#แนวคิดด้านการลงทุน

เผย 5 เหตุผลเชิงสถิติ ทำไมหุ้นถึงลงแรง !!

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
317 views

" หุ้นลง เพราะมีคนขายมากกว่าคนซื้อ "
ประโยคนี้ได้กลายเป็นประโยคสุดคลาสสิคไปแล้ว สำหรับนักลงทุนที่ชอบถามว่าทำไมหุ้นตัวนี้พื้นฐานดี แต่ราคาถึงลง ถ้าเราถามคน 100 คน จะได้คำตอบต่างออกไป 100 แบบ เช่นอะไรบ้าง

ถ้าเราถามนักลงทุนเน้นคุณค่าเราจะได้รับคำตอบว่า "หุ้นลงเป็นเพราะธรรมชาติของตลาดหุ้นออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น มีขึ้นมีลง" แต่สิ่งสำคัญ คือ เราจะหาโอกาสจากการลงของหุ้นได้หรือไม่ ..

ถ้าเราถามนักเก็งกำไร เราจะได้รับคำตอบว่า "หุ้นลงเพราะมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ" แต่เราไม่จำเป็นต้องรู้สาเหตุเพราะราคาหุ้นสะท้อนทุกสิ่ง สิ่งที่เราควรรู้คือจังหวะไหนเราควรจะซื้อ จังหวะไหนควรจะขาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดในเชิงสถิติแล้ว พฤติกรรมของราคาหุ้นที่ลงแรง มักมีสาเหตุมาจาก 5 เหตุผลด้วยกันหลักๆ มีอะไรบ้างมาดูกัน ...

 

สาเหตุที่ 1 ผู้ถือหุ้นใหญ่ขาย! 
ถ้าสมมุติฐานที่บอกว่า หุ้นลงเพราะแรงขายมากกว่าแรงซื้อ เราจำเป็นต้องเชื่อในเหตุผลนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่มีหุ้นจำนวนมาก และการที่เขาขายออกมาย่อมเป็นสาเหตุที่หุ้นลงแรง

กราฟหุ้น

ผู้ถือหุ้นใหญ่อาจจะหมายถึงนักลงทุนรายย่อยที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท หรือนักลงทุนสถาบัน ก็เป็นได้

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ขายออกมาทำไม ? แยกออกมาได้ 2 ประเด็นคือ ถ้าเป็นนักลงทุนสถาบัน กองทุน การขายย่อมเป็นปกติการขายทำกำไร แต่ถ้าเป็นผู้ก่อตั้งที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะบ่งบอกว่าบริษัทมีการเปลี่ยนพื้นฐานอย่างมีนัยยะสำคัญ

นั้นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม นักลงทุนจะต้องดูยอดการซื้อขายของผู้ถือหุ้นอย่างม่ำเสมอ ....

สาเหตุที่ 2 บทวิเคราะห์ของโบรคเกอร์ มีมุมมองในเชิงลบ
ในเชิงสถิติแล้ว บทวิเคราะห์ที่เปลี่ยนจากคำแนะนำ "ซื้อ" เป็น "ขาย" จะมีอิทธิพลต่อนักลงทุนมากกว่าบทวิเคราะห์ที่เปลี่ยนจาก "ขาย" เป็น "ซื้อ" กล่าวคือ นิสัยนักลงทุนจะมีนิสัยตื่นตระหนกต่อปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก โดยเฉพาะ "ข่าวลือ" ที่ว่ากันว่าโบรคอาจจะมีการปรับเป้าใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับเป้าราคา ข่าวประเภทนี้จะมีความเซ็นซิทีฟต่อความรู้สึกนักลงทุนเป็นพิเศษ

โดยทั่วไปแล้ว ... ถ้าบทวิเคราะห์แนะนำ "ขาย" นักลงทุนจะเริ่มพิจารณาขายทันที ในขณะเดียวกันถ้าบทวิเคราะห์แนะนำ "ซื้อ" นักลงทุนจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เราควรซื้อจริงๆใช่หรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์นอกจากจะวิเคราะห์พื้นฐาน Fundamental ของบริษัทแล้ว อาจจะวิเคราะห์ข่าวสารที่กระทบกับบริษัทในระยะสั้นด้วย การแนะนำขายในระยะสั้น อาจจะเป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวก็เป็นได้

บทวิเคราะห์หุ้น
ตัวอย่างหุ้นที่โดนดาวเกรดจาก "ซื้อ" เป็น "ขาย" จะส่งผลเชิงลบต่อความรู้สึกนักลงทุน 
ขอบคุณบทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า , settrade.com

 

สาเหตุที่ 3 ผลประกอบการไม่ดี
สาเหตุ 2 ข้อดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่สำหรับสาเหตุที่ 3 แล้วเป็นเรื่องของพื้นฐาน ในบางครั้งบริษัทประกาศผลประกอบการที่ไม่ดี ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้นลงแรง

สิ่งแรกที่นักวิเคราะห์จะให้ความสนใจ คือ Gross Margin หรืออัตรากำไรขั้นต้น ถ้าสิ่งนี้มีอัตราที่ลดลง จะมีมุมมองเป็นลบทันทีต่อการประกาศผลประกอบการไตรมาสนั้น ถ้าสมมุติว่าอัตรากำไรสุทธิไม่มีปัญหา สิ่งที่ต้องดูต่อมา คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขายและบริหาร (SG&A) เป็นอย่างไร บริษัทมีความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ดีหรือไม่

