#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ใครได้รับผลกระทบบ้าง !?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
191 views

ล่าสุด หลังจาก กนง. มีมติ 5:2 ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาที่ 1.75% ครั้งแรกในรอบ 7 ปี แต่ลดเป้าเศรษฐกิจ นักวิชาการชี้แค่จิตวิทยาให้คนระวังและเผื่อกระสุนไว้ป้องกันเศรษฐกิจขาลง เชื่อเว้นช่วงขึ้นพอสมควร ขณะแบงก์พาณิชย์ยังขยับดอกเบี้ยยาก กลุ่มอสังหาไม่ได้รับผลกระทบเหตุดอกเบี้ยยังต่ำ ส่วนกลุ่มหนี้ต่างประเทศมาก-พลังงาน รับโชคจากค่าเงินบาท 

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (19 ธ.ค.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% มาที่ 1.75% โดยให้มีผลทันที ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 และการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกที่ กนง. มองปัจจัยอื่นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ นับตั้งแต่ที่แบงก์ชาติประกาศนโยบายการเงินผูกกับอัตราเงินเฟ้อ (inflation targeting) ราวปี 2542 และเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการลดเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงด้วย โดยหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ตลาดหุ้นไทยก็ดีดตัวขึ้นมาและสามารถปิดเหนือ 1600 จุดได้อีกครั้ง

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแรงส่งขออุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศจะชะลอตัวลง จะเห็นจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสูงกว่า 4% ติดต่อกัน 3 ปี (2560-2562) จึงไม่มีความจำเป็นในการพึ่งพาการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างที่ผ่านมา ส่วนจะมีการขึ้นอีกหรือไม่ ต้องติดตามเป็นครั้งต่อครั้งขึ้นอยู่กับข้อมูลในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมีการคงดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ยก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าครั้งต่อไปจะต้องขึ้นอีก

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่า ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลง และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต โดยกรรมการส่วนส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ 1.75% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ จะช่วยลดการสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน ควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพระบบกาเรงินที่ได้ดำเนินการไป

พร้อมกันนี้ กนง.ได้ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2561 มาอยู่ที่ 4.2% จาก 4.4% และปี 2562 ที่ 4.0% จาก 4.2% จากการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในะระยะข้างหน้า โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

แบงก์พาณิชย์ไม่ขึ้นดอดเบี้ยตาม

ด้านศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตคณะกรรมมการนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นโดยไม่ได้อิงกับอัตราเงินเฟ้อครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เป็นเพียงการส่งสัญญาณด้านจิตวิทยาว่าดอกเบี้ยไม่ได้อยุ่ในยุคต่ำสุดแล้วเท่านั้น ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการเว้นระยะในการปรับดอกเบี้ยครั้งต่อไปพอสมควร เพราะจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะกลับมาให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อตามมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองอาจจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ส่วนกระแสเงินต่างชาตินั้นก็อาจจะมีเข้ามาในระดับหนึ่งหลังจากไทยขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าต่างชาติจะมองภาพเปลี่ยนไปแค่ไหน

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเนื่องจากต้องการที่จะมีกระสุนด้านการเงินไว้ป้องกันในยามที่เศรษฐกิจผันผวนเท่านั้น ยังไม่ได้มีการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจร้อนแรง จึงยังไม่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเพราะสภาพคล่องส่วนเกินยังเยอะอยู่ ส่วนกรณีฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าไทยหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกมากกว่า โดยหุ้นไทยนับว่าต่ำแล้ว หากจีดีพีจีนที่ประเมินกันว่าจะอยู่ที่ 6-6.5% ออกมาตามนี้ก็อาจจะดีดได้ แต่ถ้าต่ำกว่านี้ก็อาจจะลดลง

ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ เปิดเผยว่า การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาตินั้นเพื่อรักษาส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐไม่ให้เกิน 0.75% และมองว่าปีหน้าจะขึ้นอีก 2 ครั้งตามธนาคารกลางสหรัฐ โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์คือผู้ได้รับประโยชน์จากกรณีนี้ เพราะไม่เชื่อว่า แบงก์พาณิชย์จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เนื่องจากฐานเงินฝากยังสูงอยู่ ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ก็ทำได้ลำบากเพราะยังมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ดังนั้นโอกาสที่จะมีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (NIM) สูงๆ นั้นเป็นไปได้ยาก ซึ่งจะทำให้ผลกระทบในแง่ลบจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้คาดว่าจะไม่เยอะ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังต่ำมาก อสังหาริมทรัพย์ ดอกเบี้ยจะไม่ได้เป็นประเด็นหลัก แต่จะเป็นเรื่องของความต้องการที่ถูกจำกัดมากกว่า ส่วนหุ้นกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศมากๆ จะได้รับผลดี เนื่องจากค่าเงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพลังงาน และบริษัทขนาดใหญ่ โดยยังมองแบงก์ใหญ่ KBANK BBL SCB ได้ประโยชน์สูงสุด แต่ด้วยราคาหุ้น KBANK ที่ร่วงลงมามากจึงน่าสนที่สุด ให้เป้า 240 บาท

stock2morrow นำบทความจาก ทันหุ้น มาแชร์ให้เพื่อนๆ นักลงทุนอ่านจับประเด็นสำคัญกัน 

เครดิตแหล่งที่มา : ทันหุ้น 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง