1. บมจ.ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ (CPT) ก่อตั้งโดยกลุ่มวิศวกรคนไทยรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่เชี่ยวชาญระบบควบคุมไฟฟ้าในโรงงาน ก่อตั้งปี 37 (24 ปีที่แล้ว) ธุรกิจหลักคือ ผลิตและจำหน่ายตู้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบควบคุมไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงบริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย
.
2. ฐานลูกค้าหลักที่เชี่ยวชาญ คือ โรงงานน้ำตาล ปูนซีเมนต์ และกระดาษ ... โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานน้ำตาล จัดว่าเป็น "ผู้นำ" ได้เลยเพราะฐานลูกค้าในประเทศครอบคลุมรายใหญ่เกือบทั้งหมด เช่น น้ำตาลมิตรผล น้ำตาลขอนแก่น น้ำตาลครบุรี น้ำตาลเกษตรไทย ฯลฯ
.
3. รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากการขยายฐานลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ โดย CPT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET)เมื่อเดือนธันวาคม 60 เงินจากการขายไอพีโอนำไปลงทุนสร้างโรงงานใหม่ รองรับการผลิตตู้ไฟที่เติบโตและบุกตลาดต่างประเทศ
.
4. เดือนที่แล้ว ได้ปักธงเปิดสนง.ขายในภูมิภาคอาเซียน ประเดิมที่ อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งจะทำให้ CPT สามารถทำการตลาดเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการเติบโตของรายได้จากตลาดตปท.โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโรงงานน้ำตาล ตั้งเป้าทำรายได้จากต่างประเทศ 500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าภายในปี 63
.
5. ช่วง Q2 คว้างานเพิ่ม 3 โครงการ มูลค่างาน 230 ลบ. โดยขยายฐานลูกค้าไปสู่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม “บริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด” ได้งานโครงการโรงผลิตไฟฟ้าและขยายไลน์กำลังการผลิตปาล์ม และยังเข้ารับช่วงงานจาก บริษัท คุนหมิง ไลท์ อินดัสตรี แมชชินเนอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อออกแบบจัดหาตู้ควบคุมเครื่องจักรให้แก่โรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม และยังมีงานระบบไฟฟ้าโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ภายในปี 61 นี้
6. ไฮไลท์คือ การเข้าสู่ธุรกิจ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” โดยจับมือกับผู้เชี่ยวชาญระบบ Boiler บริษัท ไทยเทอร์โบเจนเนอร์เรเตอร์ จำกัด (TTG) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลุยธุรกิจ รับออกแบบ จัดหา และก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกลางถึงเล็ก ให้แก่โรงเลื่อยไม้ยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีวัสดุที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
.
7. โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้ไฟฟ้าของโรงงานเลื่อยและอบไม้ซึ่งมีอยู่กว่า 300 โรงในภาคใต้แล้ว ยังช่วยผู้ประกอบการโรงเลื่อยในภาคใต้ ให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งยังทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีเสถียรภาพมากขึ้นอีกด้วย
.
8. โอกาสทางธุรกิจของโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กแบบ 1 MW Biomass Co-Generation มีมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสูงกว่าที่โรงเลื่อยไม้ใช้อยู่ในปัจจุบัน ลดมลพิษได้มากกว่าระบบเดิม ในเบื้องต้นมีจำนวนประมาณ 22 โครงการศักยภาพ จาก 300 โรงเลื่อย รวมมูลค่างานกว่า 1,320 ล้านบาท
.
9. โครงการแบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสหนึ่ง ขายและติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2 โครงการ ประมาณ 120 ล้านบาท (ก.ย.61-มี.ค.62), เฟสสอง ขาย ติดตั้ง และให้ Financial Lease เครื่องผลิตไฟฟ้าชีวมวล 10 โครงการ มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท (พ.ย.61-มิ.ย.62) และ เฟสสาม ขาย ติดตั้ง และให้ Financial Lease เครื่องผลิตไฟฟ้าชีวมวลจำนวนอีก 10 โครงการ ประมาณ 600 ล้านบาท (ม.ค. 62 - ก.ค.62) มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,320 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้ที่มาจาก Financial Lease, Maintenance Services และ Recurring Income อื่น ๆ
.
10. CPT ยังมีแผนจะใช้ศักยภาพที่มี ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เช่น โรงนึ่งข้าว โรงบ่มปาล์ม ไปสู่ความเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลครบวงจร
.
.
บริษัทอาศัยฐานความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าเดิม เข้าสู่ตลาดใหม่ และธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสการเติบโตสูง อย่างการ "บุกตลาดต่างประเทศ และ โรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้"
จัดว่าเป็นหนึ่งในหุ้น small & mid cap ที่น่าติดตาม