#แนวคิดด้านการลงทุน

Financial Literacy กับพฤติกรรมการเงินอันแสนบิดเบี้ยว

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
447 views

ทุกคนทราบดีว่าความรู้เรื่องทางการเงิน หรือ “financial literacy” นั้นมีความสำคัญ แต่น้อยคนจะตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาภาวะความรู้เรื่องทางการเงินตกต่ำ รวมถึงผลกระทบวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ

นักวิจัยในวงการนี้มักตั้ง 3 คำถามหลักๆ เพื่อวัดระดับความรู้เรื่องทางการเงิน  ดูนะครับว่าท่านผู้อ่านจะตอบได้กี่ข้อ

  1. ถ้าคุณมีเงิน 100 บาทในบัญชีออมทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีคุณจะมีเงินในบัญชีนี้เท่าไหร่ถ้าคุณไม่ถอนออกไปเลย

    1. มากกว่า 102 บาท

    2. 102 บาท

    3. น้อยกว่า 102 บาท

  2. แล้วถ้าอัตราดอกเบี้ยเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี คุณจะสามารถใช้เงินในบัญชีนี้เพื่อซื้อของได้

    1. มากกว่าที่ซื้อได้ในวันนี้

    2. เท่ากับที่ซื้อได้ในวันนี้

    3. น้อยกว่าที่ซื้อได้ในวันนี้

  3. ประโยคนี้จริงหรือเท็จ “การซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งนั้นมักให้ผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการซื้อกองทุนรวม”

    1. จริง

    2. เท็จ

ง่ายจนไม่ต้องเฉลยใช่ไหมครับ ข้อแรกวัดความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น ข้อสองวัดความเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ ส่วนข้อสามวัดความเข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยง

แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าคนทั่วโลกไม่ถึงครึ่งที่สามารถตอบคำถามการเงินแสนเบสิคเหล่านี้ได้

งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าผู้ใหญ่เพียง 65% เท่านั้นที่เข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น 64% ที่เข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ และ 52% ที่เข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยง (http://gflec.org/wp-content/uploads/2015/11/3313-Finlit_Report_FINAL-5.11.16.pdf?x87657)

ส่วนในประเทศไทยค่าเฉลี่ยของผู้ใหญ่ที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้ถูกต้องอยู่ที่แค่ 27% เท่านั้น

ถ้าเราเชื่อผลวิจัยนี้ แปลว่า 7 จาก 10 คนที่เราเดินผ่าน นั้นไม่มีความเข้าใจใดๆ เกี่ยวกับสามเสาหลักของโลกการเงินเลยแม่แต่น้อย

ความรู้เรื่องทางการเงินตกต่ำแล้วกระทบอะไรบ้าง

หนึ่งคือความยากจนในวัยชรา ความบกพร่องทางความรู้เรื่องทางการเงินสามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำในความมั่งคั่ง (wealth inequality) ในวัยชราได้ถึง 30 ถึง 40% (https://www.forbes.com/sites/pensionresearchcouncil/2017/12/14/a-financial-literacy-test-that-works/)

สองคือความเป็นหนี้ท่วมหัว  รายงานของธนาคารโลก (http://documents.worldbank.org/curated/en/264001468340889422/pdf/WPS6107.pdf) พบว่าคนที่ความรู้เรื่องทางการเงินบกพร่อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินในหมู่ชาวอเมริกันทำให้พวกเขามีภาระหนี้สูงขึ้นและมีต้นทุนในการยืมเงินสูงขึ้น

เหตุผลหนึ่งคือ พบว่า 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันคิดว่าตนมีคะแนนเครดิตที่ดีเกินจริง โดยคนที่ความรู้เรื่องทางการเงินบกพร่องยิ่งอยู่ในกลุ่มนี้  ซึ่งทำให้พวกเขาคาดการณ์ต้นทุนทางการเงินไม่ถูก จนทำให้ใช้จ่ายหรือกู้ยืมเกินตัว

สามคือการคาดการณ์เงินเฟ้อคาดเคลื่อน จุดนี้สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากการคาดการณ์เงินเฟ้อโดยผู้บริโภคหรือผู้คนมากมายนั้นเป็นหนึ่งใน input สำคัญข้างในการวางแผนนโยบายการเงินหรือการวิเคราะห์โมเดลเศรษฐกิจมหภาค  

ที่น่าสนใจคือ Bruine de Bruin et al. (2010) พบว่ายิ่งคนเราความรู้เรื่องทางการเงินน้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น  คำอธิบายหนึ่งคือในกลุ่มคนที่ฐานะไม่ค่อยดีจะคิดถึงประสบการณ์ส่วนตัวในช่วงเวลาที่ราคาปรับขึ้นมากกว่าเวลาราคาปรับลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลุ่มที่เคยเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงๆ มากก่อนในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกา (https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1745-6606.2010.01174.x)

การศึกษาช่วยแค่ไหน

“การศึกษา” มักถูกพูดถึงบ่อยว่ามันน่าเป็นทางออกของปัญหานี้

ทว่าหากไปดูงานวิจัยที่พยายามวัดผลของการศึกษาทั่วไปหรือการศึกษาด้านการเงิน จะผิดหวังและพบว่ามันมีผลกระทบไม่มากนักต่อความรู้เรื่องทางการเงิน

งานวิจัยของ Shapiro (http://jeremypshapiro.com/papers/Unpacking%20the%20Causal%20Chain%20of%20Financial%20Literacy%20.pdf) พบว่าในหมู่ผู้เข้าร่วมการทดลอง ผู้ที่มีความรู้เรื่องทางการเงินมากกว่าผู้อื่นนั้นตอบคำถามที่เกี่ยวกับความรู้เรื่องทางการเงินได้ดีกว่าผู้อื่น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองสามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ประหยัดต้นทุนที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด และการให้เงินเพื่อให้พวกเขาตั้งใจทำแบบทดสอบก็ยังเลือกผลิตภัณฑ์ได้ไม่ดีที่สุด

นั่นแปลว่าการ “อัดฉีดอัพความรู้อย่างเป็นทางการ” เช่นการมีหลักสูตรสอนการคำนวนอัตราดอกเบี้ย บัญชี ฯลฯ อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเท่าที่เรานึกนัก

จึงเป็นเรื่องปกติที่ regulator จะแก้ปัญหานี้ด้วยการยับยั้งไม่ให้เกิดความระเริงมากเกินไปในตลาดผลิตภัณฑ์การเงิน และพยายามผลักดันให้บริษัทการเงินต้องอธิบายสิ่งที่ตนเองจำหน่ายให้ชัดเจนที่สุด

ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง แต่บางทีนโยบายติดเบรคก็อาจทำได้แค่ระงับผลพวงจากภาวะความรู้เรื่องทางการเงินบกพร่อง ไม่ได้ทำให้คนเรามีความรู้เรื่องทางการเงินมากขึ้น เหมือนกับเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

เพราะก็ยังมีงานวิจัยอีกสายที่พบว่าคนเรามักสะสมความเข้าใจทางการเงินมากขึ้นเมื่อได้สัมผัสกับมันจริงๆ อย่างที่คนในอิตาลีตอบคำถามเรื่องเงินเฟ้อได้ดีกว่าคนญี่ปุ่นที่ส่วนมากเจอแต่ภาวะเงินฝืด

ดังนั้นการสร้างความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์การเงินที่ซับซ้อนขึ้นหรือเสริมประสบการณ์ช๊อปปิ้งผลิตภัณฑ์การเงินโดยให้มีการให้ความรู้ไปในตัว จึงเป็นอีกแนวทางที่น่าต่อยอดและน่าสนับสนุนให้ฟินเทคหรือภาคเอกชนทำ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีทางการเงินกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วกว่าความรู้เรื่องทางการเงินของคนหมู่มาก


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง