"โดนัท คืองานศิลปะ เป็นมากกว่าขนมกลมๆ มีรูตรงกลาง"
นี้อาจจะเป็นนิยามของ Mister Donut ที่เป็นมากกว่าขนมมีรูตรงกลาง ขนมชนิดนี้ได้กลายมาเป็นงานศิลปะที่ผ่านการสร้างสรรจนเป็นรูปแบบใหม่ๆ ถูกใจเด็กๆ และรสชาติถูกปากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก
ถ้าพูดถึง Mister Donut บางคนอาจจะคิดถึง Dunkin Donuts มากกว่า แต่รู้หรือไม่ว่า 2 แบรนด์นี้มีความเป็นเครือญาติกัน
เป็นอย่างไร มาฟังกันเลย ...
ในปี 1948 ชายชาวอเมริกา ชื่อนายวิลเลี่ยม โรเส็นเบิร์ก ได้เปิดร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นที่บอสตัน ในชื่อร้าน "Open Kettle" กิจการไปด้วยดี ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อร้านมาเป็น Dunkin' Donuts และเริ่มขายเฟรนไชส์ในปี 1955 ต่อมาจัดตั้งบริษัทอย่างจริงๆจังๆในปี 1963 โดยให้ลุกชายของเขามาบริหาร โรเบิร์ต โรเส็นเบิร์ก ตั้งแต่อายุ 25 ปี ส่วนตัวเขาเกษียณเนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ
วิลเลี่ยม โรเส็นเบิร์ก มีญาติคนหนึ่งชื่อแฮร์รี่ วินโอเคอร์ ได้ร่วมทุนทำร้าน Dunkin' Donuts แต่ด้วยความเห็นบางอย่างที่ไม่ตรงกัน ทำให้แฮร์รี่แยกตัวออกมาทำร้านขนมเป็นของตัวเองในชื่อ Mister Donut เปิดในปี 1955 ที่เมืองบอสตันเช่นเดียวกัน หมายความว่าพวกเขาทั้งสองเป็นคู่แข่งกันทางธุรกิจ
Mister Donut เน้นขายเฟรนไชส์ที่ประเทศแคนาดามากกว่า ตรงข้ามกับ Dunkin' Donuts ที่เน้นเปิดในอเมริกา ในปี 1960 ทั้งสองแบรนด์มีสัดส่วนการตลาดเท่าๆกันในอเมริกา
หลังจากที่ Mister Donut มีสาขาถึง 275 สาขา เป็นที่สนใจของบริษัท International Multifoods Corporation ได้ขอเข้าซื้อธุรกิจจากกลุ่มวินโอเคอร์ และเปิดร้านญี่ปุ่นเป็นสาขาแรกที่เมืองโอซาก้าในปี 1971 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก คนญี่ปุ่นนิยมกินโดนัทเป็นอาหารว่างและอาหารเช้า หรือซื้อฝากให้กับญาติๆ
ในปี 1983 บริษัท Duskin Co. ได้ซื้อร้าน Mister Donut ในสาขาญี่ปุ่นทั้งหมด และมีสิทธิ์ขยายในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
กลับมาที่อเมริกา ธุรกิจ Mister Donut มีมากถึง 550 สาขาในอเมริกาและแคนาดา แต่ไปได้ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับ Dunkin' Donuts ต่อมาบริษัทยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ Allied-Lyons plc ได้ประกาศเข้าซื้อธุรกิจ Dunkin' Donuts จากกลุ่มโรเส็นเบิร์กทั้งหมดเป็นเงินมากกว่า 196 ล้านปอนด์และเข้าซื้อร้าน Mister Donut จากบริษัท International Multifoods Corporation ทั้งหมด โดยจะเอาสาขาของ Mister Donut ทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็น Dunkin' Donuts เป็นการปิดฉากตำนานร้าน Mister Donut อย่างสมบูรณ์
