#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

“ไขงบหุ้นกลุ่มแบงก์” ส่องกำไร Q2/61 ใครรุ่ง - ใครร่วง ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
198 views

 

กลุ่มแบงก์โชว์ผลกำไรใน Q2/61 รวม 5.35 หมื่นลบ. โต 17.10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หุ้นใหญ่อย่าง KTB - KBANK -  BBL - BAY ดีเกินคาด หลังตั้งสำรองลดลง ส่วน SCB – TMB สะดุดจากเหตุตั้งสำรองเพิ่ม ในกลุ่มหุ้นเล็ก TISCO – TCAP – KKP กำไรเติบโตดีตามคาด

สาเหตุที่หนุนกำไรสุทธิหุ้นกลุ่มธนาคารให้เติบโต เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อและหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เริ่มลดลง นอกจากนี้การเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไป 1 ปี ทำให้ธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงอยู่แล้วไม่ต้องตั้งเพิ่ม

 

 

เมื่อพิจารณาที่ YoY Q2/61 อัตรากำไรสุทธิในแต่ละธนาคาร มีแนวโน้มดีขึ้น 9 แห่ง และมีแนวโน้มแย่ลง 3 แห่ง โดยเรียงอันดับจากบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเติบโตสูงสุดไปน้อยสุด

     1. KTB หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินเติบโตโดดเด่นมากที่สุดใน Q2/61 ที่ 7,712 ลบ. หรือ 0.55 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น  139.30% จากงวดเดียวกันปี 2560 ที่มีกำไร 3,222 ลบ. หรือ 0.23 บาท/หุ้น ส่วนงวด 6 เดือน มีกำไร 14,498 ลบ. หรือ 1.04 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น  23.30% จากช่วงเดียวกันปี 2560 ที่มีกำไร 11,760 ลบ. หรือ 0.84 บาท/หุ้น

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60

  • การตั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 6,769 ลบ. ลดลง 7,109 ลบ. (22%)
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารและบริษัทย่อย (หลังหักรายได้รอตัดบัญชี) เท่ากับ 1,959, 549 ลบ. ซึ่งสินเชื่อขยายตัวดีขึ้นจากหลายกลุ่มธุรกิจ

ผลการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เทียบกับ Q2/60

  • กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 17,205 ลบ. ลดลง 1,005 ลบ. (5.52%)
  • รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 20,812 ลบ. ลดลง 1,042 ลบ. (4.77%) จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี
  • บริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 เท่ากับ 110, 563 ลบ. เพิ่มขึ้น 7,543 ลบ. (7.32%) จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560
  • อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio Net) เท่ากับ 1.88% เพิ่มขึ้นจาก 1.77% ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 (เป็นสินเชื่อที่ไม่สามารถเรียกคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยได้ ทั่วไปแล้วธนาคารจะมีระดับ NPLต่อสินทรัพย์รวมประมาณ 2-4% ถ้าหากเกินจากนี้จะแสดงถึงปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น ค่ายิ่งน้อยจะยิ่งดี)

     2.KKP หรือ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 1,551 ลบ. เพิ่มขึ้น 30.90% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 1,185 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 3,064 เพิ่มขึ้น 13.10% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 2,709

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 18.80% ขณะที่รายได้จากการเช่าซื้อ และสัญญาเช่าทางการเงินเพิ่มขึ้น 2.1% นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.2%

     3.LHFG หรือ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 806 ลบ. เพิ่มขึ้น 30.80% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 617 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 1,577 เพิ่มขึ้น 31.10% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 1,203

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60 เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ไม่ได้มาจากดอกเบี้ยโต 39% และมีกำไรจากเงินลงทุนและเงินปันผล

     4.TCAP หรือ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 2,051 ลบ. เพิ่มขึ้น 22.40% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 1,675 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 3,950 เพิ่มขึ้น 20.50% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 3,950

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.35%

     5.KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 10,917 ลบ. เพิ่มขึ้น 21.50% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 8,986 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 21,682 เพิ่มขึ้น 13.20% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 19,158

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60

  • รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,631 ลบ. (3.51%) ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้กู้ยืมตามธุรกรรมซื้อคืนและเงินให้สินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.40%
  • การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่ำกว่าคาด โดยตั้งเพียง 8 พันล้านบาท ลดลงถึง 25%

 

ผลการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เทียบกับ Q2/60

  • รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 134 ลบ. หรือ 0.43% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง และยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล

โบรกชี้เป้า

บล.เคทีบี เปิดเผยว่า กำไรสุทธิครึ่งปีแรกคิดเป็น 60% ของประมาณการเดิมทั้งปี จึงมีการปรับประมาณการเดิม ในส่วนกำไรสุทธิในปี 2561 และ 2562 เพิ่มขึ้น 6.4% และ 6.2% จากการปรับต้นทุนสินเชื่อลดลง และปรับกำไรจากเงินลงทุนเพิ่ม เนื่องจากช่วง Q1/61 ทำกำไรได้ดีมาก ส่งผลให้กำไรสุทธิตามคาดการณ์ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นล้านบ้าน เพิ่มขึ้น13% YoY

พร้อมแนะนำ “ซื้อ” จากเดิมที่ให้ “ถือ” และปรับมูลค่าเหมาะสมเพิ่มขึ้นเป็น 230 บาท อิง PBV 1.45x เทียบเท่า -0.5SD ย้อนหลัง 5 ปี จากเดิม 206 บาท อิง PBV 1.31x เทียบเท่า -1SD ย้อนหลัง 5 ปี โดยมองว่า กำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตได้ดีจากการตั้งสำรองฯที่ลดลง

     6.BBL หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 9,194 ลบ. เพิ่มขึ้น 14.30% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 8,047 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 18,199 เพิ่มขึ้น 11.30% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 16,352

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60 รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากกำไรธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินต่างประเทศ กำไรจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริหารประกันและกองทุนรวมแต่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง สาเหตุหลักจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมดิจิทัล

ในด้านสินเชื่อ 2.06 ลบ เพิ่มขึ้น 3.1% จากสิ้นปี 2560 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 3.5% และเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ 1.47 แสนลบ. ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอ

โบรกชี้เป้า

บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง อาจเห็นรายได้ค่าธรรมเนียมอยุ่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับ Q2/61 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัล แต่ยังเห็นปัจจัยหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งจะหนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงแนวโน้มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่อาจต่ำลงจากแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงประมาณการกำไรปี 61 ไว้ที่ 36,381 ลบ. เติบโต 10% YoY โดยกำไรครึ่งปีที่ประกาศคิดเป็น 50% ของประมาณการ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 220 บาท

     7.TISCO หรือ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 1,709 ลบ. เพิ่มขึ้น 13.60% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 1,505 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 3,475 เพิ่มขึ้น 16.00% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 2,996

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก Q2/60 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 15% จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรวมและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรับโอนลูกค้าธุรกิจรายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

รวมทั้งมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 10.6% ซึ่งเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิย์ขยายตัวที่ระดับ 11.1% ตามการขยายตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย รายได้ค่านายหน้าจากการขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 16.4% และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุนเติบโต 15.7%

     8.BAY หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานเติบโตที่ 6,273 ลบ. เพิ่มขึ้น 6.80% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 5,871 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 12,488 เพิ่มขึ้น 8.40% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 11,516

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก H1/61

  • เงินให้สินเชื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น 5.9% จากขึ้นปีแรก รวมทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยก็ปรับตัวขึ้น
  • อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อ (BIS Ratio) (เป็นเงินกองทุนที่ธนาคารจำเป็นต้องมีเผื่อสำรองไว้ในกรณีที่สินเชื่อที่ปล่อยไปเกิดปัญหาไม่สามารถชำระได้) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ7%
  • อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ระดับ 2.02%

 

โบรกชี้เป้า

บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า ประมาณการกำไรในปี 2561 ไว้ที่ 26 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5% YoY กำไร H1/61 คิดเป็น 47.8% ของประมารการกำไรทั้งปี โดยที่คาดว่าสินเชื่อขนาดใหญ่ รวมไปถึงสินเชื่อเช่าซื้อที่จะเติบโตตามยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวขึ้นน่าจะช่วยให้ผลประกอบการ H2/61 ปรับตัวขึ้นได้ คงราคาพื้นฐานไว้ที่ 47 บาท ยังแนะนำ “ซื้อ”

     9.SCB หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานแย่ลงที่ 11,111 ลบ. ลดลง 6.70% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 11,911 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 22,476 ลดลง 5.70% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 23,823

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงจาก Q2/61

  • การลงทุนในโครงการ SCB Transformation ส่งผลให้ค่าใช่จ่ายของธนาคารเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคาร
  • ค่าใช้จ่ายในการขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล

ผลการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เทียบกับ Q2/60

  • NPL Ratio ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 2.81% ลดลงจาก 83% ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2560 (อัตราส่วนนี้ยิ่งน้อยยิ่งดี)
  • ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,007 ลบ. ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ปรับเพิ่มขึ้น 143.5% ซึ่งอาจแสดงถึงความระมัดระวังในการบริหารงานที่มากขึ้น
  • รายได้จาการดำเนินงานจำนวน 34,343 ลบ.เพิ่มขึ้น 1.1% เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4.7%
  • เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นเดือน มิ.ถ. 2561 อยู่ที่ 17.1% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

โบรกชี้เป้า

บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่ากำไร Q2/61 จะลดลงและ SCB ได้มีการปรับเป้าต้นทุนต่อรายได้ขึ้นเป็น 45-47% จากเดิมที่ 42-45% แต่โบรกยังคงประมาณการกำไรปี 2561 ไว้เหมือนเดิมที่ 43.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% YoY อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบราคาหุ้นในปัจจุบันกับราคาพื้นฐานยังมีส่วนต่างอยู่พอสมควร จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 150 บาท

     10.TMB หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานแย่ลงที่ 2,026 ลบ. ลดลง 13.00% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 2,330 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 4,306 ลดลง 2.70% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 4,426

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงจาก Q2/61 เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 4.5% เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 3.6%

     11.CIMBT หรือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

มีผลการดำเนินงานแย่ลงที่ 191 ลบ. ลดลง 46.40% จากงวดเดียวกันปี 2560 มีกำไร 357 ลบ. ส่วนงวด 6 เดือน ที่มีกำไร 360 ลดลง 2.70% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 มีกำไร 478

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงจาก Q2/61 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น

สรุปภาพรวมกลุ่มแบงก์

บล.เมย์แบงค์ กิมเอ็ง เปิดเผยว่า 3 ธนาคารใหญ่อย่าง SCB, BBL และ KBANK รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าโบรกและตลาดคาดสูงกว่า 8-10% ตามลำดับ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าคาด แต่จากการเติบโตของ Loan growth กว่า 4-6% และรายได้จากการลงทุนที่สูงส่งผลให้กำไรเติบโตดี ประเมินว่านักวิเคราะห์มีโอกาสปรับประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีขึ้น เนื่องจากงบ Q1 ก็สูงกว่าคาดเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อการขยับขึ้นของ EPS ของ SET ได้ (ปัจจุบันอยู่บริเวณ 108.9) โดยปัจจุบันคิดเป็น PER18 ที่ 15 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ผลประกอบการ KBANK ดีกว่าที่คาดถึง 20%, BBL ดีกว่าคาด 8%, SCB ดีกว่าคาด 5%, BAY ตามคาด, TMB ต่ำกว่าคาด 16% ส่วนก่อนหน้านี้ TCAP TISCO ดีกว่าคาด และคาดว่างบ KKP KTB จะดีขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยหนุนกำไรแบงก์ มาจากสินเชื่อที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาฯ, NPL เริ่มเห็นสัญญาณลดลง (โดยเฉพาะ BBL) ทำให้สำรองแบงก์ส่วนใหญ่ลง และใน Q3/61 คาดกำไรแบงก์ยิ่งดีขึ้นอีกเพราะการเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9

อ้างอิง :

1.https://www.kaohoon.com/content/241857

2.http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=QVFKUUpNZElSNkU9


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง