0 ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมัครแบบเดือนละ 6 ดอลลาร์ก็จะ มี margin 1000 ดอลลาร์ หรือ 25 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อ margin 6000 ดอลลาร์
-
ลงทุนเงินของลูกค้าในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำในช่วง settlement การใช้งาน Robinhood นั้นเวลาเราขายสินทรัพย์ เงินที่ได้จะยังไม่เข้า wallet หรือโอนไปยังบัญชีธนาคารเราทันที ต้องรอราว 2 วัน ซึ่ง Robinhood เขาก็จะเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนเพื่อเอาอัตราผลตอบแทนที่ต่ำแต่ชัวร์
-
ขายข้อมูลเทรดของลูกค้าให้กับ commercial agreement กับ market makers เจ้าใหญ่ เนื่องจากข้อมูลสัญญาณเทรด หุ้นตัวไหน เวลาไหน ขนาดออร์เดอร์ เพื่อที่ market makers จะได้ทราบได้ว่า นักลงทุนรายย่อยกว่า 4 ล้านคนนี้กำลังจะทำอะไร
สามช่องทางนี้อาจจะได้ทีละไม่มากแต่เมื่อคูณกับฐานลูกค้าแล้วจะกลายเป็นธุรกิจที่ projection การเงินดูสดใสขึ้นในทันที
อนาคตระหว่างฟินเทคกับ regulator
เรื่องความผิดพลาดของ Robinhood ที่ด่วนประกาศก่อนคอนเฟิร์มกับ regulator นั้นควรเป็นแบบอย่างให้กับฟินเทคทั้งหลาย ว่าควรเช็คกฎหมายให้รอบคอบก่อนจะทำอะไร เนื่องจากคนที่ถือไพ่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมนี้คือ regulator แม้ว่า Robinhood จะสามารถหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ย 3% ได้จริงๆ ก็ตาม
อุตสาหกรรมการเงินเป็นอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ จึงเกิดข้อบังคับมากมายขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนถูกเอาเปรียบ แต่ในวันนี้มันได้ก็กลายเป็นดาบสองคมเหมือนกันว่าข้อบังคับอาจจะแน่นหนาและมากมายจนไม่คุ้มประโยชน์ที่สังคมจะได้จากฟินเทคที่มีศักยภาพจริงๆ
เรื่อง checking & savings ไม่ลงรอยกับ SIPC นั้นเคลียร์แล้ว และถือว่าโชคยังดีที่ SIPC ไหวตัวเร็ว และทาง Robinhood เองเขาชักเท้ากลับทันภายในไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่จะกลายไปเป็นเรื่องราวหลอกลวงระดับ Theranos
แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันที่ยังคลุมเครือก็คือช่องทางทำเงินที่ 3 ที่ Robinhood ทำเงินจากข้อมูลลูกค้าในลักษณะดังกล่าว วันนี้อาจจะยังไม่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ซึ่งวันหนึ่งก็คงจะต้องพบเจอกับ regulator เช่นกันว่าที่ประกาศใน terms and conditions ไว้นั้นมันชัดเจนพอที่ลูกค้าจะเข้าใจหรือยังว่าฟินเทคนี้จะเอาข้อมูลเขาไปทำอะไร
ในฐานะลูกค้าเก่าของ Robinhood ผู้เขียนเองเสียดายที่คงยังไม่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่จะคืน consumer surplus จากอุตสาหกรรมธนาคารให้กับลูกค้าได้ในสเกลแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านที่อยู่ในวงการฟินเทคว่าการ “มีของ” ไม่พอ แต่ต้องมีความกระจ่างกับ regulator และมีความกระจ่างกับผู้บริโภคด้วย