กลับมาที่ญี่ปุ่น ร้าน Mister Donut ภายใต้การนำของ Duskin Co. ได้เปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง และมีการเติบโตที่ดีมากทำให้พนักงานบางส่วนที่เคยทำงานใน Mister Donut ที่อเมริกาและแคนาดา ต้องย้ายมาทำงานที่ญี่ปุ่นแทน เรียกได้ว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ญี่ปุ่นก็ไม่ผิดนัก
Mister Donut ที่ญี่ปุ่นมีการพัฒนาขนมของตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าของเฟรนไชส์ทราบ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้าโดนัทเอง ทำกาแฟ ทำชาขาย หรือแม้แต่การคิดค้นขนมชนิดใหม่ที่เรียกว่า "พอน เดอ ริง Pon De Ring" ขนมโดนัทที่ทำมาจากแป้งโมจิ มีความเหนียว หวาน และเคี้ยวได้ในปาก ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก บริษัทได้คิดค้นมาสคอตร้านแบบใหม่ เรียกว่า "พอน เดอ ไลอ้อน" ที่แปลกว่า เจ้าชายสิงโต เพราะ พอน เดอ ริง มีลักษณะคล้ายแผงคอของสิงโตนั้นเอง
ร้าน Mister Donut ที่ญี่ปุ่นได้รับความนิยมมาก ผิดกับที่อเมริกา แคนาดา ที่มีการเปลี่ยนชื่อร้านมาเป็น Dunkin Donuts กันหมด เท่ากับว่าไม่มีร้าน Mister Donut อีกต่อไปแล้วเป็นการปิดฉากอย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับ Mister Donut ในประเทศไทย ... ถูกนำเข้ามาโดย 2 ผู้บริหารเครือเซ็นทรัล คุณสุทธิชัย - สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ในปี 1979 ในนามของ บริษัท ไทยแฟรนไชซิ่ง จำกัด ทำสาขาแรกที่สยามสแควร์ ได้รับการตอบรับที่ดีมากเพราะมันยังเป็นของใหม่และได้ชื่อว่านำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมา Mister Donut ก็ได้เปลี่ยนผู้ถือเฟรนไชส์มาเป็น CRG หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ภายใต้ร่มเงาของ CENTEL ดังนั้นถ้าใครอยากลงทุนธุรกิจ Mister Donut ก็สามารถซื้อหุ้น CENTEL ได้เลยครับ
ตอนนี้ได้กลายมาเป็น Top3 รายได้หลักของ CRG ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ....
ในทางเดียวกัน ถ้าใครอยากลงทุนธุรกิจ Dunkin Donuts ก็สามารถศึกษาหุ้น MM หรือบริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ได้เลยครับ
== สรุป ==
การต่อสู้ทางธุรกิจในเครือญาติกันอย่างยาวนานระหว่าง Dunkin และ Mister ก็ถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทเดียว ในอเมริกาและแคนาดา การทำตลาดของ Dunkin ดีกว่า ในขณะที่ Mister ได้ปิดตัวไป แต่กลับไปเติบโตที่ญี่ปุ่นแทนภายใต้การนำของ Duskin Co.
กุญแจสำคัญ คือ การทำตลาดที่เป็นมากกว่าโดนัท ที่ญี่ปุ่นมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทำเหมือนงานศิลปะที่ขายความสวยงามของขนม ไม่ใช่การขายโดนัทธรรมดาที่ใส่แป้งหรือใส่ช๊อคโกแลตเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้บริษัทยังคิดค้นขนมพอน เดอ ริง ที่ดังไปทั่วเอเชีย เป็นที่ถูกปากชาวไทยจำนวนมาก (รวมถึงผู้เขียนด้วย)
สำหรับนักลงทุนชาวไทย ใครสนใจอยากลงทุนใน Mister Donuts ก็สามารถศึกษาหุ้น CENTEL ได้ เพราะอยู่ในเครือของ CRG ซึ่งเป็นบริษัทลูกนั้นเอง ครับ