#แนวคิดด้านการลงทุน

อวสานของความไร้ตรรกะในตลาดหุ้น / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
118 views

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีหุ้นตัวกลางตัวเล็กหลายตัวที่เคยมีราคาปรับตัวขึ้นโดดเด่นมากขนาดหลาย ๆ  เท่าในเวลาเพียง 2-3 ปี และผู้คนในตลาดต่างก็กล่าวขวัญถึงว่าเป็นหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ที่อาจจะกลายเป็นบริษัท  “ระดับโลก” ในไม่ช้า  ต่างก็ตกลงมาอย่างหนักคิดเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ “วิกฤติ” อะไรเกิดขึ้นกับบริษัท   หลังจากการตกลงมาหลายวัน  “ข่าวร้าย”  ต่าง ๆ  ก็ตามมา  นักวิเคราะห์ก็เริ่มที่จะมี “มุมมองใหม่”  และเริ่มที่จะปรับราคาพื้นฐาน “ที่เหมาะสม” ให้กับหุ้นใหม่ ซึ่งต่ำกว่าราคาเดิมที่ให้ไว้มากราวกับ “ฟ้ากับเหว”   ดูเหมือนว่าราคาหุ้นจะเป็น “เครื่องชี้นำ” ทุกอย่าง  ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นและสูงลิ่ว  สตอรี่ของบริษัทก็ดูดีไปหมด  พูดอะไรไปคนก็เชื่อ  ยิ่งผู้บริหารพูด  ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะต้องเป็นจริงและทำได้  แต่เวลาที่หุ้นตกและราคาลงมาต่ำมาก  ความมั่นใจก็ดูเหมือนว่าจะหมดไป  และถ้าเหตุการณ์หรือผลประกอบการที่ตามมาน่าผิดหวัง  “หายนะ” ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

อาการที่หุ้นที่มีราคาปรับขึ้นมามากแบบ  “เวอร์สุด ๆ” แล้วก็ตกลงมาอย่างแรงและรวดเร็วนี้  เราเรียกว่า  “ฟองสบู่แตก”  ความหมายก็คือ  ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงลิ่วและบริษัทมี Market Cap. สูงแบบเหลือเชื่อนั้น  แท้ที่จริงไม่ได้มาจากพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท  มันอาจจะมาจากความตื่นเต้นของนักลงทุนที่เชื่อว่าบริษัทนั้นจะเติบโตอย่างมโหฬารครองตลาดที่มีขนาดใหญ่โตและสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นมากในอนาคต  หรือมีสตอรี่ที่น่าตื่นเต้นที่จะเปลี่ยนบริษัทให้เป็นบริษัทระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ได้ในเวลาไม่นาน 
แต่เมื่อเวลาผ่านไป  พวกเขาก็อาจจะค้นพบว่าเรื่องราวต่าง ๆ  เหล่านั้นไม่จริงและก็เริ่มขายหุ้นจนทำให้หุ้นตกลงมาสู่ “ราคาพื้นฐานที่ควรเป็น” ซึ่งต่ำกว่าราคาที่เป็นฟองสบู่มาก  บางครั้งก็อาจจะต่ำกว่าราคาหุ้นก่อนจะขึ้นด้วยซ้ำ  ในช่วงที่หุ้นเป็นฟองสบู่นั้น  ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นจากผู้คนที่เกี่ยวข้องและอยู่ในตลาดหุ้น  อาทิเช่น  นักลงทุนรายย่อย  นักวิเคราะห์  และแม้แต่นักลงทุนสถาบันบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมที่ Alan Greenspan อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของอเมริกาเรียกว่าการ  “ตื่นเต้นแบบไร้ตรรกะ”

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น  ผมคิดว่าเรามี  “ฟองสบู่ของหุ้นขนาดเล็กและกลาง”  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นแพงจนไม่น่าเชื่อ  โดยที่ดัชนีตลาด MAI นั้นเคยมีค่า PE สูงเกือบ 100 เท่าและขณะนี้ก็ยังสูงถึงกว่า 70 เท่า  ส่วนหุ้นขนาดกลางหลายตัวโดยเฉพาะที่เริ่มมีอาการฟองสบู่แตกนั้นก็มักจะเคยมีค่า PE สูงตั้งแต่ 50-100 เท่า  เหตุผลที่หุ้นเหล่านี้มีราคาพุ่งขึ้นไปสูงลิ่วนั้น  นอกจากการที่หุ้นอาจมีสภาพคล่องต่ำหรือมีหุ้นหมุนเวียนหรือ Free Float น้อย ทำให้หุ้นถูก Corner หรือ “ต้อนเข้ามุม” จนทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วแล้ว   ผมคิดว่ามาจากการที่คนในแวดวงตลาดหุ้นบางส่วน  “ไร้ตรรกะ”  ในการคิดพิจารณามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น  พวกเขา  “ตื่นเต้น”  กับราคาและสตอรี่ที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งต่าง ๆ  โดยเฉพาะผู้บริหารทำให้ตรรกะในการคิดมีความลำเอียงเป็นอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่นักวิเคราะห์ที่มักจะวิเคราะห์  “ตามราคาหุ้น”  นั่นคือ  ถ้าหุ้นขึ้น  พวกเขาก็จะมองหาเรื่องดี ๆ  ทั้งหลายของบริษัท  ถ้าหุ้นขึ้นแรงและเร็วมาก  พวกเขาก็จะบอกว่าบริษัทโดดเด่นมาก  โตเร็วมาก กำไรจะโตพรวดไปอีกหลายปี  ดังนั้น  จึงแนะนำให้ซื้อหุ้นโดยมีเป้าหมายราคาที่มักจะสูงขึ้นไปจากปัจจุบัน  “หลายสิบเปอร์เซ็นต์”  โดยที่ค่า PE นั้นก็มักจะอิงจากค่า PE ในช่วงปัจจุบันหรือในช่วงเร็ว  ๆ  นี้ซึ่งอาจจะสูงเป็น 100 เท่าเข้าไปแล้ว  ในกรณีที่ไม่กล้าพูดอย่างเต็มปากเขาก็จะหาวิธีการประเมินมูลค่าใหม่เช่นใช้ค่า PEG หรือหา Discount Cashflows ที่คาดการณ์ออกไปในอนาคตหลาย ๆ  ปี ที่คนอ่านไม่ค่อยเข้าใจมาใช้เพื่อสนับสนุนราคาที่  “เวอร์มาก ๆ”  นั้น  ดูเหมือนว่าความ “ตื่นเต้น” จะทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดีและ “เชื่อ” ทุกอย่างที่เป็น “สิ่งดี ๆ” ของบริษัทและผู้บริหาร  และปฎิเสธที่จะรวมเอาความเสี่ยงหรือสิ่งเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นเข้ามาอยู่ในการประเมินมูลค่าของบริษัท

เหตุการณ์ “ฟองสบู่ของหุ้นตัวเล็กและกลางแตก” ในช่วงเร็ว ๆ  นี้คงทำให้นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยต้องปรับตัว  การวิเคราะห์แบบ “เชื่อผู้บริหาร” ไปหมดนั้นคงจะน้อยลง  นักวิเคราะห์ที่ “กล้า”  ที่จะยืนยันความเห็นแบบไม่ลำเอียงคงจะมีมากขึ้น  เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ที่กล้าบอกว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นครึ่งหนึ่งหรือ  1 ใน 3 ของราคาที่เห็น  และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นที่ลดลงมาใกล้กับการคาดการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้นผมคิดว่าจะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวนักวิเคราะห์มากขึ้นเมื่อเทียบกับนักวิเคราะห์คนอื่นที่ยังเน้นการวิเคราะห์  “ตามกระแส” และอาจจะ “ไร้ตรรกะ” ที่ถูกต้อง  ผมเองก็ไม่มั่นใจนักว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน  แต่ลึก ๆ  แล้วผมคิดว่าความไร้ตรรกะในส่วนนี้คงน้อยลงจนกว่าตลาดหุ้นจะเริ่มฟองสบู่ใหม่ในอีกหลาย ๆ  ปีข้างหน้า

นักลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหุ้นนั้น   ดูเหมือนจะอยู่ในอาการไร้ตรรกะสูงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่  หุ้นตัวเล็กและตัวกลางได้รับความนิยมอย่างสูงในการซื้อขาย  พวกเขาเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตรรกะที่ว่ามันสามารถทำเงินได้ง่าย ๆ   การที่หุ้นตัวเล็กปรับตัวขึ้นไปและมีราคาแพงมากแต่พวกเขาก็ยังเข้าไปซื้อและถือมันอยู่นั้นในอดีตสามารถทำเงินได้อย่างรวดเร็ว  หุ้นของบริษัทขนาดเล็กที่ทำ IPO เข้าตลาดมีมากและเสนอขายในราคาที่สูงแต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดี  ราคาวันแรกบางทีปรับตัวขึ้นไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือเป็นเท่าตัวนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ  คนเชื่อว่าหุ้น IPO นั้นเป็นหุ้นที่ทำเงินโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กที่อยู่ในอุตสาหกรรม “4.0”  หรือเป็นหุ้นที่มีเจ้ามือเตรียมเล่นกัน

หุ้นที่นักลงทุนส่วนบุคคลเจ็บหนักกันจริง ๆ  ในช่วงนี้นั้นว่าที่จริงกลับเป็นหุ้นที่ “ดีพอใช้”  เป็นหุ้นของบริษัทที่มีกำไรและก็มักจะเติบโตในระดับหนึ่งและสินค้าก็มีความสามารถในการแข่งขันในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในตลาดไทย  อย่างไรก็ตาม  ความนิยมในการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่ชอบหุ้นขนาดเล็กที่ราคาสามารถปรับตัวขึ้นไปได้เร็วและแรงทำให้หุ้นเหล่านี้ได้รับความสนใจสูง  นั่นส่งผลให้หุ้นเหล่านี้ปรับตัวขึ้นแรง  การที่หุ้นปรับตัวขึ้นแรงก็ส่งผลให้คนนิยมมากขึ้นไปอีก  ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไป  จากนั้นนักวิเคราะห์ก็เข้ามาให้ความเห็นและประเมิน  “ตามราคาหุ้น” ว่าหุ้นน่าซื้อและราคาเป้าหมายสูงกว่าราคาที่เห็น  นักลงทุนรายใหญ่และ “เซียนหุ้น” เข้าเก็บและส่งผลให้เกิดความมั่นใจว่านี่คือหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” คนก็แห่กันเข้าไปเก็บราคาหุ้นก็ขึ้นไปอีก  นักลงทุนสถาบันบางแห่งซึ่งรวมถึงนักลงทุนเฮดจ์ฟันด์จากต่างประเทศเริ่มสนใจและเข้ามาเล่นเกมที่ไม่ใช่แค่เซียนหุ้นเท่านั้นที่ทำได้  หุ้นก็ยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเจ้าของนั้น  ผมคิดว่าเขารู้ว่าศักยภาพของบริษัทตนเองเป็นอย่างไร  เขามีตรรกะแน่นอนก่อนเอาหุ้นของตนเองเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น  วันที่หุ้นเขาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามราคาหุ้นขึ้นราวกับติดจรวดและคนเริ่มเข้ามาถาม นักข่าวเข้ามาติดตามบริษัท  รวมถึงการที่เขากลายเป็น  “เซเล็บ” ที่เป็นเศรษฐี “หมื่นล้าน”  นั้น  ผมคิดว่าน่าจะมีส่วนต่อความคิดหรือตรรกะของเขาเกี่ยวกับหุ้นไม่น้อย  บางคนไม่คิดว่าหุ้นเขา “แพงมาก”  เขาคิดว่าหุ้นเขา “ดีมาก” ตามกระแสของหุ้น   หุ้นตกเมื่อไรเขาก็พร้อมจะซื้อ  ตรงกันข้าม  บางคนก็อาจจะคิดว่านี่เป็นโอกาส  “ออกของ”  ถ้าเขาคิดว่ามูลค่าของบริษัทไม่ได้สูงอย่างนั้น  คน “คลั่ง” หุ้นของเขาเอง  วันหนึ่งที่ความจริงออกมา  ราคาคงอยู่ไม่ได้  ดังนั้นเขาก็ขายหุ้นโดยเฉพาะให้กับสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ที่คิดว่าหุ้นของเขาเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”

ทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้น  สถานการณ์กำลัง “ย้อนกลับ”  ความตื่นเต้นเริ่มหายไปเมื่อนักลงทุนขาดทุนอย่างหนัก  ผลประกอบการและสตอรี่ของบริษัทเริ่มแสดงออกมาตาม “พื้นฐานของบริษัท”  ที่ไม่ได้เป็นซุปเปอร์สต็อกแต่เป็นบริษัทธรรมดาที่  “ดีพอใช้” ซึ่งควรที่จะมีค่า PE  อาจจะไม่เกิน 20 เท่า  นี่อาจจะเป็น “อวสานของความไร้ตรรกะในตลาดหุ้น”  ของหุ้นและนักลงทุนบางกลุ่ม  ปรากฏการณ์ต่อจากนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นเวลาที่หุ้นส่วนใหญ่หรือเกือบทุกตัวกำลังวิ่งเข้าไปหาราคาหรือค่า PE ที่เหมาะสมกับตัวเอง  อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราคงไม่ได้เห็น “หุ้นธรรมดา” ที่มีค่า PE ถึง 30-40 เท่า  และเวลาที่จะซื้อหุ้นนั้น  คนก็จะถามว่ามันแพงแค่ไหนนอกเหนือจากคุณภาพของกิจการ


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง