ตลาดหุ้นที่ผันผวนมากช่วงนี้ อาจทำให้นักลงทุนหลานคนคงปวดหัวกันไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีที่หุ้นลงแรง และนักลงทุนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกลงทุนกับหุ้นไรดี กองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุน ที่เพียงนำเงินไปให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความรู้ด้านการลงทุนไปบริหาร ตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน นอกจากนั้น ในกองทุนบางประเภทยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีให้กับนักลงทุน ซึ่งทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนผ่านกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลหลายแหล่งที่แสดงถึง ข้อดี/ข้อเสีย จากการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งนักลงทุนเองก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน ในบทความนี้ จะกล่าวถึงว่า หากนักลงทุนตัดสินใจที่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมแล้ว จะต้องดูอะไรบ้าง และเตรียมตัวซื้อหน่วยลงทุนอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเราได้
ทั้งนี้ หากตัดสินใจที่จะลงทุนกับกองทุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องศึกษาก่อนนั่นคือ “หนังสือชี้ชวนการลงทุน” เพื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุนว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง ด้วยสัดส่วนเท่าไร วัตถุประสงค์ของการลงทุนคืออะไร ฯลฯ บทความนี้ จึงรวบรวมปัจจัยที่สำคัญในการศึกษาก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนกับกองทุนรวม มีอะไรบ้าง ลองไปดูกัน....
ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องดูอะไรบ้าง
- นโยบายการลงทุน เพื่อทราบว่ากองทุนนี้ จะลงทุนที่สินทรัพย์ประเภทใดบ้าง เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ อนุพันธ์ (Derivative) เป็นต้น ด้วยสัดส่วนเท่าใด เพื่อกำหนดความเสี่ยงให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่จะได้รับ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
- ผลตอบแทนย้อนหลัง เพื่อต้องการดูว่ากองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่าใดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยทั่วไปแล้วการคำนวณผลตอบแทนจะคิดเป็นรายปี ซึ่งคำนวณจากการเปลี่ยนแปลง (รวมเงินปันผล) ของ NAV ในระยะเวลาดังกล่าว การดูผลตอบแทนควรดูย้อนหลังหลายปี เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่วงภาวะเศรษฐกิจ แล้วจึงตัดสินใจว่ากองทุนไหนสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ
- ความเสี่ยงจากการลงทุน การเคลื่อนไหวของราคาเป็นปัจจัยความเสี่ยงหนึ่งสำหรับกองทุน ดังนั้น หากกองทุนใดมีความผันผวนต่ำ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่ากองทุนที่มีความผันผวนของราคาสูงกว่า โดยทั่วไปแล้ว ดัชนีที่ไว้วัดความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงของราคาช่วงที่ผ่านมาคือค่า Beta และ Standard Deviation อย่างไรก็ตาม บางกองทุนจึงมีนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ได้หลายแนวทางเช่น การกระจายการลงทุน การลงทุนผ่านหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น
- ตัวชี้วัดเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) การดูว่ากองทุนใดสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจหรือไม่ จะต้องกำหนด Benchmark เพื่อเปรียบเทียบว่ากองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าหรือน้อยกว่า Benchmark ยกตัวอย่างเช่น กองทุนที่มีนโยบายเน้นการลงทุนกับหุ้น ส่วนใหญ่จะกำหนดตัวชี้วัดกับผลตอบแทนของดัชนีหลักทรัพย์ หรือ SET Index
- ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม จะได้รับผลตอบแทนที่กองทุนสามารถทำได้หักด้วยค่าธรรมเนียมกองทุน ซึ่งประกอบด้วย ค่าบริหารกองทุน ค่าผลตอบแทนของผู้จัดการกองทุนหรือนักวิเคราะห์ของกองทุน ฯลฯ ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องศึกษาและเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของกองทุนควบคู่กับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อตัดสินใจเลือกกองทุนที่เหมาะสมได้
จากปัจจัยดังกล่าว เป็นเพียงปัจจัยที่สำคัญที่นักลงทุนควรศึกษาและวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อเป็นแนวทางใช้ในการเลือกกองทุนที่เหมาะสม และคัดแยกกองทุนที่ดีและไม่ดีออกจากกันได้ อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนยังมีเวลา ก็ยังสามารถศึกษาหัวข้ออื่นๆ จากหนังสือชี้ชวนของกองทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมได้
บทความโดย นายสิงหา พงศ์ศศิธร (Freedom VI)
--------------------------------------
บทความนี้ stock2morrow นำมาให้เพื่อนๆ นักลงทุนมือใหม่ ได้อ่านทำความเข้าใจกันก่อนเลือกกองทุนทุกครั้ง กองทุนมีหลายประเภททั้งกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนอื่นๆ สิ่งที่นักลงทุนควรรู้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง