แม้ว่าทุกวันนี้คนไทยจะยังต้องพึ่งพาเงินสดในชีวิตประจำวัน แต่เทรนด์การมาของโมบายเพเมนต์และการใช้ e-wallet บ่งบอกว่าเรากำลังจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างช้าๆ ในบางกระเปาะของสังคมแล้ว
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับเส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด (https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2018/09/symposium2018_paper2_payment_system.pdf) ซึ่งพบหลายๆ สถิติที่น่าสนใจ เช่น คนไทยใช้ e-Payment บ่อยขึ้นมากกว่าแต่ก่อน จาก 14 ครั้งต่อคนต่อปี ในปี 2550 เป็น 63 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2560 และการเติบโตของโมบายเพเมนต์ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาก็สูงขึ้นราว 60%
ซึ่งงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนอันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การบริหารจัดการ ฯลฯ รวมแล้วไม่ต่ำไปกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนของประชาชน เช่น การเสียเวลาเดินหา ATM หรือเวลาที่ต้องนั่งนับเงิน (รวมกันทั้งประเทศ 365วันก็คงไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว)
นั่นคือมุมต้นทุน บทความนี้จะเสนอมุมอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
สิ่งที่น่าสนใจ 3 อย่างก่อนที่สังคมเราจะมุ่งไปสู่สังคมไร้เงินสดสำหรับผมคือ การเปลี่ยนแปลงช่องทางในการใช้จ่ายจากเงินสดไปเป็น electronic payment มากขึ้นนั้น มีผลอย่างไรต่อ
1) พฤติกรรมการใช้จ่ายของพวกเรา
2) การดำเนินนโยบายการเงิน และ
3) ความรู้เรื่องทางการเงิน
เราจะสุรุ่ยสุร่ายมากขึ้นหรือไม่?
ในมุมหนึ่ง ช่องทางในการใช้จ่าย (ถ้าค่าบริการเท่ากัน) ไม่ควรมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจทางการเงินของผู้บริโภคนัก เงิน 100 บาทใน SCB Easy เงิน 100 บาทใน True Money Wallet กับ เงินสด 100 บาท ก็คือเงินมูลค่า 100 บาท
ทว่าทฤษฎีและการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์กลับพบว่าการตัดสินใจทางการเงินของพวกเราถูกกระทบด้วยปัจจัยเหล่านี้ (https://www.econstor.eu/handle/10419/162908)
ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่าคนเราอาจตกอยู่ในภาวะ “จนชั่วคราว” ขึ้น เมื่อใช้เงินสด เนื่องจากปริมาณเงินสดที่เราถือจะถูกจำกัดด้วยเนื้อที่ในกระเป๋าสตางค์ ต่างกับเงินในรูปแบบ non-cash ที่เป็นแบบดิจิทัล ไม่มีวันเต็ม ฉะนั้นการมี budget จำกัดแบบนี้อาจทำให้ผู้บริโภคคิดมากก่อนใช้จ่าย ทั้งๆ ที่ตนอาจร่ำรวยมาก
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจคือนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมตั้งคำถามว่าการจับจ่ายด้วยเงินสดอาจทำให้คนเราขี้เหนียวขึ้นหรือไม่ เนื่องจากทุกครั้งที่ใช้จ่าย จะต้องนับเงินตลอด เป็นการตอกย้ำของการสูญเสียทรัพย์สินแบบที่นักวิจัยเรียกกันว่า pain of paying (https://www.behavioraleconomics.com/resources/mini-encyclopedia-of-be/pain-of-paying/) แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการใช้จ่ายด้วยมือถือหรือเว็ปไซต์ที่รวดเร็วเหลือเชื่อ และเผลอๆ บางทีอาจมี rewards เล็กๆ ให้สมองเรารู้สึก satisfied โดยไม่รู้ตัว เช่นการลาก swipe หน้าจอ สีสันที่เร่งขึ้นมาเมื่อทำธุรกรรมเสร็จ เป็นต้น
การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ อาจมีผลมากขึ้น
มีเศรษฐกรที่ Fed แห่ง St. Louis มองว่าถ้าความเร็วในการหมุนเวียนของเงิน (money velocity) คงที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะต้องระหว่างปี 2008-2013 จะขึ้นไปถึง 30% เลยทีเดียว แต่มันกลับอยู่ที่ 2% (https://www.stlouisfed.org/on-the-economy/2014/september/what-does-money-velocity-tell-us-about-low-inflation-in-the-us)
เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าเกิด “ภาวะเงินอืด” ขึ้น นั่นก็คือภาวะที่เงินไม่ค่อยไหลไปไหน มีการตุน การดองเงินสดไว้ ทำให้ไม่ว่าธนาคารกลางจะพยายามอัดฉีดเท่าไร ก็ไม่สามารถทำให้เงินเหล่านี้ไหลออกมาสู่สินทรัพย์อื่นๆ หรือส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจได้มากพอ
หากวันหนึ่งมีเงินในสถานะเงินสดน้อยลง นโยบายดอกเบี้ยติดลบอาจช่วยกระตุ้นให้เงินที่อาจจะถูกดองในสภาพเงินสดนี้ไหลออกไปข้างนอก เพราะไม่ต้องการถูกผลกระทบ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับธนาคารกลางซึ่งนับวันจะมีกระสุนน้อยลงทุกที
คนไทยจะมีความรู้เรื่องทางการเงินมากขึ้นไหม
แม้ว่าการใช้จ่ายในสังคมไร้เงินสดจะดูเหมือนว่าจะทำให้เราใช้จ่ายได้สะดวกมาก (หรือมากเกินไป) ผมมองว่ามันเป็นการเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงคนและให้โอกาสเขาเพิ่มความรู้เรื่องทางการเงินมากขึ้นได้เหมือนกัน
ปัจจุบันธนบัตรที่เราใช้กันไม่ได้มีฟังก์ชั่นเพื่อการสื่อสารกับผู้ใช้ ผิดกับ mobile application หรือ e-wallet ที่สามารถเป็นได้ทั้งช่องทางในการชำระเงินและช่องทางในการให้ความรู้เกี่ยวกับการออมและการลงทุน
ลองจินตนาการสิครับว่า mobile application ที่ใช้จ่ายเงินทั้งหลายอาจจะมีหน้าที่เป็น content เพื่อสอนหลักการง่ายๆ เกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้น การออม เงินเฟ้อ หรือการกระจายความเสี่ยง จะเป็นบทความยาวๆ หรือจะเป็นแค่คำขวัญสั้นๆ ทำ AB Testing ไปเรื่อยๆ ก็จะทราบมากขึ้นว่า รูปแบบการทำ content แบบไหนที่ทำให้คนเรามีความรู้เรื่องทางการเงินและมีความรับผืดชอบทางการเงินมากขึ้น สังคมเราก็จะมีระดับความรู้เรื่องทางการเงินมากขึ้นเสียที
------------------------------
stock2morrow นำบทความของ ดร. ณภัทร ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สหรัฐฯ เกี่ยวกับด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่องสังคมไร้เงินสดเป็นเทรนด์ที่กำลังจะเกิดในอีกไม่นาน เพื่อนๆนักลงทุนเตรียมศึกษาข้อมูลกันไว้ก่อนเลย