ในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจที่จะถูก disrupt มากที่สุดไม่แพ้กับธุรกิจธนาคารก็คือธุรกิจประกัน ซึ่งจะถูกกระทบแทบทุกส่วน ตั้งแต่การขาย การประเมินความเสี่ยง ไปจนถึงการตรวจสอบเคลม
ในมุมมองผู้บริโภคและนักลงทุน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอะไรที่น่าจับตามอง เนื่องจากมันเป็นทางเลือกในการลงทุนที่สำคัญเพื่อบริหารความเสี่ยงในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขภาพ ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ หรือแม้กระทั่งชีวิตของคนที่เรารัก
บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปดูว่า เรามีแนวโน้มที่จะเห็นผลิตภัณฑ์ประกันที่แตกต่างออกจากเดิมมากน้อยแค่ไหนในอนาคตครับ
3 เหลี่ยมทองคำแห่งเทคโนโลยี
พื้นที่ที่ธุรกิจประกันยืนอยู่กำลังจะกลายเป็น “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่ 3 เทรนด์เทคโนโลยี เข้ามาบรรจบกัน
ในเหลี่ยมแรก Internet of Things (IoT) จะทำให้เกิดการวัดพฤติกรรมของลูกค้าในมิติ ในความเร็ว และ ใน scale ที่ไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจประกันในอนาคต เพราะมันจะทำให้บริษัทประกันทราบข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนเราใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นถึงความเสี่ยงมากน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดข้อมูลขนาดยักษ์ที่เรียกกันว่า Big Data ในธุรกิจนี้อย่างแท้จริง
ในเหลี่ยมที่สอง Big data เหล่านี้จะกลายเป็นเชื้อเพลิงของปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริธึม machine learning ที่จะช่วยให้การประเมินความเสี่ยง การ segment ลูกค้า และการตรวจเคลม ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน แต่เดิมที่บริษัทประกันต้องใช้กำลังคนมหาศาล ต้อง outsource บริษัทตามเคลม ในอนาคตสามารถ streamline operation เหล่านี้ให้อยู่ในคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่อง เรียกง่ายๆ ว่าเปลี่ยนต้นทุนมหาศาลไปเป็น “ค่าไฟ” ก็ว่าได้
ในเหลี่ยมสุดท้าย Fintech (ถ้ามันบานสะพรั่งได้จริงๆ ในประเทศไทย) จะเป็นตัวเชื่อมต่อวงจรนี้ให้สมบูรณ์ไร้รอยต่อ ไร้ความรำคาญเซลส์ขายประกัน เมื่อความเสี่ยงหรือพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป อัตราเบี้ยประกันรอบนี้หรือรอบหน้าจะถูกอัพเดทและแจ้งไปยังลูกค้าทันที โดยที่ถ้าลูกค้าตั้ง set-up ไว้แล้ว บางทีอาจจะปรับยอดแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการยกหูหรือ approve อะไรใดๆ ด้วยซ้ำไป
คุ้นเคยกับประกันที่จ่ายแค่ที่ใช้
ในยุค IoT ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต จะเกิดผลิตภัณฑ์ประกันพันธุ์ใหม่ที่จะเก็บเงินแค่ตามช่วงเวลาที่ลูกค้าใช้งานจริงๆ เท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า usage-based Insurance (UBI)
ยกตัวอย่าง เช่น แทนที่เราจะถูกบังคับให้จ่ายประกันรถยนต์รายปี ในอนาคตที่บริษัทประกันสามารถทราบได้ว่ารถกำลังถูกขับที่ไหนเมื่อไหร่ จะกลายเป็นว่าเราจ่ายเงินเฉพาะทุกครั้งที่เราสตาร์ทรถและเอารถออกไปขับเท่านั้น นั่นก็แปลว่าถ้าปีนึงเราขับแค่สองหน ก็จ่ายเบี้ยสำหรับแค่สองทริปนั้นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นวิธีคิดเงินที่แฟร์กับผู้บริโภคมากกว่าเนื่องจากช่วงเวลาที่รถถูกจอดอยู่ที่บ้านนั้นไม่ควรเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ usage-based insurance ก็ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่ประกันรถยนต์เท่านั้น เมื่อ sharing economy ขยายตัวออกไปมากขึ้น ประกันสินทรัพย์จากการปล่อยเช่าคอนโด หรือ การปล่อย Airbnb ก็สามารถมี usage-based insurace ได้เช่นกัน
มุมมองของนักลงทุนและผู้บริโภค
ในมุมมองของนักลงทุน ควรเริ่มสำรวจว่าบริษัทประกันในพอร์ตตื่นตัวแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบุกเบิกด้าน IoT และการเตรียมหลังบ้านเตรียมความพร้อมทางด้าน data analytics เพราะโอกาสรอดโดยไม่มีสองสิ่งนี้ต่ำมากในโลกอนาคต เพราะท้ายสุดแล้วไส้ในจริงๆ ของธุรกิจประกันก็คือการบริหารข้อมูลความเสี่ยง
ในมุมมองของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีแบบสองต่อ ต่อแรกคือเทรนด์ของ usage-based insurance ควรจะทำให้เราจ่ายเงินน้อยลงกว่าแต่ก่อน ต่อที่สองคือจะเกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลาย อีกทั้งข้อมูลอันมหาศาลก็มีโอกาสทำให้บริษัทประกันสามารถแข่งด้วยการเบี้ยประกันปรับตัวต่ำลงได้
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ก็กำลังสร้างความวิตกในสังคม เนื่องจากมันมีความเป็นไปได้ที่กลุ่ม “คนชายขอบ” อาจถูกบริษัทประกันโพรไฟล์ด้วย digital footprint ในลักษณะที่ “ไม่แฟร์” เป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลจนตนไม่สามารถซื้อประกันได้ (ถูก cherry pick) ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อข้อมูลสุขภาพ เช่น ข้อมูลการเต้นของหัวใจจาก FitBit หรือ ข้อมูล DNA จากบริษัทที่ทำธุรกิจกับการเก็บตัวอย่าง DNA เป็นต้น
ติดตามอ่านตอนแรกที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1363
ตอนที่ 2 ที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1369
ตอนที่ 3 ที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1388
ตอนที่ 4 ที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1408
ตอนที่ 5 ที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1547
ตอนที่ 6 ที่ : https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1569