TVD ธุรกิจช็อปปิ้งบนมูลค่า Big Data กับ ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล และดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในรายการ Business Model สรุปสาระสำคัญมาให้อ่านกันง่ายๆ
ลักษณะธุรกิจ
บริษัทประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางการตลาดหลากหลายช่องทาง (Multi-Screen) โดยมีโครงสร้างการประกอบธุรกิจ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนงานหลัก ดังนี้
1. Direct Shopping แบ่งเป็น 3 ส่วนงานย่อย ดังนี้
1.1 การตลาดทางทีวี (TV Marketing) การเสนอขายสินค้าและบริการผ่านสื่อโทรทัศน์ภาคปกติ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดิจิตอล
1.2 การเสนอขายสินค้าและบริการผ่านระบบโทรศัพท์แบบโทรออก (Outbound Call Center)
1.3 การเสนอขายสินค้าและบริการผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ (Direct Response Printing)
2.Online Shopping บริการจัดจำหน่ายสินค้าทางเว็บไซต์ โมบายแอพพลิเคชั่น รวมถึงการขายผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้ารายย่อยในยุคดิจิตอล
3.Retail Shopping เสนอขายสินค้าและบริการแบบขายปลีกผ่านร้านค้า TV Direct Showcase รวมทั้งจำหน่ายสินค้าแบบขายส่งแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนที ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล วิเคราะห์ไว้ในรายการ
- TVD มีการตลาดหลายช่องทาง โดยเฉพาะทีวีแต่กลับไม่มีช่องทางของตัวเอง
- ขายผ่านทีวีคิดเป็น 60% ของรายได้ การตลาดทางตรง 18% ขายผ่านร้าน 7.46%
- สินค้าของตัวเอง 26% สินค้าตัวแทนจำหน่าย 14% สินค้าฝากขาย 54% ข้อดีของการฝากขาย คือไม่จำเป็นต้องกังวลทางด้านสินค้าคงคลัง
- เราต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
- แต่ผู้บริโภคมีหลายช่องทางในการเข้าถึงสินค้าที่ TVD ขาย อาจจะเป็นของค่ายอื่น ซึ่งตรงนี้แข่งขันกันสูง และสินค้าของ TVD ก็ไม่ได้แตกต่างจากของค่ายอื่นมากนัก
- คู่แข่งอีกหลายค่าย เขามีช่องเป็นของตัวเอง แต่ตรงนี้มองเป็นข้อดีเพราะ TVD ไม่ต้องมีใบอนุญาตราคาแพง
- สิ่งสำคัญของธุรกิจประเภทนี้ คือ การเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า ถ้าเข้าถึงได้มากจะได้เปรียบ
- รายได้ของ TVD ปะมาณ 3 พันล้าน คิดเป็น Gross Margin ประมาณ 40% แต่ EBIT Margin เหลือเพียง 1.83% หมายความว่าการทำธุรกิจแบบนี้ค่าใช้จ่ายสูงมาก บริษัทอาจจะควบคุมค่าใช้จ่ายไม่อยู่ หรือมีค่าโปรโมชั่นทางการตลาดมากเกินไป
- ค่าใช้จ่ายสูง ทำให้บริษัทขาดทุน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ
- ดูจากยอดขายบริษัท ค่อนข้างคงยอดขายได้ประมาณ 3 พันล้าน บ่งบอกว่าบริษัทชำนาญด้านทีวีมาร์เก็ตติ้ง แต่ต้องยอมรับว่าเดียวนี้หลายค่ายหันมาทำทีวีช๊อปปิ้งมากขึ้น คู่แข่งเยอะขึ้น ตรงนี้ต้องระวัง
- ถ้าบริษัทสามารถเพิ่มกำไร ลดค่าใช้จ่ายได้ หุ้นจะกลับมา Perform ได้อีกครั้ง ที่สำคัญคือบริษัทจะหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆได้อย่างไร
- วงจรเงินสดถือว่าดี อยู่ที่ 23 วัน
- สินค้าคงเหลือคิดเป็น 22% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งจะเยอะไปนิดนึง บริษัทจะจัดการตรงนี้อย่างไร
- P/Bv 1.8 เท่า ถือว่าสูงไปนิดนึง เทียบกับ ROE
- คู่แข่งเยอะขึ้น ผู้บริหารจะมีโมเดลใหม่ๆอย่างไร ใช้ประโยชน์จากตรงไหนบ้าง
ส่วนที ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร วิเคราะห์ไว้ในรายการ
- ผมรู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วง "ปฏิวัติ" วงการ เข้าสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้น เรื่องของทีวีเป็นของเก่าไปแล้ว
- กลุ่มคนที่ซื้อของผ่านโทรทัศน์ อาจจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่คนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่เขาไม่ดูกันแล้ว เขาซื้อผ่านแอพลิเคชั่นกัน
- ภาพรวมของอุตสาหกรรมการดูทีวี ผมว่าคนดูน้อยลง พอคนดูน้อยลงตรงนี้จะกระทบกับบริษัทโดยตรงหรือเปล่าเพราะภาพใหญ่มันเป็นขาลง
- ประเด็นสำคัญของ TVD คือ ค่าใช้จ่ายสูง ทำให้มาร์จิ้นบางมาก
- ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามเขาก็ขายตรงผ่านทีวีเหมือนกัน มีช่องเป็นของตัวเอง พอเห็นว่าตัวเองไม่มีโฆษณาก็อัดแคมเปญของตัวเองเลยกลายเป็นว่า ช่องของเราเฉพาะลูกค้าของเราเท่านั้น เป็นนิชมาร์เก็ตไปแล้ว ค่าใช้จ่ายต่ำ สินค้าที่เราขายก็เลยมีกำไรเพราะเราควบคุมค่าใช้จ่ายได้
- TVD ค่าใช้จ่ายสูง อุตสาหกรรมกำลังแย่ลง บริษัทก็เลยทำ Omni Channel บุกทั้ง Online Offline แต่ผมมองว่ามันไม่ดีเลยนะ คือ ทำทุกอย่างแต่ไม่ดีสักอย่าง ในขณะที่เราทำแต่ละวิธีมันมีต้นทุนทั้งนั้น
- อย่างเช่น คุณบอกว่า คุณมาทำ E-Commerce คู่แข่งของคุณคือ LAZADA, Shopee ค่ายใหญ่ๆดังๆทั้งนั้น สินค้าครอบจักวาล สินค้าที่ TVD ขาย พวกเขาก็มี แถมมีเยอะกว่าด้วย ถูกกว่าด้วย
- ปัจจุบันขายออนไลน์มันไปไกลมาก คลิ๊กนิดเดียวเขามีเปรียบเทียบราคาให้เลยที่ไหนถูกที่สุด ราคาเฉลี่ยแต่ละเว็บไซด์เท่าไร มีคูปอง มีแจกโค๊ดส่วนลด แล้วแบบนี้ทีวีจะไปสู่ได้อย่างไร อันนี้พูดถึง Online
- กลับมา Offline บ้าง ขายรีเทล เขาก็มีเจ้าใหญ่ของรีเทลอยู่แล้ว มันก็แข่งขันกันสูง
- ดังนั้นจึงรู้สึกว่า เราบอกเราเข้าทุกช่อง เปิดกว้างสุด เข้าถึงทุกกลุ่ม มันไม่ใช่โมเดลธุรกิจที่ดีแล้ว นาทีนี้คุณต้องชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่งแบบโดดเด่น
- ผมว่าหุ้นแบบนี้มันต้องดูไตรมาสต่อไตรมาส เปลี่ยนเร็วมาก ไตรมาสนี้อาจจะดี พอไตรมาสถัดไปไม่ดีแล้ว จะสร้างความสม่ำเสมออะไรแบบนี้ไม่น่าจะได้
- นาทีนี้ธุรกิจทีวีช๊อปปิ้ง "เหนื่อย"
-------------------------------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : รายการ Business Model TVD ธุรกิจช็อปปิ้งบนมูลค่า Big Data