สิ่งที่นักลงทุนควรดู คือ ผลประกอบการประจำไตรมาส ว่าบริษัทมีพัฒนาการเป็นอย่างไร หุ้นที่ผลประกอบการโตเร็วมาก ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่ง แต่อย่าลืมว่าความยากลำบากในการรักษาการเติบโต จะเป็นปัญหาในปีหน้า โดยทั่วไปเป็นการยากที่จะทำให้บริษัทรักษาการเติบโตเป็นเลขสองหลักไปตลอดรอดฝั่ง สุดท้ายการเติบโตก็จะช้าลง ส่งผลให้หุ้นลดแรงด้วยเช่นกัน

 

สาเหตุที่ 4 ความคาดหวังของนักลงทุนที่มากเกินไป
เป็นสิ่งสืบเนื่องจากข้อที่ 3 หุ้นที่ผลประกอบการดีมาก ราคาหุ้นที่พุ่งได้แบกรับความคาดหวังของคนในตลาดว่าหุ้นจะต้องเติบโตต่อไป

"ความคาดหวัง" คือเหตุผลอันดับต้นๆที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยขาดทุน คาดหวังต่อผลประกอบการว่าจะต้องออกมาดี ในไตรมาสหน้า หรือปีหน้า สิ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีความคาดหวังสูงขนาดไหนดูได้จาก 2 สิ่ง คือ 

1.) ค่า P/E -- ค่า P/E ยิ่งสูงมากแสดงว่าความคาดหวังมาก 

2.) ราคาหุ้นที่ขึ้นมามากแล้ว -- ราคาหุ้นคือสิ่งสะท้อนความรู้สึกต่อคนในตลาด ถ้ามีใครมาไล่ราคาหุ้นให้ขึ้นไปแสดงว่าใครคนนั้น ได้คาหวังบางสิ่งบางอย่างจากหุ้นตัวนั้น เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ตามมาคือ Sell on Fact หรือขายเมื่อข่าวดีออกมาแล้ว นั้นเอง

 

สาเหตุที่ 5 พื้นฐานเปลี่ยน
มีเซียนหุ้นไทยคนหนึ่งได้พูดเอาไว้ว่า "พื้นฐาน คือเจ้ามือหุ้นที่แท้จริง" หุ้นที่พื้นฐานดีส่งผลให้ผลประกอบการออกมาดีอย่างยั่งยืน หมายความว่า บางไตรมาสอาจจะมีสะดุดบ้าง หรือลดลงบ้างแต่ถ้าพื้นฐานของบริษัทยังดีอยู่ ในระยะยาวแล้วมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาจะเกิดก็ต่อเมื่อพื้นฐานหุ้นได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สินค้าบางอย่างของบริษัทมีกฏหมายเข้ามาควบคุม เป็นต้น หุ้นเหล่านี้จะโดนเทขายอย่างหนักทำให้หุ้นลงได้

กราฟหุ้น
SE-ED คือตัวอย่างหุ้นที่คน "ส่วนใหญ่" เชื่อกันว่าพื้นฐานเปลี่ยนเนื่องมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นจะต้องติดตามบริษัทที่ตัวเองลงทุนอย่างใกล้ชิด ฟัง Opp day ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ติดตามผลประกอบการสม่ำเสมอ อ่านรายงานประจำปีเพื่อดูสิ่งที่บริษัทได้ทำในแต่ละปี

พื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนอย่างช้าๆ ถ้านักลงทุนที่ติดตามอย่างใกล้ชิดจะมีโอกาสพลาดได้น้อยมาก ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "เปลี่ยนชั่วข้ามคืน" ในตลาดหุ้น

 

== สรุป ==
ทำไมหุ้นถึงลงแรง คือคำถามที่นักลงทุนถามกันมากที่สุด เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ สิ่งที่เกิดจากความรู้สึก และพื้นฐานเปลี่ยน

ผู้ถือหุ้นใหญ่ขาย นักวิเคราะห์มีมุมมองในเชิงลบ ความคาดหวังต่อผลประกอบการ ล้วนเป็นเรื่องของความรู้สึกของนักลงทุนที่ทำให้หุ้นลงแรงได้ และพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยน ยังเป็นสาเหตุให้หุ้นลง แต่นั้นจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งที่นักลงทุนทำได้ คือ ติดตามบริษัทอย่างใกล้ชิด หุ้นอาจจะเกิดการลงแรงในระยะสั้น ถ้าพื้นฐานในระยะยาวยังไม่เปลี่ยน อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการซื้อหุ้น

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

https://www.investopedia.com/articles/stocks/07/stock_drops.asp

--------------------------

stock2morrow นำสถิติสำคัญ มาเผยให้นักลงทุนหุ้น ทั้งสายปัจจัยพื้นฐานและเทคนิค เข้าใจว่าทำไมตลาดหุ้นจึงมีการตกลงแรง มีหลายๆปัจจัยที่เราควรรู้ !


